ดีแทคกังวลเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 พร้อมเร่งยื่นข้อเสนอกระตุ้นลูกค้าย้ายออกก่อนหมดสัมปทาน

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากที่เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แถลงมติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 ยืนยันเดินหน้าจัดประมูลคลื่นภายใต้สัมปทานบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(ดีแทค) ตามกรอบเดิมที่ยกร่างไว้ (กสทช.ถือฤกษ์ดี “4 ส.ค.” วันสื่อสารแห่งชาติ เคาะประมูลคลื่นดีแทค ยืนราคา 37,457 ล้าน ห้าม “แจ๊ส” เข้าร่วม)

“ดีแทค” ได้ออกแถลงการณ์ถึงความกังวลเกี่ยวกับเกณฑ์การจัดประมูลดังกล่าวทันที  โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นโดยแบ่งออกเป็น 3 ใบอนุญาตและคงเกณฑ์ N-1 (ใบอนุญาตที่นำมาประมูลจะน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล 1 จำนวน)

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า  มีความกังวลต่อมติบอร์ด กสทช. ที่กลับไปใช้แนวทางประมูลเดิมสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งไม่ส่งผลดีอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายสร้างประเทศไทย 4.0

“ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนคลื่นความถี่ที่จะนำไปรองรับการเติบโตของการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเข้ามาเปลี่ยนผ่านประสบการณ์ใหม่ต่างๆ ทั้งนี้ ในการที่จะผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดการบริหารคลื่นความถี่เข้าสู่วาระแห่งชาติ”

โดย 1. ขอให้พิจารณาราคาเริ่มต้นการประมูลให้เหมาะสมกับผู้บริโภคในประเทศไทย 2. การกำหนดจำนวนคลื่นต่อไลเซนส์ให้อยู่ที่ 5 MHz แทน  15 MHz จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประมูลเลือกประมูลได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งาน สอดคล้องกับแผนธุรกิจ และ 3.การทบทวนข้อกำหนด N-1 เนื่องจากส่งผลเสียต่อการแข่งขัน ลดโอกาสและทางเลือกของผู้บริโภค ทำให้เกิดสภาวะเสมือนการขาดแคลนคลื่นความถี่จากที่มีอยู่เดิม และผู้เข้าประมูลบางรายอาจถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าประมูล

ทั้งนี้ ดีแทคจะเร่งยื่นหนังสือนำเสนอแผนธุรกิจและแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558)  เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สัญญาให้บริการเดิม

และกำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการโอนย้ายลูกค้าที่ยังคงค้างในระบบด้วยข้อเสนอทางการตลาด เพื่อให้ลูกค้าที่มีอยู่จำนวนหนึ่งได้มีประสบการณ์ในการใช้งานดิจิทัล และเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้าที่ใช้งาน 2G จะได้เข้าสู่ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบน 4G และ 3G