พิษเศรษฐกิจทุบตลาดพีซีทั่วโลก ยอดขายร่วง 2 ไตรมาสติด

คอมพิวเตอร์พีซี

ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ทั่วโลกในไตรมาสแรกปี 2566 มียอดรวม 55.2 ล้านเครื่อง ลดลง 30% เทียบไตรมาสแรกปี 2565 จากอุปทานส่วนเกินในตลาด และความต้องการลดลงต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการขาดแรงจูงใจซื้อ ทำให้ยอดขายพีซีลดลงเทียบปีต่อปีเป็นประวัติการณ์ถึง 2 ไตรมาสติดต่อกัน

“มิคาโกะ คิตากาวะ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ อิงค์ กล่าวว่า แรงกดดันด้านราคาของคอมพิวเตอร์พีซีทวีความรุนแรงขึ้น ระหว่างไตรมาส จากการที่ผู้ขายเสนอส่วนลดจำนวนมาก เพื่อเร่งระบายสต๊อกสินค้า และกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อ โดยผู้ขายพีซีลดราคาขายเฉลี่ย (ASPs) ลงชั่วคราวกับสินค้าที่อยู่ในตลาด แต่ราคาขายเฉลี่ยของสินค้าลอตใหม่ที่จัดส่งเข้าสู่ช่องทางจัดจำหน่ายยังเพิ่มขึ้น จากต้นทุนซัพพลายเชนที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ

“ปีนี้ราคาขายเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ระดับปานกลาง เนื่องจากผู้ขายผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับพีซีลอตใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดไปให้ผู้ใช้ปลายทาง”

ขณะที่ผู้ขายอันดับต้น ๆ ในตลาดพีซีทั่วโลกยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยในไตรมาสแรกปี 2566 เลอโนโวยังครองตำแหน่งเบอร์ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 23.3% ตามด้วยเ อชพี 21.8%, เดลล์ 17.3%, แอปเปิล 8.7%, เอซุส 7.1%, เอเซอร์ 6.44% และอื่น ๆ 15.1% โดยเลอโนโวทำสถิติยอดขายรายปีลดลงสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ขององค์กรใน 2 ไตรมาส

สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่มีความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเลอโนโว ขณะที่ในญี่ปุ่นยังเติบโตเล็กน้อยจากแรงหนุนของการซื้อพีซีในปลายปี

และถือเป็น 7 ไตรมาสติดต่อกันที่ยอดขายพีซีลดลงในระดับเลขสองหลัก 
โดย เอชพี มียอดขายในตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ลดลง 37% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ลดลงน้อยกว่าในตลาดสหรัฐ

ADVERTISMENT

เดลล์ มียอดขายลดลงแบบปีต่อปีเป็นประวัติการณ์ เป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน และเอเชีย-แปซิฟิกเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ยอดขายลดกว่า 40% จากภาคธุรกิจที่อ่อนแอ

“ความต้องการพีซีสำหรับธุรกิจใน Q1 ปีนี้ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในตลาด SMB อ่อนแอเป็นพิเศษ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยไอทียังมีความสำคัญต่อการใช้จ่ายในองค์กร เนื่องจากเข้าใจถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี”

ADVERTISMENT

“เพื่อสร้างการเติบโต แต่พีซีมักเป็นตลาดแรกที่ต้องเผชิญกับการตัดงบฯเนื่องจากองค์กรยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ได้ สวนทางกับการใช้จ่ายในส่วนเทคโนโลยีอื่น ๆ อาทิ ซอฟต์แวร์และบริการด้านไอที ที่คาดว่าจะเติบโตในปีนี้”

เมื่อเจาะลงไปในระดับภูมิภาคพบว่าไตรมาสแรกปี 2566 ตลาดพีซีสหรัฐลดลง 25.8% แม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ไม่ส่งผล กระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อยอดขายเนื่องจากผู้บริโภคเลือกใช้จ่ายเงินในด้านอื่นแทน

โดยเดลล์เป็นผู้นำในตลาดพีซีสหรัฐ มีส่วนแบ่ง 26.4% เอชพี อันดับ 2 ที่ 25.7% ในยุโรปตะวันออกกลางและแอฟริกา (EMEA) ลดลงถึง 35.9% เทียบปีที่แล้ว โดยทั้งภูมิภาคลดลงมากกว่ายอดขายทั้งหมดในสหรัฐ จากความไม่สงบทางการเมือง แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รอฟื้นตัว

เช่นกันกับตลาดเอเชีย-แปซิฟิกก็ลดลงมาก โดยจีนได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากมีสินค้าคงคลังสูง ความต้องการซื้อน้อย ขณะที่ตลาดอื่นยังอ่อนแอจากปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น ขณะที่อินเดีย และเวียดนาม ดีขึ้นเล็กน้อยจากการย้ายฐานการผลิต และการดำเนินธุรกิจออกไปนอกจีน ส่วนตลาดญี่ปุ่นลดลงระดับปานกลางที่ 9.8% เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น