ผ่าเส้นทางขรุขระสตาร์ตอัพ ในมุมมอง “อรรถพงศ์ ลิมศุภนาค”

ในยุคที่สตาร์ตอัพกำลังเฟื่องฟู กลายเป็นเป้าหมายของคนรุ่นใหม่ แต่เส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ “ประชาชาติธุรกิจ” พาผ่าประสบการณ์ของ “อรรถพงศ์ ลิมศุภนาค” ผู้ก่อตั้ง Drivebot บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เช็กรถยนต์ผ่านสมาร์ทโฟน ที่เคยผ่านทั้งโครงการ dtacAccelerate ปีที่ 2 เคยเปิดโครงการระดมเงินทุนผ่านเว็บไซต์ Indiegogo แค่ 6 วันก็ทำยอดทะลุเป้า $35,000

Q : ไม่ได้ทำ Drivebot แล้ว

แยกออกมาทำบริษัทใหม่ชื่อ แฮกซ์เตอร์ (haxter) โดยทำงานกับเอ็นเตอร์ไพรส์เพื่อให้เอ็นเตอร์ไพรส์อินโนเวตได้ด้วยความเร็วของสตาร์ตอัพ

Q : ทำไมถึงเปลี่ยน

ตั้งแต่เด็กชอบเขียนโปรแกรม อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ตั้งแต่เรียนวิศวะ คอมพิวเตอร์ ที่จุฬาฯ ปี 3 มีโครงการที่จะส่งนักเรียนไปเรียนแลกเปลี่ยนที่สแตมฟอร์ด 1 เดือน บรรยากาศที่นั่นไฮเอ็นเนอร์จี้ มีโอกาสเยอะ มีคนพร้อมให้เงิน จึงตั้งใจว่ากลับมาเป็นสตาร์ตอัพ พอกลับมาก็เริ่มรวมกลุ่มกับเพื่อนทำโปรเจ็กต์ ช่วงนั้นเป็นปี 2012 สตาร์ตอัพไทยเกิดพอดี ก็ไปประกวดบ้าง ได้เข้ารอบลึก ๆ แต่เขาบอกว่าไอเดียเก่าไปแล้ว ก็เคว้ง ก็เลยไปหาบริษัทที่จะรับทั้งทีม 5 คนเข้าทำงาน สุดท้ายได้ที่บิวท์ของพี่โบ๊ท (ไผท ผดุงถิ่น) เราเดินไปบอกว่า อยากเรียนรู้ประสบการณ์กับพี่bแต่ขออยู่แค่ 1 ปี พี่เขาก็รับ อยู่ในตำแหน่งซอฟต์แวร์เอ็นจิเนียร์ เพราะเด็ก 4-5 คนมาทำสตาร์ตอัพเองไม่น่ารอด ดีแทค เอ็กเซอเลอเรท ปี 2 เปิด เลยส่ง Drivebot เข้าโครงการ ตอนนั้นเราได้เงินมา 5 แสนบาท

Q : ได้ประสบการณ์อะไรบ้าง

ทำอยู่ปีหนึ่ง เรายังเด็กเจอปัญหาเยอะ ตอนนั้นตัวเครื่องผลิตที่จีนแล้ว เราเขียนซอฟต์แวร์ให้ สิ่งที่พบคือ เราคุมคอร์เทคโนโลยีไม่ได้ จะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ก็ทำไม่ได้ คุมราคาไม่ได้ ขณะที่เทคโนโลยีมีใหม่เรื่อย ๆ เรื่องการเงิน เรื่องระดมทุน ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับเราหมด ได้มา 4 ล้านบาท เป็นบทเรียนเลยว่า มันเป็นเงินร้อน เป็นเงินที่มาพร้อมความคาดหวัง ทุกอย่างต้องรีบทำให้เห็นผล พอทำก็ได้รู้ว่า เราคิดต้นทุนผิดหมด ระหว่างทางมันมีต้นทุนโน่นนี่อีกเยอะที่ไม่รู้ แต่โชคดีที่เงินที่ได้มายังเกิน ก็ทำจนงานออกมาได้ ปรากฏว่าพอออกมาก็ติดตรุษจีน โรงงานหยุดไปเดือนหนึ่งก็ไม่รู้อีก

พอผลิตออกมาก็ได้รู้ว่า จะสเกลได้ต้องมีดิสทริบิวเตอร์ให้มาซื้อลอตใหญ่ ๆ ได้ แล้วจะทำของผ่านดิสทริบิวเตอร์ ถ้าของราคา 100 บาท ต้นทุนต้องไม่เกิน 12 บาท พอของที่ผลิตไว้จะหมด ก็ต้องตัดสินใจว่าจะสั่งต่อไหม เงินเป็นล้าน ๆ จะเอามาจากไหน และจะอัพเวอร์ชั่นใหม่ไหม เราก็อยากทำเวอร์ชั่นใหม่ เพราะปรากฏว่าฟีเจอร์เช็กรถที่เราคิดว่าเป็นอันดับ 1 ที่คนใช้เยอะ กลายเป็นอันดับ 3 ที่คนใช้เยอะจริง ๆ คือ เช็กพฤติกรรมการใช้รถ

แต่ปัญหาคือ ถ้าจะทำก็ต้องทำโมเดลใหม่ขึ้นมา อีกอย่าง VC จะไม่ค่อยสนใจลงทุนโมเดลธุรกิจแบบซื้อมาขายไป จะเน้นที่ซับสคริปชั่น หรือดาต้า ก็พยายามไปคุยกับพวกบริษัทประกัน สุดท้ายตกลงกันไม่ได้ เลยเลิกทำ Drivebot และคนในทีมเองก็เริ่มมีความสนใจต่างกัน

Q : เลยแยกตัวออกมาต่างหาก

มาทำ haxter ระดมทุนเพื่อโปรเจ็กต์ใหม่ ซึ่งค่อนข้างยาก ผมมาจากซอฟต์แวร์เพียว ๆ และเริ่มรู้สึกว่าฮาร์ดแวร์ไม่สนุกเลย เลยพับไว้และมารับงานดีไซน์ตามโจทย์ ก็เป๋ไปพัก กลายเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์ทำรายได้หลายล้านอยู่

หลัง ๆ มีกระแสคอร์ปอเรตอินโนเวชั่นที่อยากทำแบบสตาร์ตอัพ มีพี่ชวนไปเป็นโปรเจ็กต์แมเนเจอร์ของบริษัทอสังหาฯ ไปทำจึงเข้าใจว่ามันมีธรรมชาติที่ต่างกันขององค์กรใหญ่กับสตาร์ตอัพ คือในฝั่งธุรกิจจะมีโจทย์ที่อยากได้

แต่ปัญหาคือมักเละ เพราะคนทำไม่เคยทำซอฟต์แวร์ แต่ต้องไปคุยกับนักพัฒนา

Q : haxter เข้าไปเป็นตัวกลาง

ต้องบอกว่ายังไม่แน่ใจเพราะเป็นไอเดีย คือเราจะช่วยเจเนอเรตไอเดีย บางโครงการก็อาจทำเอง บางโครงการก็เข้าไปช่วยหาทีมให้ แต่เชื่อว่าแย่สุดคือกลายเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์ทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าเวิร์ก ก็ช่วยวางแผนตั้งแต่แรกจนถึงระยะยาวให้คอร์ปอเรต

Q : ที่ผ่านมาถือว่าล้มเหลวไหม

ตั้งแต่ทำ Drivebot จนมาถึงตอนนี้ 4 ปี ทำไปเกือบ 10 โปรเจ็กต์ มีรายได้เป็นล้าน ไม่ได้มองว่ามันลุ่ม ๆ ดอน ๆ มองว่าเป็นจังหวะชีวิต ก็ได้เรียนรู้ระหว่างทาง ไม่ได้รู้สึกว่าเดินผิด รู้สึกถูกมาก ๆ ด้วย ดีใจที่อยู่สายเทคโนโลยี และทักษะที่ได้ส่งเสริมเรา และเชื่อว่าในอนาคตก็จะส่งเสริมต่อไป

ผมมองว่าทำอะไรก็ทำไปเถอะ ให้มาลองเจ็บเลย เพียงแต่ทำให้เจ็บน้อยสุด อย่างผมก็ไม่ได้ใช้เงินตัวเอง กระจายความเสี่ยง หารูปแบบที่เสี่ยงน้อยที่สุด และเมื่อพลาดก็ลุกให้เร็ว คือผมอยากเป็นคนทำ มีผลงานให้คนใช้ก็ภูมิใจแล้ว โดยตั้งใจว่าอายุ 30 ปี ต้องมีเงินร้อยล้าน ยังอีกไกล แต่ก็มั่นใจว่าได้ แต่ถ้าจะรวยก็ต้องรวยด้วยโปรดักต์ตัวเอง ไม่ใช่ปั่นมันนี่เกม ผมมองว่าเงินที่มาพร้อมกับความคาดหวังมันร้อน