เรียกว่าเป็นดีลที่สร้างความตื่นเต้นให้วงการเมื่อทุนใหญ่เบอร์ต้นของประเทศอย่าง TCC group เข้าซื้อกิจการ TARAD.com อีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยรายใหญ่ที่ยังเหลืออยู่ โดยให้ “ทีสเปซ ดิจิตอล” เป็นผู้ถือหุ้น 51% ท่ามกลางความดุเดือดของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยักษ์ใหญ่ต่างชาติแห่มาลงทุนรองรับการเติบโต “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ 2 CEO ที่เป็นตัวจักรสำคัญในดีลนี้
มารุต บูรณะเศรษฐกุล
Q : ทำไมเลือกตลาดดอทคอม
เพราะคุณภาวุธ เป็นคนไทยที่มีความสามารถ ด้วยศักยภาพ ประสบการณ์ที่มีทำให้มั่นใจ มุมมองในการทำธุรกิจเหมือนกันอยู่บ้างอย่างการทำธุรกิจเพื่อสังคม ดีลนี้คุณภาวุธเสนอไปที่คุณหนุ่ม (ฐาปน สิริวัฒนภักดี) และเห็นโอกาสที่จะซินเนอร์ยีกับทั้งกรุ๊ปได้ อย่างด้านดาต้าแอนะไลติกส์ ธุรกิจเพย์เมนต์ ที่จะซัพพอร์ตร้านโชห่วยทั่วประเทศให้ทำได้มากกว่าขายสินค้า แต่จ่ายบิลชำระเงินนั่นนี่ได้ แค่ทำได้สัก 10% ก็จะมีเครือข่ายมากกว่าร้านสะดวกซื้อ ไทยเบฟก็เริ่มมีคิวอาร์โค้ดให้ร้านค้าใช้แล้ว คือต้องมองให้ขาด เพื่อให้สุดท้ายจะเทิร์นกลับมาเป็นเม็ดเงินได้ เพราะเราไม่ใช่มูลนิธิ แต่ก็มองว่าตลาดดอทคอมจะช่วยโครงการเพื่อสังคม อย่างประชารัฐให้สินค้าของชุมชนก้าวสู่ตลาดโลกได้ ไม่ได้มองแค่ต้องให้รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม เพราะลำพังธุรกิจหลักวันนี้ก็มีทุกอย่างไม่ได้น้อย ๆ อยู่แล้วที่ถามว่าทำไมไม่ลงเจ้าอื่นด้วย ก็กำลังมอง ๆ อยู่นะ แต่ต้องดูที่จังหวะเวลา
Q : ตั้งเป้าจะเป็นผู้นำออนไลน์
ไม่ มองแค่การหนุนคนไทยให้เติบโต เพราะธุรกิจ TCC ก็แข็งแกร่งอยู่แล้ว หนุนในบางจุดเท่านั้น ไม่ได้มองว่า ทีสเปซฯจะสำคัญกับกรุ๊ปขนาดนั้น
Q : ธุรกิจของทีสเปซ ดิจิตอล
เป็นบริษัทใหม่ เพิ่งตั้งเมื่อ มี.ค. อยู่ใต้ “อเดลฟอส” ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของ TCC (ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี ถือหุ้น) มีเป้าหมายเสริมความแข็งแกร่งธุรกิจยุคเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยมีทั้งที่ทำธุรกิจเองอย่างบิ๊กดาต้า กับ เป็น corporate venture capital (CVC)
Q : เลือกบิ๊กดาต้าก่อน
เป็นเรื่องที่ตกขบวนไม่ได้ ยุคนี้การมีฐานข้อมูลผู้บริโภคเยอะสำคัญ ใน TCC ก็ทำอยู่บ้างแล้ว แต่ไม่ได้ลึกมาก อย่างร้านค้าย่อยที่เป็นช่องทางจำหน่ายทั่วประเทศกว่า 4 แสนราย ไทยเบฟเข้าไปกว่าครึ่ง แต่เราไม่เคยรู้ข้อมูลผู้บริโภคที่เป็น endless stream และยังไม่มีบริษัทไหนล้วงลึกว่ามีพฤติกรรมซื้อสินค้ายังไง ซื้อที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ถ้าเข้าใจลูกค้าก็จะเสนอทั้งสินค้า บริการ โปรโมชั่นได้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด อาจถึงขั้นเห็นเครื่องดื่มที่ทำ customize แบบเฉพาะคนมากขึ้น
Q : เป็น CVC ในสตาร์ตอัพด้วย
อยากให้คนไทยเติบโต และอยากได้คนเก่ง ๆ มาทำงานด้วย และธุรกิจใหม่ ๆ มาเสริม ซึ่งเห็นแนวโน้มว่าคนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นพนักงานฟูลไทม์ แต่ถ้าธุรกิจแข็งแรง เติบโตได้ดี การ exit ก็หลากหลาย อาจจะซื้อขายหุ้น IPO
Q : ทุน CVC ในมือ
อยู่ที่คุณมีความสามารถแค่ไหน ตัวเลขบอกไม่ได้ เอาเป็นว่าเคยเห็น ผมเคยทำอะไรเล็ก ๆ หรือเปล่า
ส่วนสเป็กสตาร์ตอัพที่สนใจจะมุ่งที่โยงไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมได้เพราะไม่ได้จะลงแค่เงิน แต่ซัพพอร์ตในแง่ธุรกิจด้วย ทั้งโนว์ฮาว ทั้งเน็ตเวิร์ก เพื่อให้เขาเติบโตได้เร็ว ฉะนั้นเราจะเน้นในกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญอยู่เดิม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งแต่ละปีก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะลงทุนกี่ราย
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
Q : ทำไมถึงตัดสินใจขายหุ้น
ต้องยอมรับว่า หลังจาก Rakuten เข้ามาปี 2552 บริษัทขาดทุนมาตลอด เพราะต้องใช้เงินโฆษณาเยอะ ปี 2559 เป็นช่วงยากลำบาก พอ Rakuten ถอนตัว ก็ขาดทุนอยู่หลายร้อยล้าน แล้วมาร์เก็ตเพลซก็ไม่ได้หอมหวนกับนักลงทุน
Q : ปัญหาสำคัญคือไม่มีเงิน
ตอนซื้อคืนจาก Rakuten ต้องใช้เงินเยอะมากแล้วแต่ละเดือนยังต้องใช้โอเปอเรตอีกหลายล้าน เรียกว่าทั้งแม่ทั้งเมียด่าตลอดว่าซื้อกลับมาทำไม แต่เราทิ้งไม่ได้ไง มันมีทั้งร้านค้า ทั้งพนักงาน
Q : ดีลกับ TCC มานานไหม
คุยกับ TCC เป็นปี ตอนแรกเจอกับคุณมารุตก่อน ก็บอกเขาว่าอยากเจอคุณฐาปนมาก พอได้เข้าคุยแล้ว บอกสถานการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยว่า จะไม่มีคนไทยเหลือแล้วคุณฐาปนก็สนับสนุนมาก
Q : อยู่กับ TCC แล้วจะรอด
เพราะเราเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ไม่ได้โฟกัสที่อีมาร์เก็ตเพลซแล้ว และถ้าผมยังโฟกัสที่อีมาร์เก็ตเพลซอยู่ ทาง TCC ก็ไม่เอาผมเหมือนกัน เขาไม่ได้อยากจะมาเผาเงินทิ้ง แต่โมเดลใหม่ทำกำไรได้ ช่วยผู้ประกอบการไทยให้ไปตลาดโลกได้ นี่เป็นเป้าหมายธุรกิจตรงกับ TCC
Q : โมเดลใหม่
โฟกัสที่ 6E คือ 1.e-Commerce สร้างแพลตฟอร์ม “U-commerce” เชื่อมระบบกับอีมาร์เก็ตเพลซและโซเชียลคอมเมิร์ซทั้งหมด ให้ผู้ประกอบการขายผ่านได้ทุกช่องทาง2.e-Marketplace ก็ยังจะมี Thaisecondhand กับ TARAD.com
สำหรับ B2B แต่จะไม่ทำโปรโมชั่นสู้ 3.e-Marketing เป็นการทำตลาดและโฆษณาออนไลน์ครบวงจร 4.e-Payment ซึ่งมีเพย์โซลูชั่นที่เป็นบริษัทลูก มีไลเซนส์ชำระเงินทั้งออนไลน์ออฟไลน์ 5.e-Logistics & Warehouse ช่วยบริหารการจัดส่งสินค้าและคลังสินค้าให้ และ 6.e-Knowledge เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการ
Q : ไม่โฟกัสอีมาร์เก็ตเพลซแต่ยังมี
Thaisecondhand กับ TARAD.com อยู่มา 19-20 ปีแล้ว เป็นลุงในวงการก็ไม่อยากปิด ยังมีทราฟฟิก ก็อยากจะปล่อยไว้ให้เป็นอีกช่องทางของคนค้าขาย
Q : แต่ตลาดก็ยังแข่งแรงทุกกลุ่ม
ใช่ ทั้งอีคอมเมิร์ซ เพย์เมนต์ โลจิสติกส์ โฆษณา การตลาดดิจิทัล แข่งแรงมากหมด แต่เรามีครบวงจร ซัพพอร์ตให้ลูกค้าแบบวันสต็อปเซอร์วิส
Q : ดีลนี้จะทำให้มีกำไรเพิ่ม
บางกลุ่มธุรกิจเริ่มมีกำไรแล้ว อย่างเพย์เมนต์ โฆษณา สิ้นปีหวังรายได้เพิ่ม 200% เราจะเป็นยูนิเวอร์แซลคอมเมิร์ซ ไม่สู้กับอาลีบาบา กับเจดีดอทคอม แต่จะดึงมือผู้ประกอบการไทยไปจูบปากกับอีคอมเมิร์ซที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อใช้ประโยชน์จากเขาให้ได้มากที่สุด