ชงสูตรประมูลคลื่นใหม่ กสทช. เคลียร์ปมเอื้อค่ายมือถือ

ทรูจ่ายค่าประมูล - ยังต้องรอลุ้นว่า ข้อเสนอที่ขอยืดจ่ายค่าประมูลคลื่นงวดที่ 4 ที่ต้องจ่ายในปี 2563 ออกไปเป็น 5 งวดได้ไหม แต่ภารกิจจ่ายค่าประมูลตามรอบงวดเดิมยังคงอยู่ กลุ่มทรูจึงนำเงินค่าประมูลงวด 2 มาจ่ายให้ตามกำหนด

มีให้ต้องรอลุ้นกันอีกหลายยก ทั้งการประมูลคลื่น “ดีแทค” ที่จะหมดสัมปทาน ก.ย.ปีนี้ จะออกหัวหรือก้อย ต้องรอดูว่า บอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบันจะเดินหน้าต่อเพราะมีอำนาจเต็มมือ หรือรอบอร์ดชุดใหม่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงคะแนนเลือกวันที่ 19 เม.ย.นี้ ชงใช้เกณฑ์ประมูลคลื่นเดิม

อย่างไรก็ตาม “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช.ระบุว่า สำนักงาน กสทช.ต้องทำหน้าที่ของตนเอง โดยจะเสนอให้ใช้หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นแบบ เดิมที่แบ่งใบอนุญาตเป็น 3 ใบ ใบละ 15 MHz รวมถึงเสนอให้ตัดสิทธิ์แจส โมบายเข้าประมูลคลื่นครั้งใหม่ด้วย

“ถ้ามีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไปเรื่อย ๆ วันนี้ใช้ N-1 ออกไลเซนส์ใบละ 15 MHz ครั้งต่อไปยกเลิกสูตร N-1 ลุกมาซอยแบ่งไลเซนส์เหลือใบละ 5 MHz เอกชนจะวางแผนธุรกิจยังไง จึงคิดใหม่ว่า ควรใช้หลักเกณฑ์เดิมไปก่อนดีกว่า ส่วนกรณีตัดสิทธิ์แจสฯ เพราะแม้จะมีการชำระค่าเสียหายมาแล้ว แต่ยังไม่มีบทลงโทษอะไรออกมา ถ้าอนุญาตให้เข้าประมูลได้ก็อาจเกิดความไม่มั่นใจกับผู้เข้าประมูลรายอื่นได้”

ส่วนข้อครหา กรณียืดชำระค่าประมูลคลื่นนั้น เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้ทำข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังคณะทำงานที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะทำงาน หลังจากหลายฝ่ายมีข้อท้วงติงว่าเอื้อประโยชน์เอกชน และอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์

ค่ายมือถือไม่ได้ขอพ่วงทีวี

“ที่พูดกันเราเอามือถือไปพ่วงทีวีดิจิทัลนั้นเป็นความเข้าใจผิด เพราะจริง ๆ แล้วค่ายมือถือทำเรื่องเสนอ คสช. ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. ส่วนทีวีดิจิทัลเสนอขอความช่วยเหลือครั้งที่สอง มาในวันที่ 17 ต.ค. ถ้าดูตามวันที่เสนอฝั่งโทรคมนาคมต้องมี ม.44 ออกมาก่อน”

เหตุผลที่ค่ายมือถือยื่นขอยืดชำระการจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHz ในงวดที่ 4 เพราะเห็นว่า การประมูลคลื่นย่านนี้มีราคาสูงผิดกว่าปกติมาก จากราคาเริ่มต้น 12,000 กว่าล้านบาท จบที่

76,000 กว่าล้านบาท สูงขึ้น 6 เท่าตัว เทียบกับผลประมูลคลื่น 1800 MHz ที่เริ่มต้น 16,000 กว่าล้านบาท จบที่ 39,000 กว่าล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 เท่ากว่า ส่วน “ทีวีดิจิทัล” เริ่มต้นที่ 15,000 กว่าล้านบาท จบที่ 50,000 กว่าล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2 เท่า

ย้ำคิดรอบด้านไม่เอื้อใคร

“ที่ผ่านมามีการเรียกประชุมคณะทำงานด้านโทรคมนาคมหลายรอบโดยมีการหารือร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง สตง. กระทรวงการคลัง กระทรวงดีอี และตัวแทนจากสำนักงานเลขาธิการ คสช. มีการหารือร่วมกันหลายครั้ง ซึ่งทางคณะทำงานยังได้ขอความเห็นมายัง กสทช.เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย”

โดย กสทช.ได้เสนอความเห็นไปว่าหากจะมีการขยายงวดชำระออกไปให้ขยาย 3-5 งวด เพราะในหลายประเทศมองว่า ค่าประมูลควรชำระให้เสร็จภายในเวลาไม่เกินครึ่งหนึ่งของระยะเวลาใบอนุญาต

“ของเราอยู่ที่ 15 ปี ถ้าขยายควรถึงแค่ 7.5-8 ปี เท่ากับยืดออกไปอีก5 งวด และไม่ควรทำให้รัฐเสียหาย จึงคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% เหมือนทีวีดิจิทัล”

แจงรัฐไม่เสียประโยชน์

เลขาธิการ “กสทช.” กล่าวว่า ที่ไม่คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 หรือร้อยละ 15 เพราะทั้งคู่ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด มีการวางแบงก์การันตีไว้ครบถ้วนแล้ว และเมื่อสอบถามไปยังผู้ประกอบการได้ข้อมูลว่า เอดับบลิวเอ็นจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 2.5% ต่อปี ส่วนกลุ่มทรูอยู่ที่ 3%

หากตั้งสมมุติฐานว่า ทั้งคู่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ 3% จะได้ข้อสรุปว่า หากยืดการชำระเงินงวดสุดท้ายออกไป 5 งวด กรณี “เอดับบลิวเอ็น” มียอดเงินที่ต้องจ่ายในปี 2563 ที่ 59,574 ล้านบาท เมื่อแบ่งเป็น 5 งวด เท่ากับต้องจ่ายงวดละ 11,914.8 ล้านบาท

ในการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละงวดจะไม่เท่ากัน เพราะมีการหักเงินต้นออกตามงวดที่มีการชำระแล้ว แต่โดยรวมแล้ว ต้องจ่ายดอกเบี้ย 3,574.4 ล้านบาท ส่วนกลุ่มทรูจากยอดเงินที่ 60,218 ล้านบาท รวมแล้วต้องจ่ายดอกเบี้ย 3,613 ล้านบาท

หากรัฐคิดที่ 1.5% เท่ากับน้อยลงไปครึ่งหนึ่ง เหลือ 1,787.2 ล้านบาท สำหรับเอดับบลิวเอ็น และ 1,806.2 ล้านบาท สำหรับกลุ่มทรู แต่ตัวเลขที่ 3% เป็นส่วนที่เอกชนจ่ายดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินจึงไม่ได้ทำให้รัฐเสียหาย เพราะสถาบันการเงินได้

ขณะที่การขยายเวลาในการชำระค่าคลื่นโดยคิดดอกเบี้ย 1.5%เป็นส่วนที่รัฐจะได้

ดันสูตรประมูลคลื่นใหม่

“ฐากร” อธิบายต่อว่า สำนักงาน กสทช. หยิบยกเรื่องที่เอกชนยื่นขอยืดชำระค่าประมูลคลื่นมาพิจารณา เนื่องจาก ในการจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมประมูลคลื่นที่จะหมดสัมปทานในปีนี้ได้ข้อมูลว่า ถ้ามีประมูลในปีนี้อาจมีผู้ประกอบการบางรายตัดสินใจไม่เข้าประมูลด้วยจากภาระที่ต้องจ่ายค่าคลื่นในปี 2563 เป็นจำนวนมาก

“ที่ผ่านมา เขาต้องกู้เงินรวมแล้ว กว่า 1.2 แสนล้านบาท เฉพาะค่าคลื่นที่ประมูลได้ไปก่อนหน้านี้”

โดยในปี 2563 เอดับบลิวเอ็มมีภาระต้องจ่าย 56,000 กว่าล้านบาท ทรู 60,000 กว่าล้านบาท

“แต่พูดแบบนี้ไม่ได้ยืนยันความมั่นใจว่าเขาจะเข้าประมูลหรือไม่ประมูล แต่เป็นการวิเคราะห์ดูโอกาสในการที่จะเข้าประมูล”

นอกจากนี้ หากมีการยืดการชำระค่าคลื่นกับทั้งคู่ สำนักงาน กสทช.ก็จะเสนอให้นำเงื่อนไขนี้ไปใส่ไว้ในเงื่อนไขการประมูลคลื่นในย่าน 1800 และ 900 MHz ที่จะมีขึ้นในอนาคตด้วย เพื่อไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน

“ผู้บริหารดีแทคออกมาบอกว่า เขาไม่ได้ติดใจเรื่องการขยายระยะเวลาในการชำระเงิน แต่ขอให้การขยาย ขยายกับทุกคน และนำไปใส่ในเงื่อนไขการประมูลครั้งต่อไป”

โชว์เม็ดเงินนำส่งแผ่นดินและหากพิจารณารายได้ที่ กสทช.ต้องนำส่งรัฐ โดยเทียบระหว่างไม่มีการขยายเวลาชำระค่าคลื่น และไม่มีการประมูลคลื่นใหม่ รัฐจะมีรายได้รวมที่ 1.6 แสนล้านบาท

แต่หากมีการประมูลคลื่น และขยายเวลาชำระค่าประมูลให้ และทั้ง3 ค่าย เข้าประมูลด้วย โดย 1800 MHz จะมีใบอนุญาต 3 ใบ ในปี 2561 รัฐจะมีรายได้รวม 90,449.87 ล้านบาท

ปี 2562 จะมี 8,602.84 ล้านบาท เพราะไม่มีการจ่ายค่าคลื่นในปีนั้น แต่ปี 2563 มีรายได้ 57,293 ล้านบาท ลดลงเทียบกับกรณีแรก แต่กรณีแรกในปี 2564 ไม่มีรายได้ แต่หากมีการประมูลจะมีรายได้ที่ 56,908 ล้านบาท และปี 2565 ที่ 27,000 ล้านบาท ปี 2566 อีก 26,000 ล้านบาท ปี 2567 อีก 25,000 กว่าล้านบาทรวมแล้วมากถึง 2.9 แสนล้านบาท

“ถ้ามีใบอนุญาต 3 ใบจะดีที่สุด แต่ถ้าเหลือแค่ 2 ใบหรือใบเดียวจะได้เงินเท่าไร เราทำซีนาริโอให้คณะทำงานพิจารณาทั้งหมด โดยส่วนตัวมองว่า รายได้ของรัฐจะมีไลเซนส์ใบเดียวหรือ 3 ใบ ถ้ายืดจ่ายให้ก็ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจที่จะเข้าประมูล ซึ่งรายได้ที่จะได้ไปจนถึงปี 2567 ก็น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มาก ยังไม่พูดถึงว่าคลื่น 45 MHz นี้จะนำไปทำอะไรได้อีกมาก เพราะปี 2563 จะเข้าสู่ยุค 5 จี ที่เป็นโลกยุคใหม่”

ชงแก้ กม.ให้เปลี่ยนมือทีวีดิจิทัล

สำหรับทีวีดิจิทัล “ฐากร” กล่าวว่า นอกจากข้อเสนอให้พักชำระหนี้ 3 ปี และช่วยค่าโครงข่ายภาคพื้นดิน 50% 24 เดือนแล้ว ตนยังเห็นว่า การแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ควรเปิดทางให้ใบอนุญาตเปลี่ยนมือได้ โดยแก้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.อยู่แล้ว

“ถ้าเวลาการประกอบกิจการ10-11 ปี และเปลี่ยนมือได้ คนที่อยู่ไม่ได้อาจบอกว่า ลงทุนไปแล้วพันล้านไม่อยากทำต่อก็น่าจะให้ขายให้คนที่อยากทำ มาทำได้ ไม่งั้นคงต้องใช้มาตรา 44 ช่วยอีกไม่รู้กี่ครั้ง ปีก่อนก็ออกไปแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ถ้าจะแก้อย่างยั่งยืน ควรให้เขาเปลี่ยนมือได้เถอะ ยิ่งในอนาคตข้างหน้าใบอนุญาตควรทำได้ทั้งโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ จากการหลอมรวมของเทคโนโลยี”