ดีลคลื่น 2300 ดีเลย์ตามคาด 2 บ.ลูก “ทีโอที-แคท” รอคลังเคาะโอนหุ้น

ดีเลย์ตามคาด “อัยการสูงสุด” ตีกลับร่างสัญญาพันธมิตรคลื่น 2300 MHz “ทีโอที-ดีแทค” ลุ้นเจรจา-ปรับใหม่อีกรอบ แต่ยังดีได้โครงการ “เน็ตประชารัฐเฟส 2” ปลอบใจ ขณะที่การตั้ง 2 บริษัทลูกต้องรอคลังเคาะโอนทรัพย์สิน หลังบอร์ดทีโอทียอมโอนเป็นหุ้นกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท บอร์ดแคทอีกหมื่นกว่าล้านบาท

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งกลับร่างสัญญาเป็นพันธมิตรการให้บริการไร้สายบนคลื่น 2300 MHz ระหว่างบริษัทกับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ให้ปรับปรุงในหลายประเด็น จึงไม่สามารถลงนามในสัญญาพันธมิตรได้ก่อนสิ้นไตรมาส 1 ตามที่คาดไว้ก่อนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้องเลื่อนการเริ่มโครงการและเริ่มรับรู้รายได้ออกไปก่อน แต่ยังมั่นใจว่า จะลงนามในสัญญาได้แน่นอน เพราะไม่ได้ท้วงติงในเนื้อหาหลักของสัญญา แต่เป็นองค์ประกอบแวดล้อม อาทิ ในส่วนของเงินประกันขั้นต่ำหรือความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย หากมีปัจจัยภายนอกมากระทบต่อความคงอยู่ของสัญญา

“ฝั่งอัยการต้องดูแลผลประโยชน์ของภาครัฐเป็นสำคัญ แต่ถ้ารัฐได้ 100% เอกชนได้ 0% ก็ย่อมไม่มีใครเข้ามาทำด้วย ก็ต้องดูจะมีส่วนไหนผ่อนปรนได้ คาดว่าราวกลางมีนาคมนี้ ก็จะได้ข้อสรุปร่วมกันกับดีแทค เพื่อนำเรียนไปที่อัยการสูงสุดอีกรอบ โดยยังไม่ต้องนำเข้าบอร์ดทีโอที เพราะอาจจะต้องแก้ไขอีก จะเข้าบอร์ดเมื่อเป็นร่างฉบับที่ขออนุมัติให้มีการลงนามกับดีแทค”

สำหรับรายได้จากสัญญานี้ เมื่อหักรายจ่ายแล้วเบ็ดเสร็จทีโอทีจะมีรายได้ปีละ 4,500 ล้านบาท โดยกลุ่มดีแทคลงทุนสร้างโครงข่าย และทีโอทีจะเช่าเพื่อนำมาใช้กับคลื่น 2300 MHz แล้วขายคาพาซิตี้กลับให้ดีแทค 60% ที่เหลือทีโอทีจะใช้งานเอง โดย 20% ให้บริการ 4G อีก 20% ใช้ให้บริการ fixed wireless broadband หากทีโอทีขยายตลาดได้ดีก็จะมีรายได้ในส่วนที่นี้เพิ่มอีก โดยคาดว่าหลังลงนามในสัญญาแล้วจะใช้เวลา 6-7 เดือนในการวางโครงข่าย

พร้อมรับ “เน็ตประชารัฐ” เฟส 2

สำหรับโครงการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง “เน็ตประชารัฐ” เฟสแรก 24,700 หมู่บ้าน ได้ส่งมอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจรับแล้ว ส่วนเฟส 2 ดีอีกำลังจะขออนุมัติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ติดตั้งอีก 15,732 หมู่บ้าน แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งคาดว่าจะมอบหมายให้ทีโอทีเป็นผู้ดำเนินการ

ขณะเดียวกัน ดีอีจะของบประมาณจาก กสทช. เพื่อให้พื้นที่ในโครงการเน็ตประชารัฐทั้งเฟส 1 และเฟส 2 รวม 40,423 หมู่บ้าน มีอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายฟรี พร้อมมีผู้ดูแลรักษาโครงข่ายเป็นเวลา 5 ปี รวมถึงมีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะด้วยนั้น ทีโอทีก็พร้อมเข้าไปดำเนินโครงการเช่นกัน

แต่ในส่วนของโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือเน็ตชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ของ กสทช. ซึ่งทีโอทีชนะประกวดราคาติดตั้งอินเทอร์เน็ตในส่วนพื้นที่ภาคเหนือ 2 และภาคอีสาน แต่ไม่สามารถส่งมอบงานงวดแรก 15% ของเนื้องานได้ทันตาม1 มี.ค.ที่ผ่านมา ตามสัญญา นายมนต์ชัยกล่าวว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการเข้าไปชี้แจงถึงเหตุขัดข้องเพื่อให้ กสทช.พิจารณาว่าจะมีการสั่งปรับหรือไม่

1 เม.ย. 2 บริษัทลูกต้องพร้อม

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN Co) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC Co) ตามนโยบายรัฐบาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังเห็นชอบในการโอนทรัพย์สินไปสู่ 2 บริษัทลูก ด้วยจากการตีมูลค่าเป็นหุ้น หากกระทรวงการคลังเห็นชอบก็โอนทรัพย์สินได้ตามรายการที่ระบุได้ทันที ซึ่งหลักๆ คือ ไฟเบอร์ออปติก อุปกรณ์สื่อสัญญาณ จะถูกโอนไปสู่ NBN Co ส่วนอินเตอร์เนชั่นแนลเกตเวย์ ระบบเคเบิลใต้น้ำ ที่จะต้องมอบให้ NGDC Co

“ทีโอทีจะเหลือทรัพย์สินในส่วนที่ไม่ได้ส่งมอบให้ 2 บริษัทลูก อาทิ ส่วนที่เป็นการเชื่อมต่อจากโครงข่ายไปสู่ลาสต์ไมล์ที่พร้อมจะให้บริการลูกค้าตามบ้านหรือองค์กร และเหลือลูกค้าในมือ อย่างลูกค้าบรอดแบนด์ ซึ่งมีอยู่ราว 1.3 ล้านราย”

ที่สำคัญคือ ตั้งแต่ 1 เม.ย.นี้ 2 บริษัทลูกต้องพร้อมเริ่มดำเนินการได้ทันทีตามกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนด และพร้อมดูแลทรัพย์สินทั้งหมดที่รับโอนไป ซึ่งหากยังไม่พร้อม ก็ต้องส่งคนของทีโอทีเข้าไปช่วยก่อน ขณะที่แนวทางการปรับปรุงการให้บริการลูกค้าได้คล่องตัวขึ้นด้วยการตั้งบริษัท Service Co ของทีโอที กับพันธมิตรที่เป็นเอกชน ภายในปีนี้น่าจะได้เห็นโมเดลและขอบเขตธุรกิจที่ชัดเจน

สำหรับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) จะโอนไปยัง NBN Co และ NGDC Co แหล่งข่าวภายในกระทรวงดีอี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมบอร์ดทีโอที เห็นชอบให้โอนทรัพย์สินให้บริษัท NBN Co เพื่อชำระเป็นค่าหุ้นมูลค่าราว 11,630 ล้านบาท และบริษัท NGDC 3,636 ล้านบาท


ส่วนที่ประชุมบอร์ดแคท เห็นชอบให้โอนทรัพย์สินให้ NBN Co เพื่อชำระเป็นหุ้นมูลค่าราว 4,100 ล้านบาท และบริษัท NGDC มูลค่าราว 6,700 ล้านบาทโดยทีโอที และแคท ได้รายงานว่า NBN ได้เริ่มรับงานจ้างเหมาตรวจแก้เหตุเสียและบำรุงรักษาโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงของทีโอที พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วน NGDC รับงานดูแลทางเทคนิคสำหรับระบบโครงข่ายและดาต้าเซ็นเตอร์ รวมถึงการตลาดบริการดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ของแคทแล้ว