เจาะลึกโซเชียลเทรนด์ 2018 ชำแหละบิ๊กดาต้าโลกออนไลน์

ถ้าพูดถึงความนิยมในการท่องโลกออนไลน์ และโซเชียลมีเดียของคนไทย ต้องเรียกว่า “ไม่แพ้ชาติใดในโลก” การได้เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กอันดับ 8 ของโลกการันตีได้ชัดเจน ในเวที Thailand Zocial Awards 2018 ได้เจาะลึกให้เห็นชัด ๆ ว่าข้อมูลเหล่านี้บอกแนวโน้มอะไรให้แบรนด์ต่าง ๆ ได้มากกว่าคนไทยชอบเล่นเน็ต รวมถึงการแนะนำเครื่องมือออนไลน์มาร์เก็ตติ้งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ

“เบบี้บูมเมอร์” ท่องออนไลน์พุ่ง

“นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร” ผู้อำนวยการฝ่ายขาย และสื่อโฆษณา ไลน์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่น line เป็นประจำ 41 ล้านราย ยอดที่เพิ่มขึ้นมาจากผู้ที่เริ่มใช้อินเทอร์เน็ต แต่ไม่ใช่เป็นกลุ่ม “เด็ก” เท่านั้น โดยกลุ่ม Gen X และ baby boomer เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมีมากขึ้นมากทำให้แบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาทำตลาดใน line มากขึ้น ด้วยความหลากหลายของกลุ่มอายุผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ ฟีเจอร์ “business connect” ที่เปิดให้ใช้งานมีอัตราการเติบโตถึง 100% เนื่องจากทำให้แบรนด์สามารถนำบริการของตนเองมาเชื่อมต่อกับ line เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้ อาทิ ธนาคารที่มีบริการแจ้งเตือนลูกค้าผ่าน line เมื่อมีการใช้บัตรเครดิต เป็นต้น

ส่วนฟีเจอร์ที่จะผลักดันมากขึ้นในปีนี้คือ “data management solutions” ที่ช่วยให้แบรนด์เก็บข้อมูลทุกอย่างที่ลูกค้าคุยกับแบรนด์ เพื่อเชื่อมต่อกับระบบลูกค้าสัมพันธ์ CRM ของแบรนด์ ทำให้ค้นหาและส่งต่อโปรโมชั่นที่ตรงใจเฉพาะบุคคลได้ดีที่สุด และยังมีฟีเจอร์ใหม่อย่าง “influencer market” และ “line idol” สำหรับให้คนดังในโลกออนไลน์ใช้ติดต่อกับแฟนคลับได้

วัยรุ่นต้องการพื้นที่ส่วนตัว

“ชนะชัย ไชยปัญญา” ตัวแทนจากทวิตเตอร์ ประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2560 การใช้งานทวิตเตอร์ทั่วโลกมีการเติบโตมากที่สุด และประเทศไทยมียอดใช้เติบโตสูงสุดในโลก โดยกลุ่มผู้ใช้ที่เพิ่มมากที่สุดคือ วัยรุ่นที่มีอายุ 16-24 ปี และคาดว่าที่วัยรุ่นหันมาใช้ทวิตเตอร์เพิ่ม เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองใช้โซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์มมากขึ้น ทำให้วัยรุ่นมองหาพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน อินฟลูเอนเซอร์ยังใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสารกับแฟนคลับ อย่าง เป๊ก ผลิตโชค, โอ๊ต ปราโมทย์ ทำให้แฟนคลับเข้ามาเล่นทวิตเตอร์เพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ใช้มีความเข้าใจวิธีการเล่นทวิตเตอร์มากขึ้น

นอกจากนี้ ภายในปีนี้ “ทวิตเตอร์” จะมีคอนเทนต์พาร์ตเนอร์ชิพกับคอนเทนต์โพรไวเดอร์ชั้นนำเข้ามาร่วมด้วย สำหรับฟีเจอร์ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับแบรนด์คือ “promoted trends” เป็นตัวช่วยเพิ่มจากปกติที่เทรนด์บนทวิตเตอร์คือ สิ่งที่คนพูดถึงมากที่สุดใน 24 ชั่วโมง ซึ่งหลายครั้งมีการ “ปั่นกระแส”

เเต่ฟีเจอร์นี้ อันดับ 1 ของเทรนด์ซื้อได้ในราคา 180,000 บาท ใช้ได้ 1 วัน และจะขายแบรนด์ละ 1 วันเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ที่ส่งโฆษณาให้ตามคีย์เวิร์ดได้ เช่น มีแฮชแท็กว่า “กิน” ระบบจะส่งโฆษณาที่เกี่ยวกับของกินมาให้ด้วย

“บันเทิง-เที่ยว-กีฬา-บิวตี้” ฮิต

ด้าน “อภิศิลป์ ตรุงกานนท์” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี เว็บไซต์พันทิป กล่าวว่าคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม ถ้าแยกเป็นห้องรวมกระทู้ที่มีคนดูหน้าฟีดมากที่สุดคือ “ห้องบางขุนพรหม” (เรื่องละคร/ดารา) และ “ห้องศุภชลาศัย” (กีฬา) ส่วนห้องที่มีคอมเมนต์มากที่สุด กว่าหมื่นคอมเมนต์ คือ “ห้องศาลาประชาคม” (เรื่องกฎหมาย/ร้องเรียน) ส่วนกระทู้ที่มีคนเข้ามาอ่านมากที่สุด 1.ห้องบลูแพลนเน็ต (ท่องเที่ยว) 2.โต๊ะเครื่องแป้ง (เครื่องสำอาง) และ 3.ห้องสวนลุม (เรื่องสุขภาพ)

ปัจจุบัน มีแบรนด์มาใช้ฟีเจอร์ “advertorial” ในการรีวิวสินค้าบนพันทิปได้รับความนิยมมาก เพราะตอนนี้คิวเต็มแทบทุกห้อง

ส่วนฟีเจอร์แนะนำในปีนี้คือ brand experts account เปิดให้แบรนด์ได้ใช้ฟรี เพื่อให้เข้ามาตอบปัญหาผู้ใช้บริการได้ แทนที่จะตอบผ่านการส่งข้อความส่วนตัวถึงกัน ซึ่งจะไม่มีประโยชน์กับคนอ่านคนอื่น ๆ การให้ข้อมูลในรูปแบบนี้จึงไม่ใช่การขายสินค้า แต่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกดีกับแบรนด์ และภายในไตรมาส 2 จะเปิดฟีเจอร์ใหม่ คือ กระทู้ branded content กระทู้โฆษณาของแบรนด์ โดยพันทิปดันกระทู้ขึ้นหน้าเว็บบอร์ดให้ 7 วัน และจะเป็นกระทู้ที่จะไม่โดนลบ

3 เทรนด์ใหม่บนยูทูบ 

“ไมเคิล จิตติวาณิชย์” หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่าปีที่ผ่านมา ยูทูบได้เห็น 3 เทรนด์ใหม่ ได้แก่ 1. การส่งคอนเทนต์ให้ผู้ชมพร้อมกันทั้งบนหน้าจอทีวี และยูทูบ อาทิ “เวิร์คพอยท์” ที่ประสบความสำเร็จมาก โดยมองว่า ช่องทางออนไลน์ไม่ใช่แค่ส่วนเสริม แต่เป็นช่องทางเพิ่มฐานผู้ชมกลุ่มใหม่ 2.คนต่างจังหวัดใช้งานยูทูบมากขึ้น 6 ใน 10 เพลงของ youtuberewind Thailand ยังเป็นเพลงลูกทุ่ง และ 3.ผู้ผลิตคอนเทนต์บนยูทูบที่มีผู้ติดตามเกิน 1 ล้านคน (Gold Channel) มีมากกว่า 90 ช่อง เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะคอนเทนต์กลุ่ม gaming, family และ beauty

“ปีนี้ยูทูบจะเพิ่มฟีเจอร์ true view for action ต่อยอดจากการเห็นโฆษณา ให้สามารถคลิกซื้อสินค้าได้ทันที ไม่ใช่สร้างการรับรู้อย่างเดียว”

ยุคนี้ต้อง live สดขายของ 

“ดวงพร พรหมอ่อน” ตัวแทนจากเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ระบุว่าโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะ “live สด” ขายของที่ยังแรงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเทรนด์โลกที่ใช้เฟซบุ๊กในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และในปีนี้จะได้เห็นการจองตั๋วหนังผ่านมาร์เก็ตเพลส พฤติกรรมของผู้ใช้ที่ใช้แทบทั้งวัน และ 70% ของผู้ใช้เลื่อนฟีดเร็วมาก ดังนั้นแบรนด์ต้องเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะสม คลิปวิดีโออย่ายาว ส่วนอินสตาแกรม ที่มาแรงคือ IG story น่าจะเป็นโอกาสให้แบรนด์เช่นกัน

ใช้ข้อมูลอย่าง “เอาใจใส่”

“ธนา เธียรอัจริยะ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า data หรือข้อมูลคือเครื่องมือที่คนเริ่มพัฒนาและนำมาใช้วิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีการรวบรวมไว้หลายรูปแบบในหลายช่องทาง ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องเร่งปรับตัวก่อนโดนทำลาย เช่น ในธุรกิจสถาบันการเงิน ปัจจุบันมี “information based lending” ที่เกิดจากสตาร์ตอัพเก็บข้อมูลจากการใช้บริการโทรคมนาคมและโซเชียลมีเดีย เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในการปล่อยกู้ และได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการวิเคราะห์ของธนาคารแบบเดิม ๆ เพราะเจาะลงไปถึงพฤติกรรม และนิสัยของผู้กู้

“ข้อมูลเป็นเพียงเครื่องนำทาง แต่สิ่งที่จำเป็นในการเก็บข้อมูลหรือนำข้อมูลมาปรับใช้ต้อง เอาใจใส่ และมี design thinking”

ทีวีออนไลน์เพิ่มโอกาสบุก ตปท.

“ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ กล่าวว่า เมื่อมีข้อมูลต้องตั้งคำถามก่อนเสมอว่าข้อมูลถูกไหมอย่าให้กลายเป็นว่านำข้อมูลมาสนับสนุนตัวเอง ไม่ได้ใช้เพื่อสร้างสิ่งใหม่

“ทุกคนบอกว่าออนไลน์จะมาฆ่าทีวี จึงเริ่มถ่ายทอดสดคอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ตพร้อมกับทีวีเพื่อพิสูจน์ ซึ่งทุกคนก็เห็นความสำเร็จแล้ว ทั้งเฟซบุ๊ก, ยูทูบ และกูเกิลเขาทำวิจัยกรณีเวิร์คพอยท์ถ่ายทอดให้คนทั่วโลกอ่าน ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า ทำแบบนี้คือทางออก”


อีกทั้งยังทำให้เห็นข้อมูลอีกว่า เมื่อนำคอนเทนต์ขึ้นยูทูบ 92% คนดูเป็นคนไทย แต่มีรายได้จากไทยแค่ 62% ที่เหลือมาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าจะกลายเป็นช่องทางใหม่ในการหารายได้ที่ดีกว่าการบินเอาคอนเทนต์ไปขายต่างประเทศ