ภารกิจเพิ่มขีดแข่งขันดิจิทัล เร่งสปีดขยับอันดับไทยขึ้นท็อป 30

เสวนาETDA

ปัจจุบันขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไม่ได้วัดกันที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ มูลค่าการส่งออก หรือการมีบทบาทบนเวทีโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถทาง “ดิจิทัล” ทั้งในแง่ของการประยุกต์ใช้และพัฒนานวัตกรรมใหม่ภายในประเทศ

ล่าสุดสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เปิดเผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล เน้น 10 ตัวชี้วัด โดยเฉพาะธุรกรรมทางออนไลน์ โดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ประจําปี 2566 ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับ 35 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ ขยับขึ้นมาจากปีก่อนหน้า 5 อันดับ

ขณะที่ประเทศที่มีขีดความสามารถด้านดิจิทัลสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา 2. เนเธอร์แลนด์ 3. สิงคโปร์ 4. เดนมาร์ก 5. สวิตเซอร์แลนด์ 6. เกาหลีใต้ 7. สวีเดน 8. ฟินแลนด์ 9. ไต้หวัน และ 10. ฮ่องกง

เพิ่มโฟกัส 10 ตัวชี้วัด

นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์รายตัวพบว่า ไทยมีอันดับดีหลายด้าน โดยด้านเทคโนโลยี (technology) อยู่อันดับที่ 15 (เดิม 20) ด้านความรู้ (knowledge) อยู่ที่ 41 (เดิม 45) และด้านความพร้อมในอนาคต (future readiness) อยู่ที่ 42 (เดิม 49) สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังต้องวางกลยุทธ์ต่อเพื่อโฟกัสตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จาก 54 ตัวชี้วัดที่่ IMD นำมาเป็นองค์ประกอบเช่น internet retailing, cybersecurity และ e-Government เป็นต้น

โดย ETDA กับ TMA ทำโครงการยกระดับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (WDCR-World Digital Competitiveness Ranking) เพื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดและเสนอแนะกลยุทธ์เพื่อผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน พบว่า ไทยต้องให้ความสำคัญกับ 10 ตัวชี้วัดจาก 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านความรู้ (knowledge) เช่น ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี 2.ด้านเทคโนโลยี เช่น การเริ่มต้นประกอบธุรกิจ, การพัฒนา และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และ 3.ด้านความพร้อมในอนาคต (future readiness) เช่น การค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ต, รัฐบาลดิจิทัล และการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวตามกฎหมาย

ด้าน นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร TMA และหัวหน้าที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่าตัวชี้วัด IMD-WDCR ที่เชื่อมโยงกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ETDA ไปจนถึงสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สดช.) ตลอดจนหน่วยงานภายนอกกระทรวงดีอี และเอกชน ซึ่งปัจจุบัน สดช. รับผิดชอบการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศ

ADVERTISMENT

“ที่ต้องผลักดันเพิ่มขึ้น มีด้าน internet retailing และ e-Government ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ควรให้ความสำคัญ สอดคล้องกับประเทศที่มีตัวเลข internet retailing สูง เพราะการขยับ 1 อันดับ ต้องเพิ่มมูลค่าe-Retailing ไม่ต่ำกว่า 30% และต้องทำควบคู่ไปกับการยกระดับการนำเทคโนโลยีไปใช้ในองค์กร ส่วนด้าน e-Government ต้องเร่งพัฒนาการให้บริการภาครัฐ ควบคู่กับการให้บริการด้วย digital ID ที่มีความปลอดภัยและเข้าถึงได้สะดวก รวมถึงนำ AI สนับสนุนการให้บริการ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย”

เร่งปั้นยูนิคอร์นสัญชาติไทย

นางสาวกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) กล่าวว่า หากดูประเทศที่อันดับสูง ๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน จะเห็นว่าอีโคซิสเต็มด้านเทคโนโลยีแข็งแกร่งมาก มีความพร้อมทั้งเรื่องคน และเทคโนโลยี สะท้อนผ่านจำนวนยูนิคอร์น เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง มียูนิคอร์น 10-12 บริษัท จีนมี 316 บริษัทเมื่อตัดมาที่ไทยมี 1-3 บริษัทเท่านั้น

ADVERTISMENT

“ด้านเพย์เมนต์หรือระบบพร้อมเพย์ ไทยโดดเด่นมากแต่ด้านการสนับสนุนเรื่องคนและดาต้า ต้องดูว่าเรามีพอหรือยัง ในไทยมีสถานที่ที่ส่งเสริมการทำสตาร์ตอัพไม่กี่ที่ แต่จีนมีเป็นอุทยานกว่า 2,500 แห่ง เช่น e-Fashion Town ที่หางโจว มีจอแดช บอร์ด AI กว่า 20 จอ แสดงข้อมูลสินค้าขายดีช่วยให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลในการทำธุรกิจ ทุนไม่จมไปกับการสั่งของที่ไม่จำเป็น ส่วนผู้ประกอบการไทยที่เข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้แค่ 60% สมาคมมีหน้าที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจออนไลน์ได้มากขึ้น”

ด้าน นายพิพัฒน์ พิเชฐจำเริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิศวะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า การสนับสนุนความสามารถของคนไม่ได้มีปัจจัยแค่เรื่องค่าตอบแทน แต่ต้องมองไปถึงโครงสร้างการศึกษา การปลูกฝังไมนด์เซตการเป็นนักพัฒนา และสนับสนุนด้านงานวิจัยของบุคลากร เช่น อินเดียที่โดดเด่นด้านการสอนหลักสูตรเทคโนโลยี มีวิธีการสอบภาคปฏิบัติแบบสุ่มภาษาที่ใช้ในการเขียนโค้ด ทำให้นักเรียนอินเดียต้องมีความรอบรู้ในทุกด้าน หรือจีนที่มองไปถึงการสร้างธุรกิจระดับตำบล จึงให้ทุนทาเลนต์ไปตั้งธุรกิจในตำบลของตนเอง

“เด็กไทยที่เรียนสายคอมพิวเตอร์ไม่ได้จบมาแล้วเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ทุกคน ปัจจัยที่มีผลต่อภาพรวมของตลาดงานสายเทคในไทย คือไทยมีบริษัทเจ๋ง ๆ รองรับทาเลนต์พอหรือเปล่า อย่างจีนมี Ant Group ในเครืออาลีบาบา และอื่น ๆ เราอาจต้องกลับมาทบทวนว่าทักษะด้านดิจิทัลพื้นฐานของคนไทยมีอะไรที่ยังขาดบ้าง เช่น การทำสไลด์ การคำนวณด้วย excel เป็นต้น”

การสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ

นางสาวพัชรี ภักดีนุฤทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการใช้นวัตกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมจะให้บริการด้านดิจิทัลเต็มรูปแบบในปี 2570 ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการวางแผนการทำงานด้านดิจิทัลใน 2 ส่วน คือการใช้โซลูชั่นเพื่อลดเวลาการทำงานในองค์กร เช่น สแกนเวลาเข้างาน จองห้องประชุม อีกส่วนคือการให้บริการประชาชน เมื่อก่อนผู้ประกอบการต้องมาที่กรมเพื่อขึ้นทะเบียน แต่ปัจจุบันดำเนินการผ่านอีเมล์หรือช่องทางอื่นได้ รวมถึงพัฒนาระบบ e-Filing หรือการส่งงบการเงินออนไลน์ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 90%

“การพัฒนาระบบต่าง ๆ ไม่ยาก เพราะสิ่งที่ยากกว่าคือการทำให้ผู้ประกอบการรับรู้ และใช้โซลูชั่นที่มีอยู่ได้ เราจึงจัดเทรนนิ่งสอนใช้โซลูชั่นเพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการทำธุรกิจออนไลน์ รวมถึงจัดงาน Thailand E-Commerce Expo ที่รวมอีโคซิสเต็ม และเชิญพาร์ตเนอร์ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซมาให้ความรู้ และแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ”

ด้าน ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยอำนวยการ ETDA กล่าวว่า หน้าที่หลักของ ETDA คือวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้พร้อมต่อการทำธุรกิจ และธุรกรรมออนไลน์ รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ดิจิทัลให้มีความปลอดภัย ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล

ที่ผ่านมา ETDA ประสบความสำเร็จในกลุ่มการเงินมาก แต่ปัจจุบันต้องบูรณาการให้ครอบคลุมและมีหลายสิ่งที่ต้องผลักดัน เช่น digital ID นอกจากการกำหนดกรอบการใช้งานดิจิทัลอย่างเหมาะสม การสนับสนุนทักษะทางภาษาอังกฤษก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์ส่วนใหญ่ต้องใช้งานเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น

ขยับอันดับขึ้นท็อป 30

นายมีธรรมกล่าวต่อว่า ไทยมีแผนยุทธศาสตร์ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566-2570 ที่มุ่งเน้นให้มีระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างโอกาส ความยั่งยืน และความได้เปรียบในการแข่งขัน มี 2 เป้าหมายภายใน 2570 คือ 1.เพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 30% และ 2.ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย IMD-WDCR ต้องอยู่ใน 30 อันดับแรก

จากผลการจัดอันดับล่าสุด สะท้อนความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของไทยที่ดีขึ้นต่อเนื่องและใกล้เข้าสู่อันดับที่ 30 ตามเป้าหมาย ซึ่ง ETDA จะดำเนินงานโดยคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะส่งผลต่อการขยับตัวชี้วัดของประเทศ และเชื่อมโยงแผนในระดับชาติ เช่น ผลักดันการใช้ digital ID สำหรับบริการภาครัฐ และเอกชน, ส่งเสริมการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล รวมถึงพัฒนาอีโคซิสเต็มที่เอื้อต่อการเพิ่มมูลค่าการทำธุรกรรมออนไลน์

ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอี) กล่าวว่า แม้ปีนี้ความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยดีขึ้น 5 อันดับ แต่ยังมีอีกหลายด้านที่ยังไม่ดี เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุง เช่นกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ และดิจิทัล (อันดับ 57), ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียนไทย (อันดับ 46), การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (อันดับ 44), ความเป็นรัฐบาลดิจิทัล (อันดับ 48), ความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (อันดับ 58) เป็นต้น

“ผมขอยืนยันว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องดิจิทัล และตั้งเป้าไว้ว่าอันดับความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยต้องอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกในปี 2569”