Social Media Movement

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ปลาย ก.พ.ที่ผ่านมา มีงานสำคัญของคนโซเชียล คือ Thailand Zocial Awards 2018 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 โดย “โธธ โซเชียล และโอบีว็อค” ได้วิเคราะห์ข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยในปี 2017 วันนี้ผมขอพูดถึงตัวเลขต่าง ๆ ของโซเชียลมีเดียที่น่าสนใจมาก 3 แพลตฟอร์ม คือ Facebook, Instagram และ Twitter

โดย Facebook ในไทยมีผู้ใช้ 49 ล้านคน มากกว่าปีที่แล้ว 2 ล้านคน เติบโตขึ้น 4% แต่เป็นการเติบโตที่ลดลงจากปีก่อนเรียกว่าเกือบเข้าใกล้ภาวะอิ่มตัว

ขณะที่ Instagram มีผู้ใช้งาน13.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง คือ 24% ส่วน Twitter มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านคนแล้ว โตสูงขึ้นถึง 33% และแต่ละเดือนมีมากถึง 5-7 ล้านคน ถือว่าเยอะมาก เหตุผลหนึ่งน่าจะมาจาก การที่ผู้ใหญ่ใช้ Facebook มากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกถูกรุกราน จึงย้ายมาทวิตเตอร์

ล่าสุด CEO ทวิตเตอร์ Jack Dorsey ประกาศผ่าน Periscope ของทวิตเตอร์ว่า เริ่มกังวลว่าเมื่อคนเริ่มหันมาใช้ทวิตเตอร์มากขึ้น แต่ไม่มีการยืนยันตัวตน ต่อไปจะเริ่มให้ยืนยันตัวตน เพื่อให้สังคมในทวิตเตอร์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

สำหรับจำนวนประชากรไทยที่ใช้ Facebook เลื่อนอันดับขึ้นมาอยู่อันดับ 8 ส่วนประเทศที่ใช้ Facebook อันดับ 1 แซงหน้าสหรัฐขึ้นมา คือ อินเดีย

ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือประเทศในอาเซียน ติดอันดับ top 10 ถึง 4 ประเทศ นอกจากไทยแล้ว ยังมีอินโดนีเซียอยู่อันดับ 3 ฟิลิปปินส์อันดับ 6 และเวียดนามที่ 7 จะเห็นได้ว่าคนอาเซียนใช้โซเชียลมีเดียติดอันดับโลก สอดคล้องกับข้อมูลที่ผมเพิ่งได้ร่วมงาน eTail Asia 2018 ที่สิงคโปร์ ที่ไปพูดเรื่อง social commerce เกี่ยวกับการที่คนไทยมีรูปแบบการซื้อของบนโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ Instagram หรือใช้ Facebook Live ในการขายของ ซึ่งผู้ร่วมสัมมนาจากอาเซียนด้วยกันอย่างมาเลเซีย หรือเวียดนาม ต่างมีข้อมูลที่เหมือนกัน

ส่วนจำนวนผู้ใช้ Facebook Messenger อันดับหนึ่งคือ อเมริกา ไทยอยู่อันดับ 7 มีคนใช้งาน 26 ล้านคน

ช่วงเวลาที่คนไทยนิยมใช้ Facebook มากที่สุด คือ 20.00-21.00 น. และนิยมกด like 89% comment 3% และ share 5%

ส่วน Instagram ตอนนี้เป็นเครื่องมือที่ดีมากที่จะขายของหรือทำธุรกิจกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น และโดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง ในไทยมีผู้ใช้อันดับ 14 ของโลก ช่วงเวลาใช้ มากที่สุดในวันธรรมดา คือราว ๆ หนึ่งทุ่ม และเสาร์-อาทิตย์จะใช้ตลอดทั้งวัน ซึ่งน่าจะมาจากฐานผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง กว่าจะโพสต์รูปได้ต้องใช้เวลาปรับแต่งบนแอปพลิเคชั่นพอสมควร

และเดี๋ยวนี้มีอีกฟีเจอร์ที่นิยมใช้ คือ story ที่เริ่มมีแบรนด์หันมาใช้ story ในการทำโฆษณา และสร้างยอดขายได้ดีมากด้วย ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย

ฝั่ง Twitter ช่วงเวลาที่คนไทยใช้สูงสุด คือ 20.00-22.00 น. คนที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นกลุ่มคนนอนดึก กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่รวมกันเป็นชุมชนที่ชอบเหมือนกัน

ส่วนกรณี Facebook ปรับอัลกอริทึ่ม พบว่า การเข้าถึงจะลดน้อยลงถึง 27% ซึ่งถือว่าค่อนข้างกระทบมากทีเดียว

คำถามที่ว่าแบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจควรเข้ามาใช้ทวิตเตอร์หรือไม่ จากข้อมูลปี 2016 และ 2017 มี active user เพิ่มขึ้น 83% และมีแบรนด์ที่ใช้ Twitter มีเพิ่มถึง 124% โดยเฉพาะกับธุรกิจที่สินค้ามีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น และมีบางกลุ่มผู้ใหญ่ที่ใช้ Twitter ในการเสพข่าวแบบ realtime ซึ่ง Twitter เองดูจะเหมาะมากแล้ว

หากว่าใช้ Facebook คอนเทนต์ที่เหมาะสุด พบว่าการโพสต์แบบ video ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่าหลายคนไม่เปิดเสียง ดังนั้นวิดีโอบน Facebook หลายตัวจะมีซับไตเติล มีตัวหนังสือวิ่งด้วย มีข้อมูลว่าคนใช้เวลาเลื่อนฟีดบน Fa-cebook ใช้เวลา 1 ฟีดแค่ 1.2 วินาที ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนหยุดดูให้ได้ การทำวิดีโอมาร์เก็ตติ้งก็เช่นกัน ต้องทำให้คนหยุดดูให้ได้ในเวลาเท่ากันนี้

ทั้งหมดคือข้อมูลจากส่วนหนึ่งในงาน Thailand Zocial Awards

นอกจากนั้น ยังเชิญ hot social media ในไทยมา ทั้ง Pantip, Twitter, Line, Facebook และ YouTube มาคุยกันปีนี้จะมีอะไรใหม่ ๆ บ้าง เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยค้นหาด้วยคำว่า “Thailand Zocial Awards” จะมีสรุปข้อมูลหลายอย่างที่จำเป็นสำหรับคนที่ต้องการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย