ส่องผลงานค่ายมือถือปี”60 “ทรูมูฟ เอช” ท็อปฟอร์มย้ำที่ 2

รายงานผลประกอบการปี 2560 ครบทั้ง 3 ค่ายมือถือ ไฮไลต์สำคัญน่าจะเป็นกลุ่มทรูประกาศจ่ายปันผลเป็น “เงินสด” ให้ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี (0.031 บาท/หุ้น) จากกำไรทั้งปี 2.3 พันล้านบาท รักษาสถานะมือวางอันดับสองในบริการโทรศัพท์มือถือ

ปีทอง “ทรูมูฟ เอช”

แม้ 3 ค่ายมือถือจะมีรายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย : IC) เพิ่มทุกราย แต่ “ทรูมูฟ เอช” เพิ่มจากปีก่อนมากสุดถึง 17.3% ขณะที่ “เอไอเอส” เพิ่ม 4.9% และดีแทคเพิ่มแค่ 0.2% โดย “เอไอเอส” มีรายได้ 1.28 แสนล้านบาท “ทรูมูฟ เอช” 6.79 หมื่นล้านบาท แซง “ดีแทค” ที่มี 6.48 หมื่นล้านบาท

และ “ทรูมูฟ เอช” ยังมีฐานลูกค้าเพิ่มมากสุด 10.88% ครองเบอร์ 2 ด้วยลูกค้ารวม 27.2 ล้านราย อดีตเบอร์ 2 อย่าง “ดีแทค” ติดลบ 7.5% ลูกค้ารวม 22.7 ล้านราย ฟาก “เอไอเอส” ก็ติดลบ 2.37% มีลูกค้ารวม 40.5 ล้านราย

“กิตติณัฐ ทีคะวรรณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ด้านการพาณิชย์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่กลุ่มทรู โตสูงกว่าอุตสาหกรรมมาก และผลักดันรายได้ทั้งอุตสาหกรรมเพิ่ม 5.7% สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2557

โยก “เติมเงิน” เป็น “รายเดือน”

ตลาดบริการโทรศัพท์มือถือมีลูกค้าในระบบเติมเงิน (พรีเพด) มากกว่าลูกค้าที่ใช้แบบรายเดือน (โพสต์เพด) มาตลอด แม้จะมีโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าเปลี่ยนมาใช้ “โพสต์เพด” มากขึ้น

ปีที่แล้ว “เอไอเอส” มีลูกค้าโพสต์เพดเพิ่มขึ้น 14.39% พรีเพดลบ 5.59% “ดีแทค” มีลูกค้าโพสต์เพดเพิ่มขึ้น 11.55% และพรีเพดติดลบ 12.59% ส่วน “ทรูมูฟ เอช” ที่ฐานลูกค้ารวมเป็นบวกอยู่แล้วทั้งลูกค้าโพสต์เพดเพิ่มขึ้น 13.86% ส่วนพรีเพดเป็นบวก 9.90%

การใช้ “เสียง-ข้ามแดน” เพิ่มด้วยสารพัดแอปพลิเคชั่น ทำให้รายได้จากบริการด้านเสียง (voice) ลดลงต่อเนื่อง แต่ปี 2560 “ทรูมูฟ เอช” กลับมีรายได้ voice เพิ่ม 1.9% อยู่ที่ 2.12 หมื่นล้านบาท จากฐานลูกค้าที่มากขึ้น

ขณะที่ “ดีแทค” รายได้ voice ลดถึง 32% “เอไอเอส” ที่ลดลง 16% ส่วนบริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติ ซึ่งเป็น “ขาลง” ของทุกค่ายมือถือทั่วโลก แต่ปีที่ผ่านมา “ทรูมูฟ เอช” กลับมีรายได้เพิ่มขึ้น 3.1% มาอยู่ที่4.3 พันล้านบาท โดยระบุว่ามาจากการใช้บริการของนักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่เอไอเอสมีรายได้ในส่วนนี้ลดลง 0.4% และดีแทคลดลง 0.5%

ส่วนรายได้จากการขายซิมและเครื่องของ “เอไอเอส” เพิ่มขึ้น 3.6% อยู่ที่ 2.47 หมื่นล้านบาท “ดีแทค” ลดลง 23% เหลือ 9.3 พันล้านบาท “ทรูมูฟ เอช” บันทึกรายการในหมวด “รายได้จากการขายสินค้า” อยู่ที่ 2.26 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.3%

พรีเพดจ่ายน้อยลงเรื่อย ๆ

รายได้ต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ของเอไอเอสและดีแทค เฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่การใช้จ่ายของลูกค้าพรีเพดยังลดลงต่อเนื่อง โดยฝั่งเอไอเอส ARPU เฉลี่ยที่ 256 บาท เพิ่มขึ้น 1.99% ลูกค้าโพสต์เพด ARPU 581 บาท ลดลง 3.16% พรีเพด 183 บาท ลดลง 1.61% ฟาก “ดีแทค” มี ARPU เฉลี่ย 250 บาท เพิ่มขึ้น 6.4% โดยลูกค้าโพสต์เพด ARPU 578 บาท เพิ่มขึ้น 3.9% พรีเพด 152 บาท ลดลง 4.4%

ขณะที่ “ทรูมูฟ เอช” ไม่ระบุ ARPU ในปี 2560 ทั้งที่เคยเปิดเผย โดยปี 2559 อยู่ที่ 217 บาท ปี 2558 อยู่ที่ 171 บาท และปี 2557 อยู่ที่ 130 บาท

AIS-dtac ค่าการตลาดลดฮวบ

สำหรับต้นทุนการให้บริการ (ไม่รวม IC) ซึ่งมีทั้งค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายด้านโครงข่าย ค่าเสื่อมราคา และอื่น ๆ มีเฉพาะ “เอไอเอส-ดีแทค” เท่านั้นที่เปิดเผย แม้ปีก่อนนี้ “ทรูมูฟ เอช” จะรายงานข้อมูลส่วนนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายการขายและการตลาด

โดย “เอไอเอส” ระบุว่ามีต้นทุนการให้บริการไม่รวม IC 6.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายในการเป็นพันธมิตรกับ”ทีโอที” ที่เพิ่มขึ้น ชดเชยด้วยต้นทุนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ลดลง เช่นเดียวกับ “ดีแทค” ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้น 5.38% มาอยู่ที่ 4.41 หมื่นล้านบาท

แต่ที่ลดฮวบสุด คือ “ค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาด” 2 ค่ายใหญ่ ใช้น้อยกว่าปีก่อนมาก “เอไอเอส” ลดลงถึง 38% เหลือ 9.99 พันล้านบาท ระบุว่าเพราะเน้นทำแคมเปญการตลาดกับกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนเป็นหลัก ส่วน”ดีแทค” ลดลง 32% เหลือ 4.86 พันล้านบาท จากการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้จ่าย รวมถึงการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

เปิดงบฯลงทุน-คาดการณ์รายได้

สำหรับปี 2561 นี้ “เอไอเอส” ระบุว่าเตรียมงบประมาณด้านการลงทุนเป็นเงินสด (cash CAPEX) ไว้ 35,000-38,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน โดยจะนำมาใช้ในการขยายโครงข่าย 4G และการลากสายไฟเบอร์เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน ขณะที่รายได้คาดการณ์ไว้ที่ 7-8% โดย 2% จะมาจาก บมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ

เหตุที่ปีนี้ “เอไอเอส” ใช้เงินลงทุนน้อยลงกว่าปีก่อน เพราะในปี 2560 ที่ผ่านมาได้ปูพรมขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศจนค่อนข้างสมบูรณ์มากแล้ว

ขณะที่ “กลุ่มทรู” เปิดเผย cash CAPEX ของทั้งเครือไว้ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์รายได้ว่าจะเติบโตในอัตราสองหลัก ส่วน “ดีแทค” แจ้งว่าเตรียมงบฯลงทุน 15,000-18,000 ล้านบาท และคาดการณ์รายได้ไว้ใกล้เคียงกับปี 2560