ผู้ทดลองคนแรกของ Neuralink สามารถสั่งการ “เมาส์” ด้วยสมองได้แล้ว

neuralink
REUTERS/Dado Ruvic

“อีลอน มัสก์” เผยผู้ทดลองรายแรกของ “Neuralink” สามารถควบคุม “เมาส์” โดยใช้ความคิดของตนเองได้แล้ว หลังได้รับการปลูกถ่ายชิปในสมองเมื่อเดือน ม.ค. 2566

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ผู้ทดลองรายแรกที่ได้รับการฝังชิปจาก “นิวรัลลิงก์” (Neuralink) สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีประสาทของ “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา กำลังฟื้นตัวอย่างเต็มที่และสามารถควบคุมเมาส์คอมพิวเตอร์โดยใช้ความคิดของตนเอง

นายมัสก์กล่าวผ่านฟีเจอร์สเปซ (Spaces) หรือการสนทนาด้วยเสียงบน X (Twitter) ว่า การทดลองของ Neuralink กำลังเป็นไปด้วยดี และดูเหมือนว่าผู้ป่วยกำลังฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ อย่างที่ทราบในตอนนี้ผู้ป่วยสามารถขยับเมาส์ไปตามความคิดของตนเองได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ทำการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไปกับ Neuralink แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองต่อความเห็นในทันที

รายงานข่าวระบุว่า Neuralink ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการทดลองทางคลินิกครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ค. 2566 จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (U.S. Food and Drug Administration หรือ FDA) และได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการทดลองในมนุษย์รายแรกในเดือน ก.ย. 2566

ก่อนหน้านี้ Neuralink ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย และการละเมิดสวัสดิภาพของสัตว์ทดลอง เนื่องจากสำนักข่าวซีเน็ต (CNET) ได้รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2561-2565 มีสัตว์ทดลองเสียชีวิตจากการทดลองของ Neuralink ไปแล้วกว่า 1,500 ตัว

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ เทคโนโลยีการศึกษาของ Neuralink มีชื่อว่า “Brain-Machine Interface” (BMI) หรือการสั่งการคอมพิวเตอร์ด้วยสมอง ซึ่งเป็นแบบ Inversion ที่มีการรุกล้ำร่างกาย และต้องใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายชิปและส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ในพื้นที่ที่กำหนด

โดยในปี 2562 นายมัสก์ได้เปิดตัวบริษัท Neuralink อย่างเป็นทางการ หลังเตรียมงานและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวมาเกือบ 3 ปี ด้วยความเชื่อที่ว่า มนุษย์ไม่มีทางเก่งกว่า AI นอกจากจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างชาญฉลาดเท่านั้น และในปีที่ผ่านมา Neuralink มีมูลค่าบริษัทประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT

ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่ Neuralink พัฒนาขึ้นสำหรับการทดลองดังกล่าว เช่น เส้นด้ายส่งสัญญาณแบบยืดหยุ่น (Threads) ที่รองรับการส่งข้อมูลจำนวนมาก และหุ่นยนต์ R1 ที่ทำหน้าที่ฝังเส้นด้ายส่งสัญญาณในสมอง เป็นต้น