ย้ำประมูลไม่ใช่ PPP มั่นใจไม่เกิด “ติ๋ม” โมเดล

เมื่อ 26-27 ธ.ค. 2556 “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สร้างปรากฏการณ์ปิดประมูล 24 ช่องทีวีดิจิทัลด้วยราคา 50,862 ล้านบาท สูงกว่าราคาตั้งต้น 234% โดยบริษัท ไทยทีวี ของ “ติ๋มทีวีพูล” นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย คว้าไปได้ 2 ช่อง ด้วยราคา 1,328 ล้านบาท และ 648 ล้านบาท ตามลำดับ แต่จ่ายเงินแค่งวดแรกรวม 365.51 ล้านบาท ก่อนที่ 25 พ.ค. 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องชำระงวด 2 จะส่งหนังสือถึง กสทช. แจ้งขอยกเลิกใบอนุญาตและเลิกประกอบกิจการ โดยยืนยันว่าจะไม่จ่ายเงินประมูลส่วนที่เหลือ ทำให้ กสทช. มีคำสั่งเมื่อ 12 ก.พ. 2559 เพิกถอนใบอนุญาตและแจ้งกับธนาคารกรุงเทพขอริบแบงก์การันตีที่วางค้ำประกันไว้

“ติ๋มทีวีพูล” จึงยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองกลาง และสร้างปรากฏการณ์พลิกล็อกถล่มทลาย เมื่อชนะคดี “บริษัทบอกเลิกสัญญาโดยชอบ” ให้ กสทช.คืนแบงก์การันตีราว 1,500 ล้านบาท

แต่มติบอร์ด กสทช. พร้อมยื่นอุทธรณ์ “พ.อ.นที ศุกลรัตน์” รองประธาน กสทช. เปิดเผยว่า มีประเด็นที่ต้องย้ำกับศาลให้ชัดเจนขึ้น คือ การให้ใบอนุญาตของ กสทช. ไม่ใช่สัญญาร่วมการงานในการจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐอย่างที่ศาลระบุไว้

“คำว่าเข้าร่วมการงาน แปลว่า รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการ แล้วให้เอกชนมาทำแทน แต่ กสทช. เป็นคนกลางจัดสรรคลื่นเพื่อให้ไปประกอบกิจการให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม ต่อให้ไม่มีใครมาขอรับใบอนุญาต กสทช.ก็ไม่มีหน้าที่ไปให้บริการทีวี หากตีความว่าเป็นการทำสัญญาร่วมการงาน ทุกการอนุญาตต่อไปต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมการงานในกิจการของรัฐ (PPP)”

ทั้งไม่มีประเทศไหนมีการคืนใบอนุญาต ไม่เช่นนั้นใบอนุญาตโทรคมนาคม ประมูลไป 7 หมื่นล้านบาท กำหนดให้ปีที่ 1 จ่ายเงินประมูลหมื่นล้าน ปีที่ 2 จ่ายหมื่นล้าน ปีที่ 3 จ่าย 5 หมื่นล้าน พอทำกิจการไป 2 ปีแล้วขอยกเลิกได้ คนที่เสียหายคือรัฐ และหากต่อไปแก้ปัญหาโดยให้จ่ายเงินทันที 100% หลังจบประมูล เอกชนก็จะไม่มีเงินไปประกอบธุรกิจ และตามมาตรา 42 พ.ร.บ. กสทช. กำหนดให้ต้องจ่ายเงินประมูลเมื่อได้รับใบอนุญาต การให้แบ่งจ่ายได้แค่เป็นการอำนวยความสะดวก

“เกิดผลกระทบอย่างมากมายมหาศาลจึงจำเป็นต้องโต้แย้ง”

ส่วนประเด็นที่ศาลชี้ว่า กสทช. ปฏิบัติงานล่าช้า เป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะก่อนการประมูลมีประกาศระบุชัดว่า เมื่อเริ่มออกอากาศโครงข่ายจะครอบคลุม 50% ของประชากร และมีหลักฐานอย่างชัดเจนว่า กสทช.ได้กำกับให้การขยายโครงข่ายเป็นไปตามที่ประกาศกำหนดทุกอย่าง ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น คิดว่าผู้ประกอบกิจการทุกรายคงล้มเหลวกันหมดทุกราย ไม่ใช่แค่รายใดรายหนึ่ง ทั้งโครงข่ายกรมประชาสัมพันธ์ที่อ้างว่าไม่ได้ติดตั้ง ข้อเท็จจริงคือไม่มีผู้ประกอบการรายใดเช่าใช้ ขณะที่การแจกคูปองล่าช้า 6 เดือนเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกประเทศจะแจกเมื่อโครงข่ายขยายไปถึงแล้ว และการที่ประชาชนใช้สิทธิ์น้อย กสทช. ไม่สามารถไปบังคับให้ใช้ได้ ยืนยันว่าทำดีที่สุดแล้วในส่วนนี้

“ส่วนที่กังวลว่า ช่องอื่นจะขอคืนช่องบ้างนั้น คงต้องคอยดูดีกว่า กรรมการยังไม่ได้พูดคุยถึงขั้นนั้น เพราะเมื่ออุทธรณ์แล้วเท่ากับว่า เราต้องรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด”