ความจริงอีกด้านที่ต้องมอง กับการมาของ “แจ็ก หม่า”

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ


ผมได้รับการติดต่อจากหลายสื่อให้พูดถึง แจ็ก หม่า กับการลงทุนใน E-Commerce Park ในเขต EEC และสถิติที่น่าทึ่งของทุเรียน 80,000 ลูกที่ขายใน 60 วินาที ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะคงไม่มีนักธุรกิจไทยคนไหนกล้าทุ่มเงินนับหมื่นล้านบาทแบบนี้ได้ (อาจมีในกลุ่ม Central และ JD.com ที่จะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้)

เงินมหาศาลในรูปของการสร้าง “โครงสร้าง” พื้นฐานด้านการค้าออนไลน์ของกลุ่ม Alibaba ที่จะขยายไปกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ได้อีกต่อ แจ็ก หม่าตัดสินใจเข้ามาตั้งแต่วันนี้ได้เปรียบมาก และด้วยแบรนด์ หรือชื่อเสียงของเขาทำให้รัฐบาลทุกประเทศอ้าแขนต้อนรับ ยิ่งทำให้ได้เปรียบมาก เขาสามารถต่อรองหรือขอรัฐบาลได้

สิ่งที่ผมกังวลกับการมาของ Alibaba คือ 1.ผู้ประกอบการไทยไม่มีที่ยืน สินค้าจีนจะมารุกราน e-Commerce Park เป็นการลงทุนเพื่อ “สร้างการเชื่อมต่อกับจีน” โดยสินค้าไทยจะส่งไปจีนได้ง่ายขึ้น แต่สินค้าจีนที่ราคาถูกกว่ามากก็จะไหลทะลักเข้าไทยได้สะดวกขึ้น ส่งตรงถึงบ้านผู้ซื้อโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง คนที่นำเข้าสินค้าจากจีนเตรียมเปลี่ยนงานได้ รวมถึง SMEs และผู้ผลิตสินค้าที่ตรงกับกลุ่มสินค้าจีนที่เข้ามา หากสู้ไม่ได้ก็ต้องตายไป ซึ่งล้วนมีผลกระทบระยะยาว เช่น การจ้างงานลดลง

2.กระทบตลาดค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า แม้แต่ตลาดนัด เมื่อคนไทยซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น เริ่มเห็นแล้วกับกลุ่มนาฬิกา เครื่องสำอาง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และจะขยายวงไปอีก เหมือนอเมริกาที่โดน Amazon ครองตลาดไว้และฆ่าธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม แต่ที่นั่นคืออเมริกากินอเมริกา แต่ของเราจีนเข้ามากินไทย

3.การผูกขาดของผู้ให้บริการรายใหญ่เกิดขึ้นแน่นอน ใครมาก่อนย่อมได้เปรียบ เกมนี้มีที่ให้เฉพาะเบอร์ 1 กับ เบอร์ 2 แค่นั้น หัวใจและความสำคัญของ e-Commerce คือการเก็บและจัดส่งสินค้า (warehouse & fulfilment) ซึ่ง Alibaba กำลังเร่งลงทุนในขณะนี้

4. ธนาคาร การขนส่ง และอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดนหมด เมื่อทำ e-Commerce ย่อมต้องมีข้อมูลมหาศาล (big data) การเข้ามาครั้งนี้จะทำธุรกิจการเงินด้วยแน่นอนตามแบบฉบับการลงทุนของทุกกลุ่มจีน ด้วย big data จากการซื้อสินค้าและจากร้านค้าทำให้เสนอบริการทางการเงินไปยังกลุ่มลูกค้าได้แม่นยำกว่าธนาคาร ซึ่งเกิดขึ้นแล้วที่จีน

รวมถึงธุรกิจขนส่งที่ Alibaba ก็มีบริษัท Cainiao ที่จะมาไทยด้วย กระทบผู้ให้บริการขนส่งของไทยอย่างไปรษณีย์ไทยแน่นอน ทั้งหมดจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังอุตสาหกรรมอื่น เพราะ Alibaba มาทั้งกลุ่มธุรกิจและสร้างระบบนิเวศล้อมลูกค้าไม่ให้หลุดออกไปไหนได้

ผมจึงอยากให้ทุกคนรู้ถึง “ความจริงอีกด้านหนึ่ง” และต้องเร่งปรับตัวอย่างไร

1.ต้องปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจขยายไปสู่ตลาดโลกได้ และ 2.รัฐบาลไทยต้องปรับตัว ผลักดันสินค้าไทยไปจีนแบบเต็มกำลัง และชะลอการนำเข้าสินค้าของจีนอย่างมีศิลปะ ผลักดันการค้าออนไลน์อย่างเป็นระบบ

เพราะอีก 5-10 ปี หากธุรกิจค้าปลีกเข้ามาในออนไลน์และตกไปอยู่ในมือต่างชาติเบ็ดเสร็จ ไทยอาจตกอยู่ใต้ความควบคุมของจีนจริง ๆ รัฐบาลระดับบริหารอาจมองภาพรวมด้านเดียวว่ามีการลงทุนเป็นหมื่นล้าน วันนี้เราต้องมองให้ออกว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่ออยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้โดยให้ทั้งตัวเราและประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ผมไม่ได้เห็นแย้งหรือต่อต้านการลงทุนของกลุ่ม Alibaba แต่ต้องการให้คนไทยเห็นถึงอีกมุมหนึ่งของข้อมูลและผลักดันให้นักธุรกิจไทย “ตื่นตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเอง” ต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ครับ