กฤษฎีกา เปิดทางประมูลคลื่น “ดีแทค”

ลุ้น “กสทช.” ตัดสินใจประมูลคลื่นใต้สัมปทานดีแทค หลังกฤษฎีกาชี้บอร์ดมีอำนาจเดินต่อได้ ฟาก “ดีแทค” มีแผนสำรองดูแลทุกสถานการณ์ เร่งเจรจา “แคท” เช่าทรัพย์สินสัมปทาน ย้ำดีล “ทีโอที” 2300 MHz ไม่แห้ว

แหล่งข่าวระดับสูงภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาข้อหารือเกี่ยวกับอำนาจของบอร์ด กสทช. ชุดปัจจุบัน เสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าหนังสือตอบกลับอย่างเป็นทางการจะถึงสำนักงาน กสทช.

“กฤษฎีกายืนยันว่า บอร์ดชุดปัจจุบันมีอำนาจเต็มที่จะดำเนินการใด ๆ ได้เหมือนบอร์ดปกติ แม้ว่าจะหมดวาระไปตั้งแต่ ต.ค. 2560 แต่ตาม พ.ร.บ. กสทช.กำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่ง เมื่อได้รับหนังสือตอบกลับมาแล้วจะนำเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณา โดยเฉพาะการจะเดินหน้าจัดประมูลคลื่นภายใต้สัมปทานดีแทคต่อหรือไม่”

เนื่องจาก ก่อนหน้านี้ได้มีการยกร่างประกาศหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นพร้อมเปิดประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว หากบอร์ด ต้องการเดินหน้าต่อก็สามารถนำร่างประกาศที่เตรียมไว้ลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อเริ่มขั้นตอนประมูลได้ทันที

ด้านนายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า 15 ก.ย. นี้ สัมปทานระหว่างดีแทคกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) จะสิ้นสุดลง แม้จะยังไม่แน่นอนว่าการประมูลคลื่นครั้งใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงสรรหาบอร์ด กสทช. ชุดใหม่ แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ของดีแทคอยู่ในภาวะลำบาก เพราะตามประกาศของ กสทช. จะมีช่วงระยะเยียวยาผู้บริโภคหลังสิ้นสุดสัมปทาน ที่สามารถให้บริการลูกค้าต่อไปได้จนกว่าจะมีการประมูลคลื่น

“เรากำลังจะอยู่ในสถานการณ์ที่เอไอเอสกับทรูเคยเจอ ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังตกที่นั่งลำบาก เพียงแต่อาจจะไม่เป็นไปตามคาด จะพยายามอย่างดีที่สุดให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีที่สุด ซึ่งมั่นใจว่าเราต้องมีคลื่นแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นคลื่นไหน เพราะ กสทช.ไม่มีแผนแน่นอน ดีลคลื่น 2300 MHz กับทีโอทีคาดว่าจะลงนามภายในไตรมาส 2 นี้”

ส่วนกรณีที่จะอนุญาตให้เอไอเอสและทรู ผ่อนจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHz ได้นั้น เป็นสิ่งยืนยันว่าราคาคลื่นสูงเกินไป ซึ่งเป็นปัญหากับทั้งอุตสาหกรรมดังนั้นการผ่อนจ่ายน่าจะเป็นมาตรฐานในการประมูลครั้งต่อไป

นอกจากนี้ยังเร่งเจรจากับแคท เพื่อทำสัญญาระยะยาวเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นทรัพย์สินสัมปทาน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้