กสทช. กับตรรกะประหลาดเพื่อ “อุ้ม” ผู้ประกอบการ 4G

 

โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

​หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลแถลงว่า นายกรัฐมนตรีให้แนวนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และการขอยืดจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 4G ของเอไอเอสและทรูว่า ให้คำนึงถึงหลักการ 2 ประการ คือ 1. ต้องให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ทั้งนี้เอกชนต้องยอมรับความจริงเรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจและ 2. ต้องไม่ให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหาย

​ถ้อยแถลงดังกล่าวชี้ว่า นายกรัฐมนตรีสามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏข่าวว่า เลขาธิการ กสทช. ยังพยายามเตรียมเสนอรัฐบาลให้ “อุ้ม” เอไอเอสและทรูในแนวทางที่แตกต่างจากหลักการดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยอ้างข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง เพราะยืนยันที่จะเสนอให้รัฐบาลยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้ายออกไป โดยอ้างว่าจะทำให้

1. รัฐบาลมีรายได้ประมาณ 3,600 ล้านบาทจากดอกเบี้ย 1.5% ตามอัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย แทนที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการ 2 รายไปกู้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ได้รายได้ดังกล่าว
2. รัฐบาลน่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่น 4G ย่าน 1800 MHz ที่จะจัดขึ้น เป็นเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย แต่รัฐอาจไม่ได้รายได้ดังกล่าว หากไม่ยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้าย

ที่ผมกล่าวว่า ข้อเสนอของเลขาธิการ กสทช. แตกต่างจากแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี และอยู่บนข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง ก็ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
เอกชนต้องสามารถประกอบธุรกิจได้

ผู้ประกอบการทั้งสองรายคือ เอไอเอสและทรู ไม่ได้มีปัญหาในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด เอไอเอสยังเป็นอันดับ 1 ของตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย และมีผลกำไรมหาศาลถึง 3 หมื่นล้านบาทในปี 2560 แม้จะลดลงจากก่อนหน้านั้นไปบ้าง

ส่วนทรูนั้น แม้จะมีกำไรน้อยกว่าเอไอเอสมาก แต่ก็ยังมีกำไร 2.3 พันล้านบาทในปี 2560 ที่สำคัญ ทรูมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 18.8% เมื่อไตรมาส 2/2558 เป็น 26% ในไตรมาส 2/2560 และแจ้งต่อนักลงทุนว่า สามารถเพิ่มลูกค้าได้ 2.7 ล้านรายในปี 2560 ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นมีลูกค้าลดลง
ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไป “อุ้ม” ทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทยังดำเนินธุรกิจได้ดี

ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

​จากผลประกอบการที่ดีดังกล่าว นักลงทุนจึงยังคงมีความเชื่อมั่นต่อทั้ง 2 บริษัท ซึ่งสะท้อนจากมุมของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายที่ระบุว่า ฐานะทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทยังแข็งแกร่ง แม้รัฐบาลจะไม่ยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น

​ที่สำคัญกว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบางบริษัทคือความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย การที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎกติกาหรือเงื่อนไขที่ออกมาแล้ว อันเป็นผลจากการเรียกร้องของผู้ประกอบการบางรายโดยไม่มีเหตุผลอันควร จะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่า ประเทศไทยไม่มีหลักการที่ชัดเจน สามารถต่อรองได้หากมีเส้นสาย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ลังเลที่จะมาลงทุนในประเทศไทย

เอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงปกติทางธุรกิจ

ในระบบตลาดเสรี ย่อมไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ผู้ประกอบการจะต้องได้รับกำไรเสมอไป เพราะการประกอบธุรกิจทั้งหลายย่อมมีความเสี่ยงทางธุรกิจตามปรกติ (normal business risk) ซึ่งเอกชนจะต้องแบกรับเอง รัฐไม่ได้มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการทุกรายให้ไม่ขาดทุน หากสาเหตุของการขาดทุนนั้นไม่ได้มาจากรัฐหรือกฎระเบียบของรัฐ (regulatory risk)

ในกรณีนี้ เอไอเอสและทรู เสนอราคาในการประมูลโดยสมัครใจและเข้าใจเงื่อนไขการผ่อนชำระค่าประมูลเป็นอย่างดี จึงควรต้องยอมรับความเสี่ยงปรกติทางธุรกิจต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตน

ผลประโยชน์ของรัฐต้องไม่เสียหาย

​เงื่อนไขการประมูลกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากชำระค่าประมูลล่าช้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ไม่ใช่ 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช. เสนอ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในกรณีนี้คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอของ กสทช. ก็จะเป็นการยกผลประโยชน์มหาศาลให้เอกชนทั้งสอง

​ อัตราดอกเบี้ย 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช.ยกมา เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้กันในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลด้วย ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลปล่อยให้ทั้ง 2 รายกู้ในอัตราดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้ดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ตามสัญญาแล้ว ยังขาดทุนทางการเงินด้วย การอ้างว่า รัฐจะมีรายได้จากดอกเบี้ยถึง 3,600 ล้านบาทจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง

​ผู้ประกอบการทั้งสองรายออกแถลงการณ์ชี้นำให้สังคมเข้าใจว่า การผ่อนชำระค่าประมูลคลื่นดังกล่าว “ไม่ได้เป็นการขอลดค่าประมูลคลื่น” เป็นแต่เพียงการ “ขยายเวลา” เท่านั้น ไม่ได้ทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์ คำกล่าวอ้างดังกล่าวก็ไม่เป็นความจริงเนื่องจากการขยายเวลาโดยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำมาก ก็มีผลเหมือนการขอลดค่าประมูลคลื่น ซึ่งทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย การขอใช้มาตรฐานเดียวกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเพราะ “ต่างได้ใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นจากกสทช. มาเช่นเดียวกัน” ก็ไม่สมเหตุผล เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากการดำเนินการที่บกพร่องของ กสทช. ในขณะที่ เอไอเอสและทรูมีกำไรและไม่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของ กสทช.


เอไอเอสและทรูยังอ้างว่าสามารถกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ได้ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3-4% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มาก หากเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการทั้งสองรายก็สมควรไปกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เพื่อมาชำระค่าประมูล ไม่ใช่ให้รัฐปล่อยกู้ในอัตราขาดทุน โดยผู้เสียภาษีเป็นผู้แบกรับภาระแทน
การเข้าร่วมประมูลคลื่นในอนาคต