เทค อีโคซิสเต็ม อัพสปีด “สตาร์ตอัพไทย”

วงการสตาร์ตอัพในบ้านเราคึกคักทั้งในแง่การมีสตาร์ตอัพหน้าใหม่ และการเข้ามาของกลุ่มทุนไทย-เทศ รวมถึงสตาร์ตอัพต่างชาติที่สยายปีกเข้ามาจึงเป็นทั้งโอกาส และความท้าทายในการสร้าง “อีโคซิสเต็ม” เพื่อให้ “สตาร์ตอัพไทย” เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และขึ้นไปยืนอยู่ในเวทีระดับภูมิภาคกับเขาบ้าง

นางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า ปีที่แล้วสตาร์ตอัพไทยที่ได้รับการลงทุนมีไม่ต่ำกว่า 90 ราย มีเวนเจอร์แคปิตอลกว่า 96 ราย มี angel investors 44 ราย และ accelerator 8 ราย ทำให้การระดมทุนเติบโตขึ้น 22.7% มูลค่ากว่า 105 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมการระดมทุนผ่าน ICO โดยสตาร์ตอัพที่ระดมทุนได้มากที่สุดคือ aCommerce และประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่าน ICO คือ โอมิเซะ

ธุรกิจที่ได้รับความสนใจในปี 2555-2560 คือ1.อีคอมเมิร์ซ-มาร์เก็ตเพลส 2.ฟินเทค 3.โลจิสติกส์ 4.เพย์เมนต์ และ 5.ธุรกิจอาหาร ที่น่าจับตาคือธุรกิจอาหารแต่กลุ่มฟู้ดเทคยังไม่ค่อยเห็น ซึ่งไทยควรทำฟู้ดเทค, อะกริคัลเจอร์เทค, เฮลท์เทค, เอ็นเนอร์จี้เทค

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้นอีโค่ซิสเต็มไทยต้องช่วยสตาร์ตอัพสเกลไปในภูมิภาคได้ ขณะที่สตาร์ตอัพระดับโลกเข้ามาทำตลาดในภูมิภาคนี้ด้วยจึงเป็นความท้าทายของสตาร์ตอัพไทยและองค์กรในอีโคซิสเต็มที่จะช่วยสตาร์ตอัพไทยให้มีชีวิตรอดได้ ปัจจุบัน “ซีวีซี” (corporate venture capital) มีมาก และปีนี้จะมากขึ้น

“วีซีต้องทำให้สตาร์ตอัพเห็นว่านิชมาร์เก็ตอยู่ที่ไหน สินค้าตอบโจทย์ความต้องการอย่างไร สตาร์ตอัพควรจับมือกับองค์กร อย่าก๊อบปี้คนอื่น แต่ต้องแก้ปัญหาจริง ๆ”

ส่วนเทรนด์ปีนี้ “บล็อกเชน” จะเป็นเทคโนโลยีที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายองค์กรไม่ใช่แค่แบงก์ ต่อมาคือการระดมทุนแบบ ICO จะเห็นสตาร์ตอัพระดมทุนรูปแบบนี้มากขึ้น และสุดท้ายจะมีเห็นตำแหน่ง chief disruption officer (CDO) ในองค์กร เพื่อมองหาธุรกิจที่มาแรงหรือมีแนวโน้มทำลายธุรกิจตนเองเพื่อเตรียมรับมือ

“เราเห็นสตาร์ตอัพหลายรายระดมทุนผ่าน ICO มากขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีที่ได้เงินเร็ว แต่คนที่จะระดมทุนผ่าน ICO ได้ต้องใช้บล็อกเชนในการแก้ปัญหา ถ้าสตาร์ตอัพบางรายไม่ได้มีความจำเป็นในการนำบล็อกเชนมาใช้ นักลงทุนต้องระวังให้ดี ถ้าไม่เข้าใจว่าสตาร์ตอัพนั้นทำอะไรกันแน่”

ด้าน นางสาวภรณี เจียมศักดิ์ศิริ principal บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ประเทศที่เป็นผู้นำด้านอีโคซิสเต็มในอาเซียนคือ 1.สิงคโปร์ได้เปรียบตรงมีงบประมาณ และบุคลากร 2.อินโดนีเซียได้เปรียบด้านจำนวนประชากร และ 3.ไทย มีระบบเศรษฐกิจดี และบุคลากรที่มีคุณภาพจึงมองว่ามีโอกาสเกิดยูนิคอร์น แต่จุดโฟกัสของสตาร์ตอัพส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯเป็นหลักจึงควรมองตลาดให้กว้างขึ้นมองไปถึงระดับภูมิภาคหา tech talent ที่ยังขาด

“เราเชื่อว่าการสนับสนุนที่ดีที่สุดคือช่วยให้คนที่ใกล้ถึงเส้นชัยเข้าถึงเส้นชัยจึงจะขยายความร่วมมือกับวีซีในระดับภูมิภาคและระดับโลกส่งเสริมให้สตาร์ตอัพไทยเติบโตสู่ระดับโลก”

ขณะที่ “ซินหมิง จ้าว” หัวหน้าทีมนักพัฒนา บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า สตาร์ตอัพไทยอยู่ระดับเริ่มต้นเป็นส่วนใหญ่ (pre seed และ seed) มีกลุ่มซีรีส์เอ (series A) ไม่ถึง 10% เพราะมีไม่กี่รายที่สเกลไปต่างประเทศได้ ดังนั้นเรื่องวิธีคิดจึงสำคัญมาก หลายคนมองว่าสตาร์ตอัพทำง่าย แต่ความจริงต้องพยายามและอดทนสูง และคิดให้ไกลกว่าแค่ในประเทศไทย

“ผู้บริโภคโหลดแอปพลิเคชั่นน้อยลง เป็นหนึ่งในอุปสรรคในการทำตลาดของสตาร์ตอัพ ไลน์จึงเปิดเอพีไอให้นำแพลตฟอร์มมาเชื่อมให้สตาร์ตอัพเข้าถึงลูกค้า 42 ล้านรายของไลน์ได้”

ขณะที่ “ภูญดา สวัสดิโกศล” หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด กล่าวว่า ทรูกำลังสร้าง “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” โคเวิร์กกิ้งสเปซ ทั้งร่วมกับรัฐเปิดพื้นที่แซนด์บอกซ์ สนับสนุนข้อมูลเพื่อใช้ในการร่างนโยบายที่เอื้อประโยชน์สตาร์ตอัพ

ด้าน “จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์” ประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ จำกัด กล่าวว่า แต่ละองค์กรควรร่วมมือกันในการสนับสนุนสตาร์ตอัพเพื่อลดความซ้ำซ้อน และการมีซีวีซีทำให้สตาร์ตอัพหาผู้ให้ความรู้และเงินทุนมาสนับสนุนได้ ปัญหาที่เผชิญปัจจุบันคือขาดจุดเชื่อมต่อในการเข้าถึงองค์กร และจะผลักดันให้สตาร์ตอัพไทยไปต่างประเทศ เพราะมีพาร์ตเนอร์ที่ซิลิคอน วัลเลย์ และอิสราเอล โดยจะดึงสตาร์ตอัพต่างชาติมาในไทยเพื่อเร่งการเติบโตและสร้างบุคลากร โฟกัส 1.construction tech 2.prop tech 3.living tech และ 4.health tech

“ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพพัฒนาผลงานได้กว้างขึ้น อาจทำแซนด์บอกซ์ให้ทดลองผลงาน โดยไม่ต้องติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย อยากให้ภาครัฐทำงานร่วมกับองค์กรที่สนับสนุนสตาร์ตอัพอยู่แล้วในการช่วยกันผลักดันให้ดียิ่งขึ้น”