ข้อกฎหมายเบื้องต้นที่ “พ่อค้า-แม่ค้า” ขายของออนไลน์ควรต้องรู้

ข้อกฎหมายเบื้องต้นที่

“ค้าขายออนไลน์” กลายเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักที่มาแรงยุคนี้ ด้วยเทคโนโลยีและการแข่งขันของอีมาร์เก็ตเพลซที่แห่เข้ามาในไทย ไม่นับโซเชียลคอมเมิร์ซที่มาแรงเช่นกัน ด้วยจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยที่มากเป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก

ท่ามกลางการเติบโต ก็มีปัญหาโดนจับ โดนฟ้องร้อง โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมกฎหมายเบื้องต้นที่นักขายออนไลน์ควรรู้

การใช้ภาพโปรโมตต้องระวัง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์

“ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ”ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไซเบอร์เปิดเผยว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ต อันดับแรกคือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ซึ่งเกี่ยวกับคอนเทนต์และเนื้อหาที่จะนำมาใช้เสนอขายสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือคลิป หลักการคือ รูปภาพหรือคลิป ควรถ่ายด้วยตนเอง หรือได้รับอนุญาตให้ใช้อย่างถูกต้อง ทุกครั้งที่นำภาพคนอื่นมาใช้ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาให้ชัดเจนว่ามาจากที่ไหน ระบุเป็น link URL ที่ให้คนกดย้อนกลับไปดูที่ต้นตอได้ ไม่ใช่อ้างกว้าง ๆ แค่จากเฟซบุ๊ก, ไอจีหรือยูทูบ ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับหรือจำคุก ตามมาตรา 53/1 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

“ถ้าไม่ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าของภาพหรือคลิปก่อนนำมาเผยแพร่ ต่อให้มีการระบุที่มาอ้างอิงไว้ ก็ไม่รอด ถ้านำมาใช้เพื่อการค้า การนำมาใช้ประกอบการขายสินค้าออนไลน์ของตนเอง เข้าข่ายแน่นอน ถ้าเป็นการนำมาจากเฟซบุ๊กหรือ IG ส่วนตัว ที่ไม่ได้ตั้งค่าเปิดเผยเป็นสาธารณะมีโอกาสที่จะเป็นปัญหาเป็นลักษณะการอ้างอิงว่าผู้มีชื่อเสียงคนนี้ก็ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ แล้วมีการใส่ link ภาพจากเฟซบุ๊ก หรือ IG ของบุคคลนั้น ที่ตั้งค่าเปิดเป็น public ไว้ โดยที่ไม่มีการทำซ้ำ แก้ไขดัดแปลงรูปภาพใด ๆ”

ส่วนกรณีที่ผู้ขายรายย่อยนำภาพจากเว็บไซต์ทางการของแบรนด์สินค้าที่นำมาขายก็ทำได้ แต่ต้องอ้างอิงใส่เป็น link ไว้ และห้ามดัดแปลงแก้ไขรูปใด ๆ

การดัดแปลงแก้ไขงานที่มีลิขสิทธิ์ ถ้าทำเพื่อการค้ามีโทษปรับ 1 แสน-8 แสนบาท หรือจำคุก 6 เดือน- 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นการดัดแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นข้อมูลบริหารสิทธิ์ของเจ้าของภาพ อาทิ ลบรูปลายน้ำที่ใส่ไว้ในภาพ ลบเครื่องหมายสัญลักษณ์ที่ทำให้ระบุได้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของนำมาใช้โฆษณาถือว่าทำเพื่อการค้า โทษเพิ่มขึ้น คือจำคุก 3 เดือนถึง 2 ปี หรือปรับ 50,000-400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“อย่างกระแสออเจ้ามาแรง พ่อค้าแม่ค้านำรูปเบลล่า-ราณี ในละคร ไปตัดต่อคู่กับผลิตภัณฑ์ตัวเองถือว่าผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ชัดเจน เพราะภาพจากละครมีลิขสิทธิ์ ดังนั้นจะเห็นสิ่งที่แบรนด์ใหญ่ ๆ ทำ คือ ใช้เป็นแคปชั่นเฉพาะคำ ไม่ใช้ภาพในละคร เช่น ใช้มาสคอตแบรนด์ถือป้ายคำว่า ออเจ้า ฉากหลังเป็นภาพเรือนไทย แบบนี้เรียกว่าเกาะกระแสแบบถูกกฎหมาย”

ภาพละครเป็นงานศิลปกรรม ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ หากมีการทำซ้ำ แก้ไข ดัดแปลง งานของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรา 27 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

โฆษณาต้องไม่เกินจริง

ขณะที่เนื้อหาที่ใช้โฆษณาต้องไม่เกินจริง โดยมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ดูแลอยู่ ส่วนการใช้เน็ตไอดอลหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์มาโฆษณาแบบล่อแหลมอนาจาร มี พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ่วงมาด้วย

“เจ้าของสินค้าต้องระวังทั้งในส่วนที่ตัวเองโฆษณา และในส่วนที่เปิดให้ลูกค้าคอมเมนต์ในช่องทางขายของ รวมถึงการจ้างเน็ตไอดอลมารีวิวสินค้าด้วยว่า มีการพาดพิงถึงสินค้าตัวอื่นหรือไม่ เพราะอาจเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จหรือบิดเบือนได้ จะเข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถ้ามีการใส่ความให้แบรนด์อื่นเสียหาย ก็เข้าข่ายหมิ่นประมาท”

ห้ามขาย “ยา” ออนไลน์

กรณีขายสินค้าแบรนด์เนมถ้าสิ่งที่นำมาขายไม่ได้เป็น “ของปลอม” ต่อให้ไม่ได้เป็นผู้แทนจำหน่ายในไทยอย่างเป็นทางการก็ขายได้ ไม่ผิดกฎหมายเครื่องหมายการค้า เพราะกฎหมายไทยไม่มีระบุความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าซ้อน

สำหรับสินค้าฮอตฮิตอย่างเครื่องสำอาง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยหลักการถ้านำมาใช้เอง หรือขายกันเองในหมู่เพื่อนฝูงคนรู้จักไม่ผิด แต่ถ้าขายต่อสาธารณะ เป็นร้านค้าจะผิด พ.ร.บ.เครื่องสำอาง เพราะต้องมีใบอนุญาตขาย มีใบอนุญาตนำเข้า ผลิตภัณฑ์ที่ขายต้องมีการจดแจ้งกับ อย. รวมถึงพวกยาและอาหารเสริมโดยเฉพาะการขายสินค้าประเภทยา

อย.ไม่อนุญาตให้ขาย “ยา” ผ่านอินเทอร์เน็ต ตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ยา เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ปฏิบัติวิชาชีพโดยตรง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และอาจมีความผิดฐานโฆษณายา โทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท แต่อาหารเสริมเข้าข่ายเป็นวิตามินบำรุงขายผ่านออนไลน์ได้

การเสียภาษีจากการขายของออนไลน์

เมื่อค้าขายออนไลน์สร้างรายได้ให้มาก ตามหน้าที่พลเมืองสิ่งที่ต้องทำคือ เสียภาษี กรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องนำรายได้จากการขายของออนไลน์ไปรวมกับรายได้แหล่งอื่นถ้ามี อาทิ เงินเดือน ดอกเบี้ย แล้วยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 94 ตั้งแต่ก.ค.-ก.ย.ของทุกปี และยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 เพื่อประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ในม.ค.-มี.ค.ของปีถัดไป

การประเมินภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา มี 2 ทาง คือ 1.หักค่าใช้จ่ายตามจริงออกจากรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ ต้องมีใบเสร็จประกอบ หรือ 2.หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ถ้าเป็นประเภทซื้อมาขายไป หักเหมาได้ 60% ของรายได้ จากนั้นเมื่อหักค่าลดหย่อนอื่นแล้ว มีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท เสียภาษี 5% เพดานสูงสุดคือเงินได้สุทธิเกิน 5 ล้านบาทเสียภาษี 35%

และการค้าขายออนไลน์มีกฎหมาย 2 ฉบับที่บังคับโดยตรง คือ การขึ้นทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันมีผู้ค้าแค่ 30% ที่ขึ้นทะเบียน และต้องขึ้นทะเบียนขายตรงกับตลาดกับสคบ. ด้วย


“คนทำถูกต้องน้อยมาก โทษปรับหลักร้อยบาทต่อวัน ในต่างประเทศถ้าขึ้นทะเบียนจะมีส่วนลดภาษีให้ ถ้ารัฐจูงใจได้ก็จะทำให้มีคนมาขึ้นทะเบียนมากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาก็จะมีผู้รับผิดชอบที่มีตัวตนชัดเจน ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น”