สตรีมมิ่งพลิกธุรกิจเพลง JOOX มุ่ง Entertainment Platform

ธุรกิจเพลงเป็นอีกหนึ่งที่โดนกระแสดิจิทัลดิสรัปต์เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการหารายได้ กลายเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเข้ามามีบทบาทแทนที่

ในเมืองไทยมี “JOOX” เป็นผู้ให้บริการที่มีบทบาท “กฤตธี มโนลีหกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย เปิดเผยว่า ข้อมูลรายได้ธุรกิจเพลงทั่วโลกลดลงเรื่อย ๆ ถ้าดูตัวเลขธุรกิจเพลงทั่วโลกลดลงจาก 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2542 จนต่ำกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2548 และเหลือ 1.43 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2557

เพิ่งกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2558 ที่ 1.48 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2559 อยู่ที่ 1.57 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าเจาะลึกลงไปจะพบว่าเป็นปีที่รายได้จากช่องทางดิจิทัลแซงหน้ารายได้จากการขายแผ่นซีดี โดยปี 2558 รายได้จากดิจิทัลอยู่ที่ 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ขายแผ่นซีดีได้ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยิ่งในปี 2559 รายได้จากดิจิทัลเพิ่มไปอีก 17.7% แต่ขายซีดีลดลง 7.6%

และถ้าเจาะลึกลงไปในส่วนของรายได้จากดิจิทัลปี 2559 จะพบว่มาจากคอนเทนต์สตรีมมิ่ง 59% เพิ่มจากปีก่อนหน้า 60.4% ขณะที่การดาวน์โหลดที่มีสัดส่วน 41% เป็นยอดที่ลดลงถึง 20.5% เทียบปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดดาวน์โหลดลงเรื่อย ๆ เป็นทั้งเทรนด์โลกและเอเชีย-แปซิฟิก บ่งบอกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการกดเลือกเพลงแล้วฟังเลย และพบว่า 71% เป็นการฟังผ่านสมาร์ทโฟน

ตลาดนิยมโลคอลคอนเทนต์

ในส่วนของ JOOX ให้บริการใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มีผู้ใช้รวม 64 ล้านคน เฉพาะในประเทศไทย มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น 50 ล้านครั้ง เพิ่มจาก 25 ล้านครั้งในปีก่อน มียอดกดฟังเพลง 2 พันล้านเพลง เพิ่มจาก 1.5 พันล้านเพลง และ 65% ของผู้ใช้ฟังแบบออนไลน์ มีการสร้างเพลย์ลิสต์แล้ว 6 ล้านเพลย์ลิสต์ และ 83% เปิดสาธารณะ บ่งบอกถึงพฤติกรรมที่ชอบแชร์ให้ผู้อื่นฟังด้วย

“รายได้ JOOX เพิ่มขึ้น 4 เท่า หรือ 400% แต่ยังเล็ก เพราะตลาดในไทยยังเล็ก ผู้ใช้ 70%อายุต่ำกว่า 34 ปี และ 48% อยู่ในกรุงเทพฯ แต่จำนวนผู้ใช้บริการ JOOX VIP ที่เสียค่าบริการยังน้อยต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียน รายได้มาจากค่าบริการของผู้ใช้และโฆษณาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน”

สิ่งที่ตลาดสตรีมมิ่งแข่งขันที่จะดึงดูดลูกค้าได้ในระยะยาว คือ “ความเป็นโลคอล” ไม่ใช่ค่าบริการ

“คนไทยยังฟังเพลงไทย 70-80% เป็นเพลงเกาหลีราว 7% การแข่งขันจึงเน้นที่เซอร์วิส จุดเด่น JOOX คือไม่ใช่มีแค่ค่ายใหญ่ แต่เป็นพาร์ตเนอร์กับหลายรายเพื่อให้มีราคาพิเศษในการใช้บริการ และดึงคนที่นิยมฟังเพลงฟรีให้มาใช้บริการมากขึ้น เน้นที่ความสะดวก”

เป็นมากกว่าฟังเพลง

เป้าหมายสำคัญของ JOOX คือการก้าวสู่ “entertainment platform สำหรับทุกคน” เป็นมากกว่าที่ฟังเพลง โดยปีนี้จะเพิ่มมิติของคอนเทนต์ให้มากขึ้น

นอกเหนือ O2O เชื่อมออนไลน์ไปออฟไลน์ ด้วยการจัดอีเวนต์ออฟไลน์ที่ทำเป็นปีที่ 2 แล้ว ปีนี้ก็จะไปต่างจังหวัดมากขึ้น และถ่ายทอดผ่านทีวีช่องเวิร์คพอยท์ ขยับไปสู่ “second screen” พร้อมสร้างสรรค์คอนเทนต์ในรูปแบบเสียงที่หลากหลาย เช่น ดึงรายการผี “หลอนศาสตร์ by The Shock” ของ ดีเจ.ป๋อง-กพล ทองพลับ มาอยู่บนแพลตฟอร์ม รวมถึงเป็นสื่อกลางให้ศิลปินสื่อสารกับแฟนคลับได้ ใน “Fan Space” ไลฟ์สตรีมมิ่งแบบส่วนตัวผ่าน JOOX live และสนับสนุนนักร้องหน้าใหม่ สร้างเนื้อหา exclusive แต่ที่เป็นไฮไลต์สำคัญ คือ “คาราโอเกะ” ฟีเจอร์ใหม่หลังเปิดให้บริการเมื่อ ส.ค.

วันนี้มีคนร้องคาราโอเกะเกือบ 20 ล้านครั้ง แชร์เพลงที่ร้องให้คนอื่นฟัง ให้กด like ได้ ใครมี like มากก็ได้ขึ้นชาร์จ JOOX ปัจจุบันค่าเฉลี่ยการใช้ทั้งภูมิภาคอยู่ที่ 90 นาที เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่เท่าคู่แข่งอย่าง Spotify ที่เฉลี่ยมากกว่า 120 นาที