เสียงแตกประมูลคลื่น “ดีแทค” รอกสทช.ชุดใหม่กดปุ่ม-สางปมสัมปทาน

บอร์ด “กสทช.” โหวตประมูลคลื่น 11 เม.ย.นี้ “พลเอกสุกิจ” ประธานกสทช. ย้ำชัดต้องเริ่มทันที ปิดทางเกิดปัญหาจากมาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทาน ยกเคส “ทรูมูฟ-ดีพีซี-เอไอเอส” เกือบ 4 ปี รัฐยังไม่ได้เงินสักบาท แถมฟ้องร้องกันตุงนัง ฟาก “วงใน” เชื่อรอบอร์ดใหม่เหตุ19 เม.ย. สนช.โหวตเลือกแล้ว

พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช.วันที่ 11 เม.ย.นี้ มีวาระสำคัญคือการพิจารณาว่า จะเดินหน้าจัดประมูลคลื่น900 MHz และ 1800 MHz ภายใต้สัมปทานระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) หรือไม่ หลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือยืนยันว่า กสทช.ชุดปัจจุบันมีอำนาจเต็มที่จะดำเนินการต่อได้

“เป็นไปได้สูงว่า บอร์ดจะมีมติให้เริ่มดำเนินการประมูลคลื่น เพื่อให้ได้ผู้ชนะประมูลก่อนที่สัมปทานดีแทคจะสิ้นสุด ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดปัญหาซ้ำรอยจากการต้องประกาศใช้มาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทาน ที่มีตัวอย่างจากสัมปทานทรูมูฟ เอช ดิจิตอลโฟน และเอไอเอส ที่มีปัญหายืดเยื้อมาหลายปีแล้ว รัฐยังไม่ได้เงินที่ควรจะได้สักบาท แถมมีคดีฟ้องร้องกับเอกชน”

มิ.ย.ต้องได้ผู้ชนะประมูล

พลเอกสุกิจระบุว่า แม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีกรอบเวลาว่าจะลงคะแนนเลือกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า คณะกรรมการชุดใหม่จะรับตำแหน่งเมื่อใด ขณะที่สัมปทานดีแทคจะสิ้นสุดเดือน ก.ย.นี้ หากไม่สามารถหาผู้ชนะประมูลได้ก่อน มิ.ย.นี้ ต้องประกาศใช้มาตรการเยียวยาแน่นอน

“บอร์ดชุดนี้ไม่อยากเริ่มประมูล เพราะวุ่นวาย แต่กฤษฎีกาชี้มาแล้วว่า อะไรต้องทำก็ต้องทำ เมื่อเห็นอยู่ว่าจะมีปัญหาถ้าใช้มาตรการเยียวยาก็ต้องเร่งปิดทางไม่ให้เกิดซ้ำ”

หากบอร์ด กสทช.เห็นชอบให้เริ่มกระบวนการประมูล ก็จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์ทั้งหมดประกาศลงราชกิจจานุเบกษา กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการ หากในระหว่างนี้บอร์ดใหม่รับตำแหน่งแล้ว ก็รับช่วงดำเนินการต่อได้เลย โดยไม่สะดุด

ชี้เสียงส่วนใหญ่ให้โยนบอร์ดใหม่

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจาก กสทช.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เท่าที่สำรวจความเห็นกรรมการ กสทช. แต่ละคนมีแนวโน้มว่า จะเห็นชอบให้รอบอร์ดชุดใหม่เข้ามาดำเนินการจัดประมูล มีเพียงบอร์ดฝั่งโทรคมนาคม 2 คน คือ พลเอกสุกิจ และ กสทช.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ ที่ยืนยันว่า บอร์ดชุดปัจจุบันควรเริ่มจัดการประมูลเพื่อให้ทันก่อนสิ้นสุดสัมปทานดีแทค ส่วนบอร์ดฝั่งบรอดแคสต์ 3 เสียงเห็นว่า สนช.จะเลือกกรรมการชุดใหม่แล้ว น่าจะให้บอร์ดใหม่ดำเนินการมากกว่า

“ถ้าประเมินตอนนี้มติน่าจะยกให้บอร์ดใหม่จัด ซึ่งจะไม่ทันสัมปทานดีแทคสิ้นสุดแน่ เพราะบอร์ดใหม่เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาข้อมูลก่อน คงไม่กล้าเข้ารับตำแหน่งปุ๊บก็ลงมติเคาะประมูลทันที อาจไม่ทันในปีนี้แต่ถ้าบอร์ดเก่ามีมติเห็นชอบจัดประมูลแล้ว ประกาศหลักเกณฑ์ลงราชกิจจาฯเลย ต่อให้มีบอร์ดใหม่เข้ารับตำแหน่งก่อนวันประมูล ก็ยากที่จะยกเลิกในภายหลัง”

ปัจจัยที่อาจทำให้แนวโน้มของมติบอร์ดเปลี่ยนไป คือ การส่งสัญญาณจากที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าต้องการให้ กสทช.จัดประมูลในทันที

ปัญหาเยียวยายืดเยื้อ

แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวต่อว่า การประชุม กสทช.วันที่ 11 เม.ย.นี้ ไม่ใช่การประชุมนัดสุดท้ายของบอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบัน แต่น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในการลงมติด้านนโยบาย เพื่อไม่ให้ผูกพันไปยังบอร์ดใหม่ ซึ่งตามวาระที่เตรียมการไว้มีเรื่องสำคัญ คือ การพิจารณาว่าจะจัดประมูลหรือไม่ กับการจัดสรรเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) หลักสิบล้านบาท

ดังนั้นการตัดสินใจด้านนโยบายที่สำคัญและยืดเยื้อไม่ได้ข้อยุติมานานอย่างการสรุปรายได้ช่วงเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) กับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) จำกัด ที่หมดสัมปทานไปตั้งแต่ปี 2556 และสัมปทานระหว่าง บมจ.ทีโอที กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(เอไอเอส) ก็จะยังไม่ได้ข้อยุติ รวมถึงการทำแผนเพื่อเรียกคืนคลื่นย่าน 700 MHz คลื่น 2600 MHz ของ บมจ.อสมท เพื่อจัดสรรใหม่ และตรวจสอบการใช้คลื่น 2300 MHz ของทีโอที ว่าใช้งานคุ้มค่าตามที่ได้รับจัดสรรมาหรือไม่ จะเป็นงานที่ต้องส่งต่อให้บอร์ดชุดใหม่ดำเนินการ

โดยเงินรายได้ที่รัฐต้องได้จากการให้บริการตามมาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทาน ในส่วน “ทรูมูฟ-ดีพีซี” ก่อนหน้านี้คณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน ที่ กสทช.ตั้งขึ้น แบ่งช่วงเวลาที่ต้องนำส่งรายได้เป็น 3 ช่วง 1.ตั้งแต่สัมปทานสิ้นสุด 16 ก.ย. 2556 จนถึง 17 ก.ค. 2557 ที่ คสช.มีคำสั่งชะลอประมูลคลื่น 1800 MHz ช่วงที่ 2 คือการให้บริการภายใต้คำสั่ง คสช. 17 ก.ค. 2557-17 ก.ค. 2558 และช่วงที่ 3 หลังสิ้นสุดคำสั่งชะลอการประมูลจนจัดสรรใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล 18 ก.ค.-3 ธ.ค. 2558

ตัวเลขรายได้ทั้ง 3 ช่วงเวลาของคณะทำงานตรวจสอบฯ ไม่รวมค่าใช้โครงข่ายของ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ที่ผู้ให้บริการแต่ละรายต้องนำจ่ายแคทเอง ยอดเงินรายได้ที่ทรูมูฟ ต้องนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินจะอยู่ที่ 13,989.24 ล้านบาท ยอดของดีพีซีอยู่ที่ 879.59 ล้านบาท แต่ฝั่งทรูมูฟยืนยันยอดที่ 3,088.42 ล้านบาท ส่วนดีพีซียืนยันที่ 879.39 ล้านบาท

เมื่อเทียบมูลค่าเงินรายได้ที่ต้องนำส่งเข้าคลังของ 2 แนวทาง แตกต่างกันราว 10,900.82 ล้านบาท

ขณะที่สัมปทาน “เอไอเอส”สำนักงาน กสทช.สั่งให้เอไอเอสนำส่งรายได้ช่วงเยียวยา 1 ต.ค. 2558-30 มิ.ย. 2559 เป็นเงิน 7,221.00 ล้านบาท พร้อมดอกผล แต่เอไอเอสยื่นอุทธรณ์

ย้ำ ม.44 อุ้มเพื่อชาติ

ขณะที่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศ คสช. เพื่อยืดเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดสุดท้ายที่จะครบกำหนดในปี 2562 ให้ “เอไอเอส-ทรู” จากที่แต่ละรายต้องจ่ายเมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาท ออกเป็น 5 งวดเท่า ๆ กัน (งวดละ 1 ปี) โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยนั้น

พลเอกสุกิจ ประธาน กสทช.กล่าวว่า เป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ แม้หลายฝ่ายมองว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชน

“ถ้าบอกว่า ม.44 อุ้มเอกชน ก็ต้องบอกว่า อุ้มจริง แต่ก็มีเหตุผล เพราะเป็นการอุ้มอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ขณะที่รัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์ เงินที่รัฐควรจะได้ก็ยังได้อยู่ ถามว่า ถ้าไม่ยืดแล้ว เอกชนก็ต้องหามาจ่าย ก็จะอาจจะมีปัญหาต่อไม่ใช่น้อย ทั้งกระแสเงินสดที่จะนำไปใช้พัฒนาระบบ พัฒนาบริการให้ประชาชนใช้งาน หรือจ่ายแล้วเอกชนไปต่อไม่ไหว มันเป็นสิ่งดีจริงๆ หรือ”

ที่สำคัญการอุ้มนี้จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ยังมีการแข่งขันอยู่ จากการมีโอเปอเรเตอร์หลายรายในตลาด ไม่ใช่ปล่อยให้เหลือโอเปอเรเตอร์ผูกขาดแค่ 1-2 ราย เพราะมีบางเจ้าไม่ชนะประมูลไม่มีภาระต้องจ่ายก้อนนี้ กับบางเจ้าที่มีทุนใหญ่สายป่านยาว