เร่ง “ทีโอที” อัพเกรดโครงข่าย รับเบอร์บ้านสิบหลัก

“กสทช.” เดินหน้าแผนเลขหมายโทรคมนาคม เตรียมปรับเพิ่มเบอร์บ้านเป็น 10 หลัก ขีดเส้นต้องเสร็จภายใน 1 ม.ค. 2564 กระทุ้ง “ทีโอที” ขยับแผนอัพเกรดโครงข่าย “ฟิกซ์ไลน์” ให้เร็วขึ้น ฟาก “ทีโอที” คาดต้องใช้เงินกว่า 7,000 ล้านบาท เร่งประเมินตัวเลขของบฯสนับสนุนจาก กสทช.

พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการใช้งานเลขหมายโทรคมนาคมในปัจจุบัน สำนักงาน กสทช.ประเมินว่าจำนวนเลขหมายที่มีอยู่ไม่น่าเพียงพอในอนาคต จึงวางแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวของประเทศ เสนอให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยปรับเพิ่มจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ (fixed line) จากเดิม 9 หลัก เป็น 10 หลัก ซึ่งจะทำให้มีจำนวนเลขหมายโทรคมนาคมเพียงพอใช้งานไปอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยจิตร รองเลขาธิการ สายงานโทรคมนาคม กสทช. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงาน กสทช.ทำหนังสือแจ้งไปยังสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ถึงแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวของประเทศไทยที่จะทำให้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 จำนวนเลขหมายโทรศัพท์ในไทยทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และประจำที่ (fixed line) มีจำนวน 10 หลักเท่ากัน เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อ 6 ก.ย. 2560 และมติที่ประชุม ครม.เมื่อ 12 ธ.ค. 2560 ขีดเส้นต้องเสร็จใน 1 ม.ค. 64

ที่มีการมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) บมจ.ทีโอทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมดำเนินการปรับปรุงให้โครงข่าย fixed line ของทีโอทีพร้อมรองรับการให้บริการตามแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวของประเทศไทย ภายใน 1 ม.ค. 2564

“ตามหลักเกณฑ์ ITU แต่ละประเทศเมื่อจะปรับเปลี่ยนระบบโทรคมนาคมต้องแจ้งล่วงหน้า 2 ปี เพื่อให้ประสานแต่ละประเทศทั่วโลกรับทราบและปรับระบบให้รองรับ เมื่อแจ้งไปแล้วก็ต้องดำเนินการให้ทันตามแผนงานที่ระบุไว้”

ปัจจุบัน กสทช.ทำรายงานแจ้งความคืบหน้าเข้าที่ประชุมบอร์ดดีอีทุกครั้ง แต่การปรับปรุงตามแผนเป็นหน้าที่ของทีโอทีที่จะปรับปรุงโครงข่าย fixed line ของตนเอง และที่รับมอบมาหลังหมดสัมปทานจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้เป็นโครงข่าย NGN network new generation รองรับการปรับเพิ่มเลขหมายจาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก และถือเป็นการปรับปรุงโครงข่ายเดิมที่มีอายุใช้งานหลายสิบปีให้รองรับเทคโนโลยีใหม่เพิ่มขึ้น

นอกจากทำให้ทั้งประเทศมีเลขหมายโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจของทีโอทีอีกด้วย จากเดิมที่บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามาทดแทน fixed line อย่างสมบูรณ์แล้ว ไม่ใช่ทำเพื่อเอื้อผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่อย่างใด

“ถ้าทีโอทีไม่ลงทุนปรับเปลี่ยน ธุรกิจ Fixed line จะตายในไม่ช้า ปัจจุบันแทบไม่มีคนใช้ เมื่อมือถือทดแทนได้ แถมถูกกว่าfixed line ปัจจุบันยังเสียค่าโทร.ข้ามพื้นที่ 3-18 บาทต่อนาที แค่จังหวัดติดกัน เป็นความไม่เท่าเทียมกันในมาตรฐานบริการที่ประชาชนควรได้ แม้แต่เอกชนเบอร์ fixed line ยังสำคัญ ถ้าย้ายสำนักงานจากธนบุรีไปฝั่งพระนครยังใช้เบอร์เดิมไม่ได้ ต้องขอเลขหมายใหม่”

ชี้ลดต้นทุน-เพิ่มขีดแข่งขัน

ปัจจุบันทีโอทีต้องสต๊อกเลขหมายโทรศัพท์ fixed line ไว้จำนวนมาก ราว 8 ล้านเบอร์ แต่มีการใช้จริงแค่ 2 ล้านเลขหมาย เท่ากับมีต้นทุนที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายทิ้งไปเดือนละ 5-6 ล้านบาท และไม่สามารถเพิ่มบริการใหม่ได้ ขณะที่เอกชนรายอื่น เช่น 3BB, เอดับบลิวเอ็น ต่างมีบริการ fixed line บน NGN network รองรับบริการได้หลากหลาย โดยคิดค่าโทร.ถูกกว่า และเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังไม่ก่อให้เกิดความสับสนในการใช้เลขหมายโทรคมนาคมระหว่างประเทศอีกด้วย ต่างจากปัจจุบันเวลาต่างประเทศโทร.มาไทยจะมีจำนวนดิจิตแตกต่างกันระหว่างการเรียกเข้าเบอร์ fixed line กับเบอร์มือถือ ถ้าจะแก้ปัญหาเลขหมายขาดแคลนด้วยการเพิ่มจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็น 11 หลัก จะยิ่งมีความแตกต่างของจำนวนดิจิตของทั้ง 2 ระบบมากขึ้น และกระทบผู้ใช้บริการกว่า 120 ล้านเลขหมาย ขณะที่ผู้ใช้ Fixed line มีแค่ 2 ล้านกว่า รวมถึงการปรับปรุงโครงข่ายใหม่ยังช่วยเพิ่มความมั่นคงทางธุรกิจให้บริการ fixed line ด้วย

นายก่อกิจกล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือทีโอทีมีแผนปรับปรุงโครงข่าย fixed line เป็น NGN network new generation อยู่แล้ว แต่จะเสร็จในปี 2567 ถ้าขยับแผนให้เร็วขึ้นก็ไม่น่ากระทบแต่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นและประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น

“แค่ทีโอทีขยับแผนเร็วขึ้นให้เสร็จปี 2563 ก็ประหยัดต้นทุนค่าเลขหมายที่เสียเปล่าไปได้กว่า 2,000 ล้านบาท หากคิดว่าการลงทุนปรับปรุงโครงข่ายไม่ควรใช้เงินตัวเอง จะให้ กสทช.ซัพพอร์ตโครงข่ายที่ตัวเองเอาไปทำธุรกิจได้ก็ให้เสนอกระทรวงดีอี เสนอเข้า ครม.ให้สั่งการลงมา กสทช.ยินดีปฏิบัติตาม”

เบอร์บ้านเพิ่ม 50 ล.-มือถือ 500 ล.

แหล่งข่าวจาก กสทช.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เหลือเพียงพอจัดสรรอีก 30 ล้านเลขหมาย ขณะที่แต่ละปีมีผู้ประกอบการยื่นขอจัดสรรเลขหมายใหม่ราว 5 ล้านเลขหมาย จึงคาดว่าจะมีเลขหมายเพียงพอสำหรับจัดสรรได้อีกไม่กี่ปี แม้สำนักงาน กสทช.จะปรับปรุงระบบการส่งคืนเลขหมายที่ไม่ได้ใช้ให้ยืดหยุ่น แต่ข้อจำกัดทางเทคนิค การส่งคืน

จึงยังต้องมาเป็นลอตรวมชุดเลขหมายที่อยู่ติดกันทีละหมื่นเบอร์ ไม่สามารถทยอยคืนทีละเบอร์ที่ไม่ใช้ได้ ส่วนแนวทางการเพิ่ม fixed line เป็น 10 หลัก เป็นการเพิ่มเลข 1 หลังเลข 0 เช่น ในกรุงเทพฯ เป็น “012-xxx-xxxx” ทำให้มีเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่เพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านเลขหมาย รวมเป็นในระบบ 100 ล้านเลขหมาย ขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่จะเพิ่มขึ้น 500 ล้านเลขหมาย