อยาก “ส่งออกออนไลน์” ต้องรู้และเตรียมอะไรบ้าง

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

การส่งออกแบบ cross-border หรือการขายข้ามประเทศในไทยยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบ domestic การขายแบบ cross-border นั้นย่อมได้ราคาที่ดีกว่าแน่นอน แต่ยังมีปัญหาเรื่องของภาษา และแชนเนลที่จะส่งออกไป

อย่างไรก็ตามโดยหลักการแล้วคงต้องเริ่มจากการศึกษาหาประสบการณ์การขายในประเทศให้ดีเสียก่อนแล้วจึงค่อยขยายไปต่างประเทศ เพราะจะมีเรื่องขั้นตอน กฎระเบียบ พิธีการต่าง ๆ ที่ซับซ้อนกว่าทำให้ผู้ประกอบการไทยน้อยคนที่จะทำการค้าในส่วนนี้ ยิ่งถ้าโปรดักต์ไม่แข็งแรงพอ มีคุณภาพไม่ดี ก็จะถูกตีกลับมาได้ง่าย ๆ

ส่งอะไร ส่งที่ไหน ส่งอย่างไร

จริง ๆ เราส่งออกได้เกือบทุกประเภท แต่ที่สำคัญคือต้องรู้ก่อนว่าจะส่งไปที่ไหน แต่ละที่ดีมานด์แตกต่างกัน สินค้าของเราคืออะไร วิธีการส่งออกมีหลายแบบ สมัยก่อนเราจัดเทรดโชว์ ขนสินค้าไปขายตรงหรืออาจหาตัวแทนที่ประเทศนั้น ๆ ซึ่งรูปแบบนี้มีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลามาก แต่วันนี้มีช่องทางออนไลน์ที่จะทำให้เราเข้าไปค้าขายได้ง่ายขึ้น แต่ละประเทศมีเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสขนาดใหญ่ที่วางขายสินค้าได้ ทั้งที่ฟรีและเสียเงิน แต่ส่วนมากยังเป็นการขายแบบ B2B

มาร์เก็ตเพลสนั้นแบ่งออกเป็นหลายเทียร์ แบบแรกคือ country base ที่เอาสินค้าหรือบริการไปลิสต์ขายได้ เช่น อยากไปขายที่อินเดียก็จะมี India Mart หรือจีนก็ที่รู้จักกันดีอย่าง Alibaba หรือไประดับ Global Sources มาร์เก็ตเพลสระดับโลกเลยก็มี ผมคิดว่าคุณควรลองเอาสินค้าไปลิสต์ไว้ เหมือนได้สร้างออนไลน์แค็ตตาล็อกไว้ที่มาร์เก็ตเพลสของประเทศต่าง ๆ นั่นเอง

แบบที่สอง คือมาร์เก็ตเพลสที่เป็น vertical base หรือ industry base เช่น อยากไปขายอาหาร ก็มี vertical base ที่รวมบรรดาคนที่ขายอาหารอย่างเดียวหรือบางทีก็เป็นมาร์เก็ตเพลสที่ขายเนื้อสัตว์ ขายสินค้าเกษตร หรือสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งจะมี vertical marketplace แบบ B2B ที่เจ้าของธุรกิจเข้าไปลิสต์ได้เอง ยิ่งเอาตัวเองไปไว้ในมาร์เก็ตเพลสเหล่านี้ได้มากเท่าไรเท่ากับได้เปิดสาขาได้มากเท่านั้น

สิ่งแรกที่ควรทำคือหาคนในองค์กรที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เป็นเหมือน virtual sales ที่จะไปเปิดร้านค้าได้เองทั่วโลก และต้องมีแค็ตตาล็อกที่ทำให้คนสนใจและดึงดูดคนได้จริง ๆ

คอนเทนต์ธุรกิจของเรา และการสร้างความน่าเชื่อถือนั้นสำคัญมาก เช่น ต้องมีข้อมูลว่า เราเป็นใคร เปิดมานานเท่าใด มีมาตรฐานอะไรบ้าง รายละเอียดสินค้า ฯลฯ จากนั้นต้องกลับมาที่การทำมาร์เก็ตติ้งว่าจะทำอย่างไรถึงดึงคนเข้ามาซื้อสินค้าของเรา ซึ่งอาจเป็นการใช้อีเมล์มาร์เก็ตติ้ง หรือการซื้อโฆษณา

สำหรับพวกที่เป็น global management อาจต้องอาศัยเว็บประเภท LinkedIn ในการติดต่อ กลยุทธ์ดึงลูกค้า B2B ต่างจาก B2C มาก แต่ข้อสำคัญคือได้ทำแล้วหรือไม่ มีทีมที่จะมาดูแล online trading หรือยัง และควรต้องกำหนด KPI มีเป้าหมายที่ชัดเจนด้วย

ส่งออกออนไลน์เริ่มต้นอย่างไร

ผู้ที่สนใจอาจเริ่มต้นศึกษาที่ Thaitrade.com ก่อน เป็น B2B มาร์เก็ตเพลสของไทยที่ยืนหยัดอยู่ได้ เวลาต่างชาติเข้ามาติดต่อธุรกิจในไทยจะดูใน Thaitrade.com เช่นกัน หรือสนใจลองไปขายที่เมืองจีนก็มี Alibaba, Global Sources ไปบราซิลก็มี BrazilB2B วิธีหาตลาดออนไลน์ง่าย ๆ คืออยากไปประเทศไหนให้ค้นด้วยชื่อประเทศแล้วต่อด้วย B2B marketplace ส่วนใหญ่มักให้เราสร้างแค็ตตาล็อกได้ฟรี หรืออีกแบบคือ virtical เอาชื่ออุตสาหกรรมแล้วต่อด้วย B2B marketplace เช่นกัน

ข้อดีของ virtical คือยังเรียนรู้จากคู่แข่งหรือคนที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ กันในสเกลระดับโลกเพื่อนำกลับมาพัฒนา

สำหรับพ่อค้าคนกลางต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะผู้นำเข้าสินค้าจากจีน เพราะผู้บริโภคทั่วโลกจะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากโรงงานจีนผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว

ต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง

ในเชิงผู้ผลิตที่จะส่งออก 1.ต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เพราะเป็นตัวกำหนดแวลูสินค้า 2.ใช้เทคโนโลยีผลิตเพื่อให้ต้นทุนต่ำลงแข่งขันได้ดีขึ้น 3.ต้องใช้ช่องทางออนไลน์จริงจัง มีทีมโฟกัสเป็นเรื่องเป็นราว

4.เจ้าของกิจการต้องศึกษาและรู้เรื่องออนไลน์อย่างลึกซึ้ง ปรับองค์กรเข้าสู่ออนไลน์ได้จริง ๆ 5.อยากส่งออกต่างประเทศต้องส่งออกไปขายจริง ๆ และ 6.ต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม หาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อที่จะได้มีมุมมองใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ