องค์กรในไทย 66% กลัวตกขบวนดิจิทัล เปลี่ยนไม่ทันโลก

องค์กร

“เดลล์ เทคโนโลยีส์” เผยผลสำรวจ “ดัชนีชี้วัดนวัตกรรม” พบ 66% ขององค์กรในไทยกลัวตกขบวนใน 3-5 ปีข้างหน้า เพราะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการทำงานไม่ทัน

วันที่ 21 กันยายน 2566 นายฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า เดลล์ เทคโนโลยีส์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่เป็นแกนหลักที่สำคัญต่อการพัฒนากลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของแต่ละองค์กร ช่วยให้ธุรกิจสามารถทรานส์ฟอร์มและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และสร้างโอกาสในมิติต่าง ๆ จึงได้สำรวจข้อมูลถึงช่วงเดือน ก.พ. 2566 และจัดทำ “ดัชนีชี้วัดนวัตกรรม” (Innovation Index) ขึ้นมา

นายฐิตพล บุญประสิทธิ์
นายฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์

“เดลล์ เทคโนโลยีส์ ทำโพลล์ด้วยการพูดคุยกับพนักงานองค์กรจำนวน 6,600 คนจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การเงิน การผลิต ค้าปลีก พลังงาน ฯลฯ ใน 45 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นพนักงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจำนวน 1,700 คน สิ่งที่น่าสนใจคือ 66% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 60% และทั่วโลก 57%) คาดว่าองค์กรของตนเองอาจตกกระแสภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อดูจากความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรมและแผนงานนวัตกรรมในกระบวนการทำงาน สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ยังคงเป็นความท้าทายขององค์กรในไทย”

โดยทิศทางการปรับตัวด้านดิจิทัลและนวัตกรรมขององค์กรสะท้อนผ่านดัชนีชี้วัดนวัตกรรมเป็นประเด็นสำคัญดังนี้

1.นวัตกรรมคือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ

จากการรวบรวมข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า 31% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 17% และทั่วโลก 18%) สามารถกำหนดให้เป็นผู้นำทางนวัตกรรม (Innovation Leaders) และผู้ที่นำนวัตกรรมเข้ามาใช้งาน (Innovation Adopters) หรือองค์กรที่มีกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมแบบครบวงจร (End-to-End) และวางตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาที่มาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ปัญหาซัพพลายเชน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ อีกมากมาย

ซึ่ง 52% ของผู้นำทางนวัตกรรม และผู้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้งานของไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 51% และทั่วโลก 50%) มั่นใจว่าตนเองสามารถเร่งสร้างนวัตกรรมได้ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย เพราะมี “ความยืดหยุ่นของนวัตกรรม” (Innovation Resilience) เช่น ความมุ่งมั่นและความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และ 32% ของผู้นำทางนวัตกรรม และผู้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้งานของไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 33% และทั่วโลก 32%) ได้รับประสบการณ์ที่ระดับของรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 15% ในปี 2565

นอกจากนี้ ผู้นำทางนวัตกรรม และผู้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้งานยังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาบุคลากรที่มีทักษะด้านไอทีลดลง โดยปัจจัยสนับสนุนอีกประการหนึ่งอาจเป็นเพราะ 65% ของผู้นำทางนวัตกรรม และผู้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้งานของไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 73% และทั่วโลก 75%) ได้ตอบรับการใช้งานระบบอัตโนมัติอย่างเต็มที่เพื่อสู้กับกระบวนการไอทีระบบแมนวลที่ใช้เวลานาน

นายฐิตพล บุญประสิทธิ์
นายฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์

2.นวัตกรรมที่ให้ความสำคัญบุคลากร

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 59% และทั่วโลก 59%) เชื่อว่าการที่มีคนลาออกจากบริษัทเกิดจากการที่ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้มากเท่าที่คาดว่าจะทำได้ และ 61% ในไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 63% และทั่วโลก 64%) ระบุว่าวัฒนธรรมของบริษัทคือสิ่งที่สกัดกั้นทำให้ไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้มากเท่าที่ต้องการหรือสามารถทำได้ โดยวัฒนธรรมในบริษัทได้ถูกกำหนดและสร้างขึ้นเป็นแบบอย่างโดยผู้นำ

อีกทั้ง 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 73% และทั่วโลก 71%)  ระบุว่าผู้นำของตนเองมีแนวโน้มที่จะชอบความคิดของตนเองมากกว่า และอุปสรรคส่วนบุคคลอันดับต้น ๆ ที่มีผลต่อการสร้างนวัตกรรมมากที่สุด คือความกลัวที่จะล้มเหลว ไปจนถึงการขาดความมั่นใจในการแบ่งปันความคิดกับผู้นำของตนเอง

 

3.นวัตกรรมที่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการ

รายงานดัชนีชี้วัดทางนวัตกรรม เผยให้เห็นว่าธุรกิจกำลังดิ้นรนที่จะนำเอากระบวนการนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยดาต้าเข้ามาฝังภายในองค์กร เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมของทุกภาคส่วนในองค์กร

โดยผลการสำรวจสำคัญชี้ให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอที 56% ในไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 28% และทั่วโลก 26%) กล่าวว่า ความพยายามด้านนวัตกรรมทั้งหมดของตนเองขึ้นอยู่กับดาต้า และ 37% ขององค์กรในไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 46% และทั่วโลก 52%) กำลังจัดโครงการนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท อุปสรรคที่ทำให้ทีมไม่มีเวลาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ คือภาระงานที่ล้นหลาม (ไทย 36% เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 40% และทั่วโลก 38%)

4.นวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี

99% ขององค์กรที่ตอบแบบสอบถามในไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 84% และทั่วโลก 86%) กำลังแสวงหาเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้พวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายด้านนวัตกรรม และในทางกลับกัน 49% ขององค์กรในไทย (เอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น 58% และทั่วโลก 57%) เชื่อว่าเทคโนโลยีของตัวเองยังไม่ใช่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและหวั่นเกรงว่าจะถูกทิ้งให้ตามหลังคู่แข่ง

ทั้งนี้ นายฐิตพลกล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษามุ่งที่จะสำรวจในรายละเอียดเพื่อดูว่าองค์กรธุรกิจสามารถได้รับผลประโยชน์ และเผชิญกับอุปสรรคใดบ้างจาก 5 เทคโนโลยีหลักที่ถือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้และนวัตกรรม ได้แก่ เทคโนโลยีมัลติคลาวด์ เอดจ์ โครงสร้างพื้นฐานโมเดิร์น ดาต้า และการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์

“สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่ใหญ่ยิ่งที่สุดในการปลดล็อกศักยภาพทางนวัตกรรม นั่นคือความซับซ้อนในการทำความเข้าใจหรือใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งความซับซ้อนเหล่านี้ก่อให้เกิดต้นทุนทั้งในด้านเวลา เงิน และโอกาสอันมีค่าในการสร้างนวัตกรรม”