คุยกับ “ซิคเว่ เบรคเก้” อนาคต “ดีแทค” ในยุคเปลี่ยนผ่าน

สัมภาษณ์

มีแรงกระเพื่อมอย่างต่อเนื่องกับ “ดีแทค” อดีตมือวางอันดับสองของตลาดมือถือบ้านเรา นับตั้งแต่แพ้ประมูลคลื่นถึงสองครั้งสองครา จนตกชั้นมาอยู่อันดับสาม แม้ที่ผ่านมาจะพยายามบอกว่าให้ความสำคัญกับส่วนแบ่งการตลาดในแง่รายได้มากกว่าจำนวนลูกค้า และมีเป้าหมายเป็นแบรนด์ดิจิทัลอันดับหนึ่ง

ล่าสุด สัมปทานคลื่น 1800 MHz จะหมดอายุเดือน ก.ย.นี้ ขณะที่การประมูลคลื่นใหม่ยังไม่ชัดเจน แถมซีอีโอ “ลาร์ นอร์ลิ่ง” ยังตัดสินใจลาออก ต้องสรรหาแม่ทัพใหม่มารับช่วงภารกิจในช่วงเวลาที่ยากยิ่ง

ปีสองปีมานี้ถือเป็นปีที่หนักหนาสำหรับ “ดีแทค” มีคำถามมากมายถึงอนาคตและนโยบายการลงทุนในประเทศไทยของบริษัทแม่อย่างกลุ่มเทเลนอร์

จังหวะนี้คงไม่มีใครตอบสารพัดคำถามเหล่านี้ได้ดีไปกว่า “ซิคเว่ เบรคเก้” อดีตซีอีโอ “ดีแทค” ซึ่งปัจจุบันขยับขึ้นไปนั่งในตำแหน่งประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ปในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทย

Q : เทเลนอร์ยังจะลงทุนในไทยต่อ

เราลงทุนในไทยมา 18 ปี และมักได้รับคำถามเสมอว่ายังลงทุนอยู่ไหม แน่นอนเราจะยังลงทุนต่อ ไม่ขายหุ้นแน่ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำรายได้เป็นอันดับ 2 ของกลุ่มเทเลนอร์ เป็นรองแค่นอร์เวย์เท่านั้น ดังนั้นตลาดประเทศไทยมีความสำคัญสำหรับเรา

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนไปมาก ดังนั้นเราต้องโพซิชั่นตนเองใหม่ และต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

เทเลนอร์ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 บริษัทเทเลคอมที่ปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลคอมปะนี โดยใช้เทคโนโลยีเอไอและแมชีนเลิร์นนิ่งมาใช้ในการนำเสนอบริการให้ลูกค้าได้ตรงตามความต้องการของแต่ละบุคคล และเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เทเลนอร์ก็จะทดลองใช้กับดีแทคเป็นที่แรก เช่น บริการไลน์ โมบาย (LINE Mobile) เป็นต้น

เมื่อสำเร็จก็จะขยายไปใช้ในประเทศอื่นในเครืออย่างไลน์ โมบาย มีใช้ในบังกลาเทศแล้ว

สำหรับดีแทคตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับองค์กร มีการลดคน แต่ไม่ได้เพื่อลดต้นทุน แต่กำลังทรานส์ฟอร์ม เพื่อให้ดีแทคมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้เคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น

เราศึกษาแนวทางจากบริษัทระดับโลกอย่าง กูเกิล อเมซอน ในการเปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจ เราสนับสนุนสตาร์ตอัพ และเพิ่มช่องทางการขายดิจิทัล ทำให้เห็นโฆษณาบนสื่อหลักน้อยลง เพราะเน้นสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลโดยตรง เพื่อที่จะใช้ช่องทางดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Q : เสียมาร์เก็ตแชร์ไปเยอะ จะทำอย่างไรต่อ

การที่เราเสียมาร์เก็ตแชร์ ต้องบอกว่า ผมเองก็ไม่ได้พอใจสถานการณ์แบบนี้ แต่โฟกัสระยะยาวมากกว่าตัวเลขในแต่ละไตรมาส เพราะต้องการอยู่ต่อไปในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

ตอนนี้ตลาดเปลี่ยนไปเป็นโพสต์เพด (บริการแบบรายเดือน) ไม่ใช่พรีเพด (เติมเงิน) เหมือนสมัยก่อน เรียกว่าเริ่มมีความใกล้เคียงกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ทำให้การแข่งขันอยู่ที่เรื่องบริการ

ตอนนี้ลูกค้าคนไทยมีการใช้ดาต้ามากถึง 6 GB ต่อเดือน มากกว่าคนในสแกนดิเนเวียที่ใช้ 3 GB ต่อเดือน

Q : ดีแทคผ่านจุดรุ่งเรืองมาแล้ว

เรามองว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ที่ดีแทคให้บริการพรีเพดรายแรกในไทย ตอนนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ตอนนี้ดีแทคกำลังโฟกัสในระยะยาว โดยเราจะเป็น digital service provider และกลับมาอยู่จุดเดิมให้ได้อีกครั้ง

ปัจจุบันนี้ดีแทคมีรายได้จากโพสต์เพดเกิน 50% เราจะโฟกัสที่โพสต์เพด ลดการซับซิไดซ์ค่าเครื่อง หันมาโฟกัสที่ความสัมพันธ์ของลูกค้าในระยะยาว

Q : กลยุทธ์ต่อไป

กลยุทธ์ที่จะทำต่อไปในอนาคตมี3 เรื่อง 1.good data network ซึ่งเทเลนอร์ได้ทดลองบริการ 5G ในนอร์เวย์แล้ว เมื่อพร้อมจะนำมาใช้ในประเทศอื่น ๆ แน่นอน 2.การใช้เอไอ แมชีนเลิร์นนิ่ง ในการทำความเข้าใจลูกค้าให้มากขึ้นเป็นรายบุคคล เพราะการแบ่งกลุ่มลูกค้าเเบบเดิม ๆ ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว

และ 3.ด้าน IOT (Internet of things) เทเลนอร์ได้ลงทุนในประเทศสวีเดนและนอร์เวย์ เรื่องสมาร์ทซิตี้ และเฮลท์แคร์ เป็นต้น และจะขยายการลงทุนไปในกลุ่มอื่น ๆ ด้วย

Q : ไม่กลัวคู่แข่งใช้เรื่องคลื่นชิงลูกค้า

เราไม่ทราบว่า กสทช.จะประมูลคลื่น 1800 MHz ทันในปีนี้หรือไม่ แต่เราไม่ห่วง เพราะ กสทช.มีมาตรการเยียวยาที่ต้องดูแลลูกค้าที่ยังตกค้างจึงไม่กังวลเรื่องลูกค้าที่จะหมดความมั่นใจ หรือกังวลว่าคู่แข่งจะใช้จุดนี้มาโจมตี เพราะตลาดดุเดือดอยู่แล้ว อีกทั้งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ทั้งทรูและเอไอเอสเคยเจอมาหมดแล้ว แต่ถ้าสามารถประมูลคลื่นได้เร็วก็จะดีกว่า

Q : หารืออะไรกับภาครัฐบ้าง

ได้มีการพูดคุยกับนายสมคิดจาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ใน 3 ประเด็นใหญ่ ๆ 1.ดีแทคจะมีส่วนในการส่งเสริมโครงการดิจิทัลพาร์ค ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor (EEC) อย่างไรได้บ้าง 2.เรื่องการลงนามสัญญาการเป็นพันธมิตรคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ กับ บมจ.ทีโอที ซึ่งท่านรองนายกฯ มองว่าดีลนี้มีประโยชน์ต่อทั้งทีโอที ประเทศชาติ และผู้บริโภค ดังนั้นจึงจะช่วยดูเรื่องขั้นตอนการอนุมัติ และที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และ 3.แนวทางของ กสทช.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการประมูลคลื่นครั้งใหม่ที่ยังไม่แน่ชัด ว่าจะมีการแบ่งคลื่นเป็น 9 ใบ ใบละ 5 MHz ตามที่เคยเปิดฟังความคิดเห็น หรือกลับไปแบ่ง 15 MHz 3 ใบอนุญาต

ถ้าเป็น 3 ใบจะก่อให้เกิดดีมานด์เทียมหรือภาระทางการเงินที่เกินความจำเป็นได้ จึงอยากได้ความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็น 5 MHz ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเราจะเข้าประมูลกี่ใบ เพราะต้องดูราคา รวมทั้งเงื่อนไขการประมูลอื่น ๆ ด้วย

สิ่งที่เราอยากเห็นมาตลอดคือ โรดแมปการประมูลคลื่นเพื่อวางแผนการลงทุนในระยะยาวได้

Q : ซีอีโอดีแทคใหม่


มีตัวเลือกแล้ว 5-6 คน