คสช.ต่อชีวิต13ช่องทีวีดิจิทัล สั่ง”กสทช.”ประมูลคลื่นมือถือ

คสช.ใช้ ม.44 ปลดทุกล็อก ออก 3 มาตรการ พักหนี้-ช่วยจ่ายค่าโครงข่าย-ถ่ายโอนใบอนุญาต ต่อลมหายใจทีวีดิจิทัลรอดตาย 13 ช่องโล่งอกมีเงินหมุน “บิ๊กตู่” สั่งล้มสรรหา กสทช.ใหม่ ให้บอร์ดชุดเก่าเดินหน้าประมูลคลื่น ชี้มีอำนาจล้น

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ที่ประชุม คสช.มีมติเห็นชอบคำสั่งหัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 265 ประกอบรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ฯ (ทีวีดิจิทัล) 3 แนวทาง ดังนี้ 1.อนุญาตการพักชำระหนี้ 3 งวด ซึ่งปัจจุบันคงเหลือการชำระจำนวน 5 งวด (61-65) เพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางธุรกิจ แต่ระหว่างการพักชำระ 3 งวด ต้องชำระดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.5 2.กสทช.ช่วยจ่ายค่าเช่าโครงข่าย (MUK) ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 2 ปี (61-62) จากผู้ให้บริการจำนวน 3 ราย ได้แก่ อสมท ไทยพีบีเอสและช่อง 5 และ 3.อนุญาตให้โอนใบอนุญาตได้

“ทางเลือกคืนคลื่นและไม่ต้องจ่ายค่างวดประมูลไม่สามารถทำได้ และไม่มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก็ไม่เห็นด้วย เพราะเงินค่างวดที่จ่ายไปแล้วกว่า 33,000 กว่าล้านบาท จึงขอให้สามารถโอนกิจการได้ ส่วนจะให้ต่างชาติได้หรือไม่นั้น ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ถือใบอนุญาตเดิม”

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า จากผลการหารือทั้ง 3 รอบ ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับแนวทาง เพราะตอบโจทย์ปัญหาที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลประสบอยู่ในขณะนี้ และรัฐบาลก็ไม่ได้เสียประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าคำสั่ง คสช.จะออกมาบังคับใช้ในเร็ววันนี้ และเริ่มดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในงวดเดือนพฤษภาคม ขณะที่การเปิดช่องให้กรมประชาสัมพันธ์สามารถหาโฆษณาได้ก็จะออกมาพร้อม ๆ กัน ส่วนเรื่องโทรคมนาคมมีรายละเอียดแตกต่างจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และอยู่ระหว่างหารือยังไม่ได้ข้อสรุป

13 ช่องยื่นขอความช่วยเหลือ

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ในช่วงมีการประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิทัลมีบริษัทจำนวนมากเข้าร่วมประมูล แต่มีผู้ร่วมเข้าประมูลจริง ๆ ในเดือนธันวาคม 2556 จำนวน 24 บริษัท และถอนตัวไป 2 บริษัท จนเหลือ 22 บริษัทผู้ร่วมสนใจเข้าร่วมประมูลจำนวน 22 บริษัท ดำเนินกิจการแข่งขันจนประสบปัญหาเรื่องรายได้ จนทำให้ 13 บริษัท จาก 22 บริษัทมีหนังสือร้องขอมายังนายกรัฐมนตรีและ คสช.เพื่อให้ลงมาให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ บางกอกมีเดีย ไทยรัฐ อัมรินทร์ แกรมมี่ 2 ช่อง เนชั่น 2 ช่อง วอยซ์ทีวี เดลินิวส์ ไบรท์ ทรูโฟร์ยู สปริงนิวส์ และทีเอ็นเอ็น

ส่วนบริษัทที่ไม่ได้ขอความช่วยเหลือแต่ก็ได้รับผลกระทบ ได้แก่ บริษัท บีอีซีเทโร หรือช่อง 3 จำนวน 3 ช่อง อสมท 2 ช่อง อาร์เอส หรือช่อง 8 โมโน ช่อง 7 และเวิร์คพอยท์ เพราะรายได้จากโฆษณาเท่าเดิม แต่ผู้ประกอบการทีวีแข่งขันมากขึ้น

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล มีอายุ 15 ปี ชำระค่าใบอนุญาตเป็นจำนวน 6 งวด คือ ปี”57-62 จ่ายไปแล้ว 3 งวด หรือ 3 หมื่นล้านบาท ยังไม่ได้จ่าย งวดที่ 4-6 (60-62) ซึ่งที่ผ่านมา คสช.ได้ให้ความช่วยเหลือ โดยออกคำสั่งขยายระยะเวลาจ่ายงวดที่เหลืออีก 3 งวด ขยายเป็น 6 งวด (60-65) เพื่อให้จ่ายน้อยและเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจ่ายค่างวดไปเพียง 1 งวด (ปี”60) หรือ 17,000 ล้านบาท แต่งวดปี”61 ประสบปัญหาไม่มีเงินจ่าย ซึ่งเกิดจาก 1.การประมูลเมื่อปี”56 ประมาณราคาประมูลเฉลี่ยช่องละ 15,000 กว่าล้านบาท แต่เมื่อเกิดการแข่งขันกันอย่างมากทำให้ราคาประมูลสูงถึง 50,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่ตั้งไว้สูงมาก รวมแล้วทุกช่วงจ่ายมาแล้ว 33,000 กว่าล้านบาท ยังคงค้างอยู่ 17,000 ล้านบาท 2.เกิดจากเทคโนโลยี disrupt ทำให้หารายได้จากโฆษณาน้อยลง 3.ก่อนการประมูล กสทช.กำหนดเงื่อนไขหลายประการ และการดำเนินการของ กสทช.ทำไม่สมบูรณ์

“ผู้ประกอบการจึงเสนอขอไม่ชำระอีก 5 งวดที่เหลือ ซึ่ง กสทช.ได้หารือกับ คสช. จำนวน 3 รอบ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่าต้องช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ล้มระเนระนาดและเกิดปัญหาเศรษฐกิจของประเทศตามมา แต่รัฐต้องไม่เสียประโยชน์เกินไป”

ยกเลิกสรรหา กก.กสทช. 

พล.ท.สรรเสริญกล่าวเพิ่มเติมว่า คสช.ยังมีมติเห็นชอบออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ยกเลิกและระงับการสรรหากรรมการ กสทช.จนกว่าหัวหน้า คสช.จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากมีข้อร้องเรียนและคุณสมบัติของผู้เข้ารับสรรหา ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติไม่เห็นชอบ

นอกจากนี้กำหนดให้ กสทช.ชุดเดิมดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ตามความจำเป็นไปพลางก่อน แต่หากเป็นเรื่องที่เกิดผลกระทบในวงกว้างต้องหารือกับ คสช.ก่อนดำเนินการ และหากมีคนพ้นจากตำแหน่งให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าหัวหน้า คสช.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ให้ศึกษากระบวนการสรรหาให้มีประสิทธิภาพเพื่อสรรหาต่อไป

ยันไม่เอื้อประโยชน์เอกชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงภายหลังการปะชุมถึงการใช้มาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือทีวีดิจิทัลว่า แต่ต้องดูบริบทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องความพร้อมของระบบ ต้องมาหาวิธีการแก้ไข รัฐบาลยืนยันอยู่แล้วว่าประเทศชาติจะต้องไม่เสียประโยชน์ เชื่อว่าทุกอย่างมีทางแก้ไข รัฐบาลนี้เข้ามาไม่ได้ประโยชน์กับใคร ทุกอย่างมีเหตุผลทั้งหมด รัฐบาลยืนยันจะหาทางออกให้ดีที่สุด เมื่อมีปัญหา รัฐบาลต้องหามาตรการที่เหมาะสม ไม่เอื้อใครทั้งนั้น ดูเหตุผลและความจำเป็น มีการประชุมหลายครั้ง เรียก 20 กว่าช่องมาประชุม มี กสทช.คณะกรรมการฝ่ายกฎหมายเข้ามาดู ทางออกที่ดีที่สุดต้องแก้ไขให้ได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

กสทช.ย้ำเดินหน้าประมูลคลื่น

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การออกประกาศโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อให้ กสทช.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปได้ ไม่ได้ทำให้เกิดภาระงานที่แตกต่างจากปัจจุบัน เพราะบอร์ด กสทช.ยังต้องทำหน้าที่ไปจนกว่าบอร์ด กสทช.ชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่งตามที่ พ.ร.บ.กสทช.กำหนด แต่เป็นการช่วยยืนยันอำนาจหน้าที่และรับรองให้บอร์ด กสทช.ชุดนี้ปฏิบัติงานได้อย่างมั่นคงแน่นอน ไม่กังวลว่าจะมีปัญหาถกเถียงเรื่องขอบเขตอำนาจในภายหลัง

สำหรับงานเร่งด่วนที่ต้องทำคือ การจัดประมูลคลื่นความถี่ภายใต้สัมปทาน “ดีแทค” ให้เรียบร้อยก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุด ซึ่ง ณ ปัจจุบันเชื่อว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายยังต้องการและจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่เพิ่มเติม แต่ปัญหาคือราคาเริ่มต้นประมูลที่ค่อนข้างสูง

“สิ่งที่ กสทช.ต้องทำ ก็คือเปิดประมูลคลื่น ส่วนจะขายได้เท่าไรก็แล้วแต่ผู้เข้าประมูล ไม่ได้มีความกดดันอะไร เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ”

นอกจากนี้ การวางแผนเพื่อเตรียมคลื่นไว้สำหรับเทคโนโลยี 5G เป็นอีกเรื่องที่บอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบันควรเร่งทำ เพราะเทคโนโลยี 5G ต้องใช้ความถี่กว้างมากถึง 100 MHz และ 5G เป็นรากฐานสำคัญของธุรกิจในยุคใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทีวีดิจิทัลโล่งอก-มีเงินหมุน

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการที่ออกมาล่าสุด ส่งผลให้ภาพบรรยากาศของธุรกิจทีวีดิจิทัลดีขึ้น เท่ากับว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะมีเงินลงทุนหมุนเวียนสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจต่อ โดยเฉพาะการลงทุนด้านคอนเทนต์ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายก็ตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากรายได้โฆษณาที่ไม่เติบโต ทำให้ไม่มีเงินลงทุนด้านคอนเทนต์

“มาตรการดังกล่าวจะทำให้ทีวีดิจิทัลได้หายใจทั่วท้องมากขึ้น และสามารถพัฒนาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพได้ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบมากขึ้น ขณะที่มาตรการที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขายช่องได้นั้น ถือเป็นประโยชน์ต่อช่องที่ไม่ไหวจริง ๆ เพื่อเปิดทางให้แก่รายใหม่ที่มองเห็นโอกาสเข้ามาลงทุนต่อ ขณะที่รายเก่าที่ตัดสินใจออกจากตลาดก็ไม่สูญเปล่า ซึ่งวินวินทั้ง 2 ฝ่าย”

นายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ผู้บริหารช่องไบรท์ทีวี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการเยียวยาล่าสุดถือเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะช่องเล็ก เพราะจะช่วยให้ช่องเหล่านี้มีกระแสเงินสด

สำหรับการบริหารจัดการธุรกิจที่ดีขึ้น มีงบฯพัฒนาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ท้ายที่สุดผลดีก็จะตกอยู่ที่ผู้ชม ขณะเดียวกันคาดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ภาพการแข่งขันของทีวีดิจิทัลโดยรวมดีขึ้นด้วยเช่นกัน

นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 33 เอชดี ช่อง 28 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่ ให้มุมมองว่า มาตรการที่ออกมาถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความลำบากให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ในช่วงนี้ อีกทั้งยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการหลายรายมีความคล่องตัวในการลงทุนเพื่อสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ มากขึ้น

สอดรับกับแหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการใหม่ที่ออกมานี้ถือว่าเป็นผลดีต่อธุรกิจ เพราะจะทำให้แต่ละช่องมีงบฯลงทุนสำหรับการพัฒนาคอนเทนต์เพิ่ม เมื่อคอนเทนต์ดี ลูกค้า (สินค้าและมีเดียเอเยนซี่) ก็พร้อมจะซื้อโฆษณา อีกทั้งยังทำให้แต่ละช่องมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะมีเงินหมุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากแต่ละสถานียังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เช่น ค่าคอนเทนต์ ค่าบุคลากร เป็นต้น