
สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบตำแหน่ง “ศาสตราจารย์กิตติคุณ” แก่พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์
วันที่ 11 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แต่งตั้งศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็น “ศาสตราจารย์กิตติคุณ” ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- EV จีนทุบราคาเลือดสาด ฉางอานท้ารบ-BYD เกทับลดอีกแสน
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
โดยก่อนหน้าจะเข้ามารับตำแหน่งเป็น กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ศ.ดร.พิรงรองเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และรองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ 2553-2555 และขึ้นเป็นรองอธิการบดีด้านการสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2559-2563 ซึ่งทำให้มีงานวิจัยในด้านการสื่อสารมวลชน และการกำกับดูแลด้านเนื้อหา และโทรคมนาคมออกมาอย่างต่อเนื่อง
ตำแหน่งทางวิชาการเริ่มต้นที่อาจารย์ (instructor) และเมื่อมีผลงานวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นตำราหรืองานวิจัยตามหลักเกณฑ์จะเลื่อนขึ้นไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (assistant professor) และรองศาสตราจารย์ (associate professor) ซึ่งต้องใช้อายุงานและการทำผลงานทางวิชาการตามหลักเกณฑ์กำหนด
ในท้ายที่สุดคือการขอขึ้นสู่ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ต้องนำผลงานดีเด่นที่เข้าเกณฑ์เสนอต่อภาควิชา คณะวิชา และมหาวิทยาลัยตามลำดับขั้นเพื่อนำเข้าสู่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อเตรียมนำขึ้นขอโปรดเกล้าฯ ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์”
ในประวัติทางวิชาการของ “พิรงรอง” ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากตำแหน่ง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” ตามราชกิจจานุเบกษา 5 มิถุนายน 2561 ให้ดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ สังกัดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2558
ผลงานทางวิชาการ
ผลงานทางวิชาการของ ศ.ดร.พิรงรอง มีความโดดเด่นในสายนิเทศศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ตามรายละเอียดในประวัติการทำงาน มีผลงานวิจัย บทความวิชาการ และหนังสือตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่
- งานวิจัย 25 หัวข้อ
- บทความในวารสาร 17 เรื่อง
- บทในหนังสือ 13 เรื่อง
- บทความนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ 2 เรื่อง
- หนังสือ 6 เล่ม
- ตำรา 1 เล่ม
โดยผลงานที่ได้รับการยอมรับ และได้รางวัลเชิดชู ได้แก่
- รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2559 ของสภาวิจัยแห่งชาติ
- รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2558 ของสภาวิจัยแห่งชาติ จากงานวิจัย เรื่อง “การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง”
- รางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์ รางวัลการวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี 2557 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รางวัลระดับดีมาก รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติด้านการเรียนการสอน กองทุนกาญจนาภิเษกเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2555 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ทางเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2553 ของสภาวิจัยแห่งชาติ จากงานวิจัย เรื่อง “การสร้างภูมิคุ้มกันการติดเกมออนไลน์ของเยาวชนไทย”
- รางวัลวิจัยดี ทางสังคมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2547 กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากงานวิจัย เรื่อง “การกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ต” ในโครงการวิจัยการปฏิรูประบบสื่อ ซึ่งทำร่วมกับคณะผู้วิจัยจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ตำแหน่งศาสตราจารย์มีกี่ประเภท
ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ตามที่ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา อธิบายไว้ว่า เป็นตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในประเทศไทยตำแหน่งทางวิชาการตามกฎหมายสำหรับอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน คือ อาจารย์ (instructor) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (assistant professor) รองศาสตราจารย์ (associate professor) และศาสตราจารย์ เป็นการกำหนดตำแหน่งที่เหมือนกับในระบบอเมริกัน
ศาสตราจารย์
ในระบบอังกฤษโดยมากกำหนดตำแหน่งเป็น “lecturer” เทียบเท่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ “senior lecturer” และ “reader” เทียบเท่ารองศาสตราจารย์ และ “professor” คือศาสตราจารย์ โดยที่ตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นตำแหน่งสำหรับอาจารย์ที่มีอาวุโสทางวิชาการสูงสุดและเป็นหัวหน้าภาควิชา (departmental chair) ในบางประเทศเรียกอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยในเชิงยกย่องและสุภาพว่า professor
โดยทั่วไปศาสตราจารย์ เป็นตำแหน่งของ “อาจารย์ประจำ” มีพื้นฐานความก้าวหน้าจากการทำผลงานวิจัยและ/หรือแต่งตำรา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อเสนอขึ้นพิจารณาต่อไป
ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนนั้น ตำแหน่งทางวิชาการที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย และเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ให้ความเห็นเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คือ ตำแหน่งศาสตราจารย์และศาสตราจารย์พิเศษ
ศาสตราจารย์พิเศษ
ศ.(พิเศษ) จัดเป็นตำแหน่งของ “อาจารย์ที่ไม่ได้ประจำ” อยู่กับภาควิชาหรือมหาวิทยาลัยนั้น ๆ มีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง มีความเชี่ยวชาญในการสอน รวมถึงผลงานทางวิชาการมีคุณภาพในระดับดีมากหรือดีเด่น
ศาสตราจารย์พิเศษ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัยจากผู้ซึ่งไม่ได้เป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์คลินิก
ศาสตราจารย์คลินิก จัดเป็นตำแหน่ง “อาจารย์ประจำ” เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ทั่วไป จะแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ทางด้านการสอนและการค้นคว้าวิจัยในภาคปฏิบัติ เช่น แพทย์เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ที่สอนนักศึกษาแพทย์ด้านคลินิก มีการค้นคว้าทดลองวิธีการรักษา หรือค้นพบสิ่งใหม่ในทางปฏิบัติ ได้นำผลนั้นมาเผยแพร่และสอน แต่ลักษณะของผลงานมีรูปแบบไม่เข้าเกณฑ์ที่ใช้ขอตำแหน่งตามปกติ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือศาสตราจารย์เกียรติคุณ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือศาสตราจารย์เกียรติคุณ แต่งตั้งจาก “อาจารย์ประจำ” ผู้เคยเป็นศาสตราจารย์มาแล้วจากการวิจัยและ/หรือแต่งตำราของมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ หรือชำนาญพิเศษได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในสาขาวิชานั้น ๆ มาก่อน หรืออาจเป็นอาจารย์ที่ทำงานมานานแล้วและเกษียณอายุราชการแต่ยังทำประโยชน์ให้กับสถาบันอยู่
นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งศาสตราจารย์อื่น ๆ ที่มีการตั้งขึ้นจาก “อาจารย์ที่ไม่ได้ประจำ” หรือสังกัดสถาบันนั้น ๆ แต่มักเป็นการเชิดชูเกียรติหรือยกย่อง เช่น “ศาสตราภิชาน” แต่งตั้งเพื่อดึงดูดผู้ทรงคุณวุฒิยิ่งมาทำงานในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเงินตอบแทนหรือเงินเดือน เป็นตำแหน่งที่ตั้งไว้สำหรับผู้มีความรู้ความชำนาญสูงสุดเป็นที่ยอมรับ เป็นตำแหน่งที่คงอยู่ตลอดชีวิต
“ศาสตราจารย์กิตติเมธี” มีความเชี่ยวชาญยิ่งในศาสตร์สาขาเฉพาะตน ซึ่งมหาวิทยาลัยเชิญมาทำงานวิจัยและพัฒนาบุคลากรในศาสตร์สาขานั้น เป็นตำแหน่งที่กำหนดระยะเวลาและค่าตอบแทน
“ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์” เป็นตำแหน่งเกียรติยศที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งบุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญและทำประโยชน์อย่างยิ่งให้แก่มหาวิทยาลัยและสังคม