งานหินซีอีโอ “ไทยคม” ดัน “ดาวเทียม” ฝ่าดิสรัปชั่น

ผลัดใบอีกครั้ง เมื่อ บมจ.ไทยคม ได้ “อนันต์ แก้วร่วมวงศ์” อดีตเบอร์ 1 ของ CS Loxinfo นั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (1 พ.ค. 2561)พร้อมประกาศยืนยันเดินหน้าธุรกิจดาวเทียมต่อไป แต่จะลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับดิจิทัลดิสรัปชั่น

“ยุคนี้ทุกธุรกิจต้องดิ้นรนเพราะดิจิทัลดิสรัปชั่น กิจการเดิมอย่างดาวเทียมต้องเร่งทำตลาด คาพาซิตี้ยังมีอยู่ อายุของดาวเทียมก็ยังมีเหลือแม้จะหมดสัมปทาน แต่สิ่งใหม่ที่จะทำด้วยคือดิจิทัลเทรนด์ หนีไม่พ้นเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างโรบอติก AI ปลายนี้น่าจะชัดเจน”

โดยจะดึงคนของไทยคมมาพัฒนาในโมเดลของสตาร์ตอัพ คือจะลงทุนทีละสเต็ป ประเมินศักยภาพก่อนเติมเงินต่อ จึงไม่จำกัดงบฯลงทุน แต่จะลงทุนหลาย ๆ โครงการ งบฯลงทุนทั้งปีนี้คงไม่มากนัก น่าจะราว 100-200 ล้านบาท

“จุดอ่อนไทยคมที่ผ่านมา จะเน้นดาวเทียมเป็นสินค้าอย่างเดียว เน้นขายเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ ซึ่งถ้าลูกค้าไม่ซื้อต่อ เพียง 1 รายก็กระทบเยอะ จึงเป็นความเสี่ยงในภาพใหญ่ จำเป็นต้องมองหาธุรกิจอื่นมาเสริม ขณะที่พนักงานไทยคมจำนวนมาก แม้แต่พนักงานขาย มีพื้นฐานเป็นวิศวกรแทบจะครบทุกด้าน จึงน่าจะต่อยอดสำหรับธุรกิจใหม่ได้”

ส่วนปมปัญหาสัมปทานที่ยังมองไม่ตรงกันกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก็เป็นธรรมดา ประเด็นสำคัญคือ สถานะของดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ

“ฉะนั้นไม่ว่าเรื่องกระทรวง กสทช. ก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด รัฐบาลจะออกมาอย่างไร ก็ต้องหาทางออก”

อีกประเด็นที่กำลังหารือคือ การสิ้นสุดสัมปทานในปี 2564 ว่ากิจการดาวเทียมจะบริหารจัดการอย่างไรต่อ เพื่อให้สิทธิ์สากลด้านดาวเทียมของไทยยังมีอยู่ การให้บริการประชาชน งานด้านความมั่นคงจะมีความต่อเนื่อง

“ไทยคมก็อยากทำต่อ และคิดว่าเราสวยพอที่รัฐจะให้ เพราะมีทั้งประสบการณ์ แต่ก็ต้องทำตัวให้ดี ไม่ดื้อ คาดว่าไม่เกินปี ภาพใหญ่น่าจะเห็นได้ชัด แต่ประเด็นไทยคม 7-8 น่าจะหลังมีมาสเตอร์แพลนว่า ใครจะทำอะไรต่อไป”

ซีอีโอใหม่ไทยคมย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เป็นคลื่นลูกใหม่มากระทบอุตสาหกรรมดาวเทียมทั้งโลกน่าหนักใจกว่าปัญหาภาครัฐ เพราะจะทำให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด โดยเฉพาะโครงการ “โกลบอลแซตเทลไลต์” ของหลายบริษัทระดับโลก ซึ่งจะเป็นดาวเทียมดวงเล็ก ที่โคจรรอบโลก ไม่ใช่ดาวเทียมค้างฟ้าแบบไทยคมที่มีพื้นที่ให้บริการจำกัด โดยปี 2562 จะมีหลายโครงการเปิด อย่าง “เฟซบุ๊ก” เล็งจะทำถึง 4,000 ดวง

“ดาวเทียมยุคใหม่จะไม่เหมือนยุคเก่าที่เอาไว้ถ่ายทอดทีวี แต่ยิงดาวเทียมครั้งเดียวให้บริการได้ทั่วโลก เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ซึ่งไทยคมพร้อมเป็นพาร์ตเนอร์กับทุกรายเพราะแต่ละประเทศมีกฎต้องขอไลเซนส์ให้บริการ”

ดังนั้นในช่วง 1-2 ปีนี้ ไทยคมต้องรอประเมินว่า โกลบอลแซตเทลไลต์จะเกิดขึ้นหรือไม่ โดยระหว่างนี้ก็ขายคาพาซิตี้ดาวเทียมเดิมคู่ไปด้วย

“ดีมานด์ก็ยังมี โอกาสที่จะรักษาฐานลูกค้าเดิมและสร้างฐานลูกค้าใหม่ก็ยังมี อย่างการให้บริการบรอดแบนด์ และบรอดแคสต์ความคมชัด 4K และเตรียมวางแผนการยิงดาวเทียมดวงใหม่ อย่างการดีไซน์รูปแบบ แต่จะสร้างหรือไม่และจะใช้ใบอนุญาตของไทยหรือประเทศอื่น ก็คงต้องรออีก 1-2 ปี”

ส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่น่าจะต้องใช้เวลาอีก 5-7 ปี ที่จะเป็นรายได้หลัก


ทั้ง “อนันต์” ยังย้ำว่า แม้ที่นี่จะยากหน่อย ทั้งการหายอดขาย-กำไร ประสานรัฐบาล แต่มีเป้าหมายคือต้องพลิกกลับมาให้มีกำไรให้ได้ เชื่อว่าไทยคมจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง แต่คงไม่ใช่ภายในปี 2 ปีนี้”