Techsauce ผนึกพันธมิตร ปั้น “ยูนิคอร์น” หน้าใหม่

Techsauce ผนึกพันธมิตร ปั้น

“Techsauce” ผนึกกำลังพันธมิตร จัดงาน “Techsauce Global Summit 2023” หวังปั้นไทยเป็น “Digital Gateway” ดึงเม็ดเงินลงทุนแจ้งเกิด “ยูนิคอร์น” ให้ประเทศไทย

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 นางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า เทคซอส (Techsauce) เกิดจากความตั้งใจที่จะผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ก้าวสู่การเป็น “Global Brand” และสร้างการเติบโตในภาพรวม เพราะไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน เช่น ขนาดตลาด (Market Size) เล็กกว่าประเทศอื่น การระดมทุนไม่ถึงเป้า และการสร้างทาเลนต์ในองค์กร เป็นต้น

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ

ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยของ “Tech in Asia” พบว่า เม็ดเงินการลงทุนในประเทศไทยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีเพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ห่างไกลจากอันดับหนึ่ง อย่างสิงคโปร์ที่มีเม็ดเงินการลงทุนถึง 5,800 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ทุกวันนี้ เวลาเราดูจํานวน ยูนิคอร์น (สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ของไทย ถือว่ามีปริมาณน้อยกว่าต่างประเทศมาก ไม่ต้องเทียบที่ไหนไกล อย่างอินโดนีเซีย กับสิงคโปร์ เขาก็มียูนิคอร์นเป็นหลักสิบราย แต่ไทยมีน้อยมาก เราจึงมีความตั้งใจที่อยากจะช่วยขับเคลื่อนให้บ้านเรามียูนิคอร์นเพิ่มมากขึ้น”

จากความตั้งใจนี้ ทำให้บริษัทเดินหน้าจัดงานประชุมด้านเทคโนโลยี (Tech Conference) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ล่าสุดได้ร่วมมือกับพันธมิตรบริษัทชั้นนำจัดงาน “Techsauce Global Summit 2023” ในวันที่ 16-17 ส.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และผลักดันไทยสู่การเป็น “Digital Gateway” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการต่อยอดเป้าหมายการสร้าง “ยูนิคอร์น” หน้าใหม่ในประเทศด้วย

ด้านนายอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer เอสซีจี กล่าวว่า ประเทศไทยยังเสียเปรียบเรื่องขนาดตลาด แต่มีระบบนิเวศทั้งในแง่คน, ทรัพยากร และการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งการตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น Digital Gateway จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้เป็นแหล่งที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนได้

“ไทยต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่มีอะไร และเรามีอะไร สิ่งที่เรามีน้อยคือ ขนาดตลาด เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เราเป็นปลายทางในแง่ตลาดจะท้าทายมาก แต่สิ่งที่เรามีคือระบบนิเวศของคน ทรัพยากร และการสนับสนุนจากภาครัฐ ถ้าเราตั้งไทยเป็นปลายทางในฐานะ Digital Gateway ก็จะช่วยให้ไทยมีศักยภาพขึ้นมาได้”

นายอภิเษก เทวินทรภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) เสริมว่า ขนาดตลาดของการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ในเอเชีย-แปซิฟิกมีมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในประเทศไทยมีมูลค่าไม่ถึง 5% แต่ยังมีโอกาสไปต่อได้ซึ่งความยากของการที่บริษัทต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) คือแต่ละประเทศมีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง

“ความยากของการเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ของบริษัทเทคต่างประเทศ คือการขยับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง แต่เป็นประเทศที่มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง เราพยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย-แปซิฟิกให้แข็งแรง เพื่อช่วยเป็น Gateway ของการลงทุน”