สหภาพค้านตั้ง 2 บริษัทลูก แก้ปัญหา “แคท-ทีโอที” ไม่ตรงจุด

ยังคงคัดค้านต่อเนื่องสำหรับการตั้ง 2 บริษัทลูกร่วมทุนรวมทรัพย์สินจาก บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) แยกเป็นบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC Co) โดยเฉพาะจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สร.) ทั้งของแคท และทีโอที โดยมีการรวมตัวกันเดินขบวนจากสำนักงานใหญ่ย่านถนนแจ้งวัฒนะไปยังกระทรวงการคลังและทำเนียบรัฐบาล

“สังวรณ์ พุ่มเทียน” ประธาน สร.แคท กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ต้องรวมตัวพนักงานคัดค้านไม่ใช่เพราะห่วงกระทบผลประโยชน์ตนเอง แต่พิจารณาแล้วว่านโยบายคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริงให้ทีโอทีและแคท แต่เป็นการเปิดทางให้เกิดปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งยังอาจกระทบสถานะทรัพย์สินของรัฐ และประโยชน์ของประชาชนต่อไปในอนาคตอีกด้วย

“ที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าพนักงานไม่ปรับตัว พวกเราพร้อมปรับกันอยู่แล้ว แต่ผู้บริหารรวมถึงบอร์ดที่เข้ามา ซึ่งมีหน้าที่กำกับนโยบาย และบริหารงาน เคยได้เห็นปัญหาที่แท้จริงขององค์กรบ้างหรือไม่ ทุกคนบอกแต่ว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจ ทำงานเช้าชามเย็นชาม แต่เคยลงมาดูหรือไม่ว่าเกิดปัญหาอะไร อย่างเราลงพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้บริการลูกค้า ปรากฏอุปกรณ์ขาดแคลน จัดซื้อก็ทำได้ล่าช้า ไม่ทันความต้องการลูกค้า เกิดผลกระทบกับผู้ใช้บริการ รวมไปถึงปัญหาภาพลักษณ์ แล้วย้อนไปดูไหมว่า 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ แคทรายได้ลดลงตลอด เหตุผลเพราะอะไร ได้มีการลงไปดูไปวิเคราะห์ไหม”

ทั้ง ครม.และ คนร. มุ่งแต่ว่าการตั้ง 2 บริษัทลูกจะแก้ลดความซ้ำซ้อนของแคทกับทีโอที ลดการลงทุนซ้ำซ้อนของประเทศ แต่ปัญหาของ 2 องค์กรใหญ่นี้ไม่ได้มีแค่นั้น ทั้งการตั้ง 2 บริษัทลูกจะยิ่งเพิ่มความซ้ำซ้อนและทำให้กระบวนการทำงานยุ่งยากขึ้นไปอีก

“หนังสือบริคณห์สนธิของทั้งคู่ มีรายละเอียดไม่ต่างกับบริษัทแม่ ตัว NGDC มีเหมือนของแคททุกอย่าง NBN ก็เหมือนทีโอที แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่าต่อไปจะไม่ทำธุรกิจซ้ำซ้อนลงไปอีก ในเมื่อทุกบริษัทก็หวังผลกำไร แม้แต่ขณะนี้ทรัพย์สินของบริษัทลูกยังไม่ได้แยกจากแม่เลย แต่บริษัทแม่กับบริษัทลูกตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงพนักงานก็ยังทะเลาะกันอยู่เลย”

การที่สหภาพออกมาคัดค้านไม่ได้หวังจะชนะใคร แต่หวังว่าปัญหาของทีโอทีและแคทจะได้รับการหยิบยกขึ้นมาหาทางแก้จริง ๆ และมองให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่ใช่แค่ปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อน ไม่ใช่แค่หมดสัมปทานไปแล้ว ปี 2568 จะไม่มีคลื่นเป็นทรัพย์สินในมืออีก และไม่ใช่แค่การแข่งขันกับเอกชนไม่ได้

“แค่ปัญหาว่าแข่งขันกับเอกชนไม่ได้ ก็ต้องไปดูถึงเบื้องหลังว่าทำไม อะไรที่เป็นอุปสรรค รวมถึงแนวทางในการพัฒนามาตรฐานคุณภาพบริการ ดังนั้นการตั้ง 2 บริษัทจึงไม่ตอบโจทย์ได้ถูกจุด และการมุ่งแก้แต่ลดการลงทุนซ้ำซ้อน ไม่ได้ทำให้แก้ปัญหาทั้งหมดได้”

ขณะเดียวกัน ในกระบวนการตั้ง 2 บริษัท เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งตามมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน และเปิดให้มีส่วนร่วมได้ ทั้งปลัดกระทรวงการคลัง ยังระบุในหนังสือตอบกลับเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวกับการตีมูลค่าทรัพย์สินโอนเป็นหุ้นทุน อ้างถึงมาตรา 23 พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 จึงเห็นได้ว่า มุมมองระหว่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แตกต่างกันในเรื่องนี้

โดยกระทรวงดีอีเห็นว่าไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ จึงไม่มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ ในการตั้ง 2 บริษัท มองว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น หากในการหารือร่วมกับปลัดกระทรวงดีอีในสัปดาห์นี้ ยังได้รับการยืนยันจะไม่ดำเนินตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ทางสหภาพอาจจะพิจารณายื่นฟ้องคดีอาญา ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“ผู้บริหารระดับสูงของดีอีมักระบุว่า ไม่มีแคทกับทีโอทีประเทศชาติก็อยู่ได้ ใช่ประเทศอยู่ได้ แต่ใครจะเป็นคนถ่วงดุลอำนาจในตลาดโทรคมนาคม ทุกวันนี้เราอาจไม่รู้สึกอะไรเพราะปกป้องอุ้มเอกชนกันเป็นปกติอยู่แล้ว แล้วก็ปล่อยทีโอทีกับแคทไปตามยถากรรม คอยแต่มาหาประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น”

ส่วนการที่กระทรวงดีอียืนยันว่า นโยบายนี้ไม่ใช่การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ แต่การกระทำคือ “ใช่” หากปล่อยให้มีการโอนทรัพย์สินจากแคท จากทีโอที แปลงเป็นหุ้นเอาไปลงทุนในบริษัทลูกได้ก็เปิดช่องให้บริษัทลูกนำหุ้นไปขายหรือเปิดให้เอกชนร่วมทุนได้ในอนาคต ทรัพย์สินของประเทศก็จะถูกแปลงสภาพไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

“ย้ำเลยว่า เราไม่ได้ต้องการชนะ แต่ต้องการให้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อน และหยิบปัญหามาพิจารณาให้ถูกจุดเท่านั้น ไม่ใช่จะเอาโครงข่าย เอาทรัพย์สินของทั้งคู่ออกไป


แล้วยังจะเริ่มเห็นการดึงบริการของทีโอทีกับแคทออกไปจากบริษัทแม่อีก ส่วนทิศทางต่อไปของสหภาพในกรณีนี้จะเน้นการขอเข้าไปหารือร่วมกับทั้งดีอีและกระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น โดยเอาความจริงมาพูดกัน”