ช่องทีวีดิจิทัลเฮ หลัง “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” พลิกล็อกชนะคดี ศาลปกครองชี้มีสิทธิคืนใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล เหตุ “กสทช.” ขยายโครงข่ายและแจกคูปองส่วนลดล่าช้า ฟากเลขาธิการ กสทช. ยอมรับคำสั่งศาลเปิดทางช่องทีวีคืนใบอนุญาตได้ พร้อมเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ต่อ วงการคาดแห่คืนใบอนุญาตกันเพียบ
รายงานข่าวจากศาลปกครองแจ้งว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 เวลา 13.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 652/2559 ระหว่าง บริษัท ไทยทีวี จำกัด ของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “ติ๋ม ทีวีพูล” ผู้ชนะประมูลช่องทีวีดิจิทัล ได้แก่ ช่องไทยทีวี และช่อง MVTV Family (Loca) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2 ช่องทีวีดิจิทัลของ กสทช. เนื่องจากบริษัทได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาไปก่อนหน้าแล้ว
โดยศาลปกครองกลางพิพากษาว่า บริษัท ไทยทีวี มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เนื่องจากตามประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิทัลและแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555-2559 ระบุว่า กสทช.มีหน้าที่ในการขยายโครงข่ายส่งสัญญาณทีวีดิจิทัล และปฏิบัติตามแผนแม่บทเพื่อให้การเปลี่ยนสู่ทีวีดิจิทัลเป็นไปอย่างราบรื่น ให้มีการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปรากฏว่า กสทช.ปฏิบัติงานล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานที่ได้ประกาศเชิญชวนไว้หลายกรณี ทั้งการแจกคูปองส่วนลดสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลให้ประชาชนที่ล่าช้ากว่ากำหนดไปถึง 6 เดือน การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนไม่สนใจที่จะเปลี่ยนสู่ระบบทีวีดิจิทัลเท่าที่ควร รวมถึงการขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัลไม่ครอบคลุมตามแผน
ซึ่งมีผลต่อความครอบคลุมพื้นที่ออกอากาศ จำนวนการรับชม และเงินค่าโฆษณาที่บริษัทจะได้ ทำให้ต้องแบกรับค่าดำเนินการ ค่าประมูล ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ โดยแม้จะมีการเรียกประชุมระหว่างผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกับ กสทช. แต่ก็ไม่ได้มีการแก้ไข
“เมื่อขาดสาระสำคัญที่ กสทช.ไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ บริษัทไทยทีวี ผู้ฟ้องย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ดังนั้นการที่บริษัท มีหนังสือลงวันที่ 25 พ.ค. 2558 ขอยกเลิกใบอนุญาตและเลิกประกอบกิจการทั้ง 2 ช่องรายการ ทั้งได้ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยการแจ้งกับผู้ชมผ่านตัววิ่งที่หน้าจอทีวีเป็นเวลา 30 วัน ตามประกาศของ กสทช. การขอยกเลิกสัญญาจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
ส่วนเงินประมูลช่องที่บริษัทชนะประมูลไปด้วยราคา 1,967 ล้านบาท เมื่อมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ระบุให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายกลับคืนสู่สภาพเดิม บริษัทจึงมีหน้าที่คืนคลื่นความถี่ให้ กสทช. และจ่ายเงินค่าใช้คลื่นความถี่ ซึ่งบริษัทได้จ่ายไปแล้ว 1 งวด เป็นเงิน 365.51 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่วนงวดที่ 2 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ชำระแทนตามหนังสือค้ำประกันหลัง กสทช.ทวงถามพร้อมเบี้ยปรับ เป็นเงิน 288.472 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทยังประกอบกิจการจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าไลเซนส์
ขณะที่ กสทช.มีหน้าที่ต้องคืนหนังสือค้ำประกันที่บริษัทวางไว้สำหรับเงินประมูลงวดที่ 3 เป็นต้นไป เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยให้คืนภายใน 60 วัน นับจากคดีถึงที่สุด
ส่วนค่าเสียหายที่บริษัทเรียกร้องให้จ่ายค่าเสียหาย 713,828,282.94 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมถึงชดใช้ค่าเสียหายระหว่างที่ยังมีการปฏิบัติตามสัญญา ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2558-31 ต.ค. 2558 รวมเป็นเงิน 36,053,165.78 บาท ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่ใช่เหตุหลักที่ทำให้บริษัทขาดทุนแต่เป็นธรรมดาของการประกอบธุรกิจที่มีการแข่งขันของจำนวนสถานีโทรทัศน์ที่มากขึ้นและผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจาก กสทช.ได้
สำหรับคำขออื่น ๆ ที่บริษัทขอ อาทิ ให้ศาลสั่งให้การประมูลทีวีดิจิทัลเป็นโมฆะทั้งหมด ศาลพิเคราะห์แล้วให้ยกคำขอทั้งหมด
“กสทช.-เจ๊ติ๋ม” อุทธรณ์ต่อ
ด้านนายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า จะใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาภายใน 30 วัน เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ต้องชี้แจงเพิ่มต่อศาล อาทิ การอ้างถึงโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ที่ยังออกอากาศไม่ได้นั้น แต่ข้อเท็จจริงคือ 2 ช่องทีวีของบริษัทเช่าใช้โครงข่ายของไทยพีบีเอส รวมถึงเงินประมูลช่องที่เป็นก้อนเดียวกันทั้งหมด เพียงแต่ให้ยืดเวลาจ่ายเป็นงวด ๆ
ขณะที่นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท ไทยทีวี จำกัด เปิดเผยว่า จะยื่นอุทธรณ์เช่นกัน เพราะเชื่อว่ายังมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยค่าเสียหายจาก กสทช. ตามที่ได้ระบุในคำร้องต่อศาลไปก่อนหน้านี้ ส่วนประเด็นอื่น ๆ ในคำพิพากษาถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีมาก โดยในส่วนของแบงก์การันตีบริษัทจะได้คืนราว 1,750 ล้านบาท และต่อจากนี้จะเดินสายไปให้ความรู้กับสาธารณะเกี่ยวกับการรับมือเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ส่วนธุรกิจจากนี้จะมุ่งไปสู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเต็มรูปแบบ โดยมีบรรดาลูก ๆ เป็นแกนนำสำคัญ
เลขาฯกสทช.ชี้ศาลปลดล็อก
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ต้องขอบคุณศาลปกครองที่ชี้ทางออกให้ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตได้ ถือเป็นทางออกที่ดี เพราะคนอยากเลิกทำไมต้องจ่ายให้ครบ แต่ที่ผ่านมา กสทช.ไม่กล้าตัดสินใจ แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องอุทธรณ์
“คำพิพากษาเป็นการผ่าทางตัน แต่ที่ยังติดใจคือเรื่อง Mux ที่ล่าช้า เพราะไม่ใช่หน้าที่ กสทช.เอง แต่เป็นของผู้ที่ได้รับใบอนุญาต Mux ส่วนเรื่องที่ว่าไม่ขยาย Mux ก่อนประมูล คนที่เข้าประมูลรู้อยู่แล้วว่าจะทำคู่ขนานกันไป อย่างไรก็ตาม เรื่องอุทธรณ์ ถ้าบอร์ดให้อุทธรณ์ แบงก์การันตีก็ยังไม่ต้องคืน”
รอลุ้น ม.44 อีกยก
ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยใช้มาตรา 44 นายฐากรกล่าวว่า เป็นคนละส่วน เท่าที่ทราบภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้จะมีออกมา และมีเรื่องขอคืนช่องอยู่ด้วย ซึ่งเมื่อมีคำสั่งศาลออกมาก็อาจไม่ต้องใส่เรื่องนี้ แต่จะได้ตามที่ผู้ประกอบการ เช่น ขอพักการชำระเงินประมูล 3 ปี หรือ 5 ปี รวมถึงการช่วยออกค่าเช่าโครงข่าย (Mux) ทั้งหมดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ คสช.จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม เพราะเดิม กสทช. สนับสนุนให้แล้ว 50% เพราะการขอใช้สิทธิการขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลตามที่ คสช.เคยออกมาตรา 44 มาช่วยเหลือครั้งหนึ่งแล้วโดยมีการคิดดอกเบี้ยเพิ่มนั้น ปรากฏว่าก็ยังมีหลายช่องที่ไม่ได้ใช้สิทธิ อาทิ ช่อง 7HD
เช่นเดียวกับการพิจารณาข้อเสนอของผู้ชนะประมูลคลื่น 900 MHz อย่างเอไอเอสและทรูมูฟ เอช ที่ยื่นขอให้ คสช. พิจารณาขยายเวลาการจ่ายเงินประมูลงวดที่ 4 ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2562 โดย ทรูมูฟ เอช ต้องจ่าย 60,218 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 4,215.26 ล้านบาท ส่วน AWN ต้องจ่าย 59,574 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 4,170.18 ล้านบาท ซึ่งเอกชนยื่นขอยืดจ่ายเป็น 7 งวด แทน 6 งวดแรกชำระงวดละ 8,040 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 7 ชำระทั้งหมด
ช่องทีวีเฮ
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องเอ็มคอท 30 เอชดี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีศาลฯมีคำสั่งให้ไทยทีวีชนะคดีโดยสามารถคืนไลเซนส์ช่องทีวีดิจิทัลได้นั้น อาจจะต้องรอดูท่าทีการยืนอุทรณ์ของ กสทช.อีกครั้งด้วย แต่เคสดังกล่าวถือเป็นกรณีศึกษาในการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัลและเป็นสัญญาณที่ดีของผู้ประกอบการทีวีรายอื่น ๆ ด้วย เพราะที่ผ่านมาก็มีกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ยื่นฟ้องต่อ กสทช.กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่การเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลล่าช้า ซึ่งส่วนนี้อาจจะต้องพิจาณาเป็นกรณี ๆ ไป
“คดีของไทยทีวีถือว่าคาราคาซังมาถึง 3 ปี ซึ่งการชนะคดีครั้งนี้ถือว่าเป็นกรณีศึกษาสำหรับช่องต่าง ๆ ส่วนจะเปิดทางให้ช่องอื่น ๆ สามารถคืนช่องได้หรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่อง เพราะคงต้องพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัยด้วย”
อย่างไรก็ตาม จากนี้สิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลและ กสทช.ควรจะต้องทบทวนมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลใหม่ ซึ่งยังมีหลาย ๆ อย่างที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหากมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ชัดเจน คาดว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจทีวีดิจิทัลอย่างมาก นั่นหมายถึงผู้ประกอบการจะมีความคล่องตัวมากขึ้นในการลงทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาคอนเทนต์ให้มีคุณภาพ เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจทีวี เพราะถ้ามีคอนเทนต์ดี เม็ดเงินโฆษณาก็จะเติบโตด้วยเช่นกัน
นายนวมินทร์ ประสพเนตร ผู้ช่วยประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องโมโน 29 กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีไทยทีวีถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกให้แก่ช่องอื่น ๆ ที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ให้สามารถคืนช่องได้ คาดว่าอนาคตภาพรวมธุรกิจทีวีดิจิทัลจะกลับเข้าสู่กลไกตลาดที่ดีมานด์พอดีกับซัพพลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะช่องเล็กที่มีเรตติ้งท้ายตารางมีความต้องการจะคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลหลายราย เช่น วอยซ์ทีวี ไบรท์ทีวี เป็นต้น รวมถึงรายที่มีหลายช่อง ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 เนชั่น จีเอ็มเอ็ม อสมท หลังจากไทยทีวีชนะคดี ก็เป็นทางออกที่ดีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะตัดสินใจใหม่ ว่าจะดำเนินธุรกิจต่อ หรือยุติการดำเนินธุรกิจลงในอนาคต
แหล่งข่าวในธุรกิจทีวีดิจิทัล มองว่า คำพิพากษาที่ออกมาจะทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขอคืนใบอนุญาต เนื่องจากมีต้นทุนดำเนินการที่สูงมาก
เคแบงก์ชี้เจ๊ติ๋มไม่ใช่บรรทัดฐาน
นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่ศาลปกครองกลาง ให้บริษัทไทยทีวี ของเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ชนะคดี มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับ กสทช.ได้ เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเอามาเป็นบรรทัดฐานกับทีวีดิจิทัลรายอื่น ๆ ไม่ได้ ในการที่จะคืนไลเซนส์กับ กสทช.เพราะการดำเนินงานของแต่ละช่อง จึงประสบปัญหาที่ไม่เหมือนกัน
“ไม่ใช่ว่าพอธุรกิจมีปัญหาแล้วจะสามารถไลเซนส์ได้ ซึ่งต้องพิจารณาเหตุผลหลัก ๆ แต่ละกรณี ๆ กันไป นอกจากนี้การคืนไลเซนส์เป็นเรื่องหนึ่ง ขณะที่การชำระหนี้คืนแบงก์ก็เป็นอีกส่วน”
นายสุวัฒน์กล่าวและว่า
สำหรับธนาคารกสิกรไทยปล่อยกู้ให้กับทีวีดิจิทัล 5 ไลเซนส์ จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์, บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป และ บมจ.อาร์เอส เป็นวงเงินสินเชื่อรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันคุณภาพสินเชื่อยังเป็นสินเชื่อดี การชำระหนี้ปกติทุกราย
ในอนาคต ธนาคารอาจต้องทบทวนการปล่อยกู้ในกลุ่มทีวีดิจิทัลมากขึ้น และใช้องค์ประกอบหลายด้านมาพิจารณาปล่อยกู้เพิ่ม
BBL ลุ้นรับอานิสงส์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ ถือเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กลุ่มทีวีดิจิทัลมากที่สุดกว่า 10 ราย รวมทั้งในส่วนของบริษัทไทยทีวี หรือเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล โดยธนาคารได้ออกหนังสือค้ำประกัน หรือแบงก์การันตีให้ไทยทีวีวงเงินเกือบ 1,700 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพระบุว่า ได้มีการตั้งสำรองหนี้ก้อนดังกล่าวเต็ม 100% ไปแล้ว พร้อมยืนยันว่าสินทรัพย์ที่เจ๊ติ๋มใช้ค้ำประกันนั้นถือว่าครอบคลุมเต็มวงเงินค้ำประกัน ดังนั้นหากถึงที่สุดไทยทีวีชนะคดี ก็จะเป็นผลบวกต่อธนาคารกรุงเทพ ในกรณีที่จะรับรู้รายได้พิเศษจากการตั้งสำรองกลับมาเป็นกำไรของธนาคารได้