กฎหมายคุมแพลตฟอร์ม OTT สะดุด

4 กสทช.

4 กสทช. แถลงความคืบหน้าของภารกิจ กสทช. ชูร่างแผนโทรคมนาคมฉบับที่ 4 เตรียมประมูลวงโคจรดาวเทียม สะดุดกฎหมายคุมแพลตฟอร์ม OTT-งบฯตั้งกลุ่มวิชาชีพสื่อ-รายการทีวีเพื่อสังคมและเด็ก หวั่นโยกย้ายผู้บริหารภายในทำภารกิจสะดุด

วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ว่า กรรมการ กสทช. 4 คน ได้แก่ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต. กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์, พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ. กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย. กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านโทรคมนาคม ได้แถลงผลดำเนินการตามภารกิจของ กสทช.ด้านต่าง ๆ

โดยความคืบหน้าสำคัญ อยู่ที่การเตรียมร่างแผนแม่บทโทรคมนาคม ฉบับที่ 4 ระยะ 5 ปี เริ่มใช้ปี 2567 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง 6G

รศ.ดร.สมภพ ยังกล่าวด้วยว่า ภายในปีหน้ามีเรื่องที่ต้องเร่ง 4 เรื่อง คือ

  1. เรื่องการเร่งประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่ยังเหลืออยู่  2 ชุด คือวงโคจร 142 องศาตะวันออก และ 50-50.5 องศาตะวันออก
  2. เรื่องการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งใช้สัญญาณโทรคมนาคมของไทยที่มีการลักลอบหันเสาสัญญาณส่งไปตามชายแดน และยังรวมถึงจุดเชื่อมต่อสายเคเบิลที่ถูกแก๊งอาชญากรรมนำไปใช้
  3. การจัดระเบียบสายสื่อสาร ที่มีการประสานงานกับหลายหน่วยงานและจะมีความชัดเจนขึ้น
  4. การประมูลคลื่น 3500MHz Private 5G เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมโดยเร็ว ในเบื้องต้นมีการพูดคุยนอกรอบสำรวจความต้องการ จากภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโอเปอร์เรเตอร์ หรือฝั่งของกระทรวงอุตสาหกรรม คงจะมีการเฮียริ่งอย่างเป็นทางการในระยะใกล้

ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ได้กล่าวถึงแผนการร่างประกาศ เพื่อใช้กำกับดูแลแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง OTT ซึ่งได้มีการจัดทำแล้วเสร็จทุกขั้นตอนรวมถึงการจัดรับฟังความคิดเห็นครบถ้วนแล้ว ซึ่งได้เสนอเข้าสู่วาระการประชุมรอบแรกก่อนวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566

ซึ่งเป็นวันที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้เป็นเส้นตายของธุรกิจที่ให้บริการดิจิทัลหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลมาจดแจ้ง ตาม พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565

ADVERTISMENT

โดย กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ยืนยันอำนาจในการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT เนื่องจากเข้าข่ายการแพร่ภาพในกิจการโทรทัศน์ แต่ยังขาดหลักเกณฑ์ที่ใช้กำกับดูแล จึงให้ กสทช. ร่างหลักการให้ทัน

กสทช.พิรงรอง กล่าวว่า ร่างประกาศหลักเกณฑ์คุม OTT ยังไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช. เนื่องจากได้รับแจ้งว่าต้องชี้แจงนิยามความหมายของคำว่า OTT VOD และอื่น ๆ ซึ่งเป็นคำใหม่ยังไม่ถูกบัญญัติเป็นภาษาไทย จึงไม่ทันช่วงเดือนพฤศจิกายน ทำให้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็น OTT จำนวนหนึ่งยังไม่ไปจดแจ้งเพื่อเข้าสู่กลไกการควบคุม

ADVERTISMENT

“ทีมงานได้ดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์ และชี้แจงการนิยามครบถ้วนแล้ว ยังอยู่ในขั้นตอนขอเข้าบรรจุในวาระประชุม”

นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการของบสนับสนุนให้องค์กรวิชาชีพสื่อได้ใช้เพื่อจัดตั้งกลไกการควบคุมดูแลมาตรฐานจริยธรรมสื่อด้วยกัน ทั้งยังต้องขออนุมัติเงินสนับสนุนการผลิตรายการเพื่อประโยชน์สาธารณะ สื่อในท้องถิ่น รายการสำหรับเด็ก รวมถึงการสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ชุด (ซีรีส์) ที่ช่วยสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

“ส่วนสำคัญคือการหารือเกี่ยวกับนิยาม วัตถุประสงค์ และเนื้อหาที่แนบอยู่ในกฎหมายกองทุน USO (การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม Universal Service Obligation) ซึ่งเดิมเคยแยกกันเป็น 2 ส่วน ระหว่างกิจการกระจายเสียง-โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้สอดคล้องกัน เพราะตอนนี้ กสท. และ กทช. รวมกันเป็น กสทช. นานแล้ว”

กสทช. พิรงรอง ยังกล่าวเสริมด้วยว่า การดำเนินการหลายส่วนอาจมีความล่าช้าทางด้านเทคนิคหรือข้อกฎหมาย รวมถึงเกิดจากมีการโยกย้ายตำแหน่งผู้บริหารระดับผู้อำนวยการสำนักบางคนที่เชี่ยวชาญงานเฉพาะทางไปงานส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน OTT รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่กำลังศึกษาด้านการสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติ และการศึกษาฉากทัศน์ของกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลที่กำลังจะหมดอายุใบอนุญาตในปี 2572