
“ตำรวจไซเบอร์” เตือนภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์หลายรูปแบบ พร้อมแนะวิธีป้องกันสารพัดกลโกง หลังคดีออนไลน์พุ่งทะลุ 2.7 แสนเรื่องภายในปีเดียว ความเสียหายเฉลี่ยวันละ 74 ล้านบาท
วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) ประกาศเตือนภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์หลายรูปแบบหลังพบว่าในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนตกเป็นเหยื่อมากขึ้น
จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่ายอดสะสมของผู้แจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565-31 พฤษภาคม 2566 เป็นคดีออนไลน์จำนวน 270,360 เรื่อง เฉลี่ยวันละ 525 คดี คิดเป็นความเสียหายเฉลี่ยวันละ 74 ล้านบาท
สำหรับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่พบเห็นบ่อยในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งตำรวจไซเบอร์ได้ให้รายละเอียดและมีคำแนะนำดังนี้
1.มิจฉาชีพหลอกให้รับพัสดุเก็บเงินปลายทาง
กลโกงของคนร้าย :
- ส่งพัสดุเรียกเก็บเงินปลายทาง
- ผู้เสียหายจำไม่ได้ว่าสั่งสินค้าไปหรือไม่ และไม่ได้ตรวจสอบ
- ผู้เสียหายหลงเชื่อจ่ายเงินและรับพัสดุ
วิธีป้องกัน :
- ตรวจสอบให้ดีว่า สั่งพัสดุไว้หรือไม่ สังเกตชื่อผู้ส่ง-ผู้รับว่าถูกต้อง
- ตรวจสอบเลขพัสดุให้ตรงกัน
- ถ้ารับพัสดุแทน ต้องสอบถามเจ้าของพัสดุก่อน
2.หลอกลวงให้โอนเงินทำกิจกรรมเพื่อรับค่าตอบแทนจากเว็บไซต์ 18+
กลโกงของคนร้าย :
- มิจฉาชีพโพสต์ Facebook และยิง Ads โดยใช้รูปแบบเว็บไซต์ 18+
- ผู้เสียหายหลงเชื่อกดลิงก์เพิ่มเพื่อนทางไลน์ จากนั้นมิจฉาชีพจะดึงเข้ากลุ่มที่มีหน้าม้า และอ้างว่าต้องโอนเงินก่อน
- เมื่อเข้ามาในกลุ่มแล้ว จะต้องโอนเงินอีก แต่ได้ปันผลคืนมา
- มีข้ออ้างที่ต้องโอนเพิ่ม จนผู้เสียหายหมดตัว
วิธีป้องกัน :
- ตรวจสอบว่าเป็นบัญชีทางการ (Official) หรือไม่
- ตรวจสอบการกด Reaction ของเพจ หากเป็นของปลอมจะมีการกด Reaction ด้านลบ
- ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ
- ไม่เปิดอ่าน หรือกดลิงก์โฆษณาแปลกปลอม
- การทำภารกิจที่ต้องมีการโอนเงินก่อน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นกลโกงของมิจฉาชีพ
- ตรวจสอบชื่อบัญชีธนาคารปลายทางจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือว่าเป็นพวกมิจฉาชีพหรือไม่
- หากรู้ตัวว่าถูกหลอก ให้รีบ โทร.หาธนาคารเพื่อระงับการทำธุรกรรม และรีบไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใน 72 ชั่วโมง
3.url.cc อาจเป็นลิงก์ดูดเงิน
ข้อสังเกต :
- .cc เป็นโดเมนที่ใครก็จดทะเบียนได้
วิธีป้องกัน :
- สังเกตชื่อเว็บไซต์หรือ URL อย่างละเอียด
- ไม่คลิกลิงก์แปลกปลอมที่แนบมากับอีเมล์ หรือ SMS
4.หลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์
กลโกงของคนร้าย :
- โพสต์เชิญชวนให้กู้เงินออนไลน์
- หลอกลวงว่า สามารถกู้เงินได้ง่ายในวงเงินหลายหมื่นบาท โดยเสียค่าดำเนินการ 10% ของยอดเงินที่ต้องการกู้ จากนั้นจะมีเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารในวันรุ่งขึ้น
- ไม่ได้รับเงินตามสัญญา โดยคนร้ายอ้างว่าเกิดข้อผิดพลาดในการทำรายการ
- คนร้ายอ้างว่าให้โอนเงินเพิ่มเพื่อแก้ไขรายการ แต่สุดท้ายถูกระบบอายัดเงินทั้งหมดไม่สามารถถอนเงินได้
- เหยื่อหลงเชื่อจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายรวมหลายล้านบาท
ข้อสังเกต :
- คนร้ายใช้อุบายเชิญชวนให้เหยื่อหลงเชื่อ
- หลอกว่ากู้เงินง่าย ไม่ต้องเช็กเครดิต ไม่ต้องมีคนค้ำ
- หลอกว่าถ้าโอนเงินเพิ่มจำนวนเล็กน้อย จะได้ยอดเงินเพิ่มขึ้นจากเดิม ส่งผลให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก
- อ้างว่าเกิดข้อผิดพลาด ทำให้เหยื่อถอนเงินไม่ได้ สุดท้ายเสียเงินฟรี
5.Romance Scam-หลอกให้รัก หลอกให้โอน
กลโกงของคนร้าย :
- ใช้โปรไฟล์ปลอมเป็นชาวต่างชาติ หน้าตาดี มีฐานะ ทักไปหาเหยื่อ
- พูดจาหว่านล้อม ให้เหยื่อหลงเชื่อคำเยินยอ
- ตกหลุมรักไวมาก ๆ ไม่ถึงสัปดาห์ เรียก “baby”, “honey”, “ที่รัก”
- หลีกเลี่ยงการเปิดกล้อง หรือพูดคุยเห็นหน้า
- พอเหยื่อเริ่มหลงรักและเชื่อใจ จะสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อต้องโอนเงิน เช่น ขอยืมเงิน, ขอความช่วยเหลือด่วน, ส่งเงินหรือทรัพย์สินมีค่ามาให้ แต่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมก่อนรับของ เป็นต้น
- เมื่อเหยื่อโอนเงินจนหมด มิจฉาชีพก็จะตัดการติดต่อกับเหยื่อทันที
วิธีป้องกัน :
- ต้องมีสติ อย่าหลงเชื่อกลลวง
- อย่าไว้ใจคนแปลกหน้าผ่านทางโลกออนไลน์
- ตรวจสอบข้อมูลบุคคลให้แน่ชัดว่ามีตัวตนจริงหรือไม่
- อย่าหลงเชื่อกลลวง และห้ามโอนเงินให้คนที่เพิ่งรู้จักกัน ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัวผ่านทางออนไลน์กับผู้อื่นเด็ดขาด