เปิดสัมปทานดีแทค 1.8 แสนล. แคทเร่งสัญญาเช่าเสาเคลียร์ข้อพิพาท

สัมปทานดีแทค
เปิดบัญชีสัมปทาน “ดีแทค” สร้างรายได้ “แคท” ไม่ต่ำ 1.8 แสนล้านบาท งอกคดีพิพาทกว่า 4 หมื่นล้าน “แคท” ลุ้น มิ.ย. บอร์ดไฟเขียวสัญญาเช่าโครงข่าย-ระงับข้อพิพาทก่อนหมดสัมปทาน 15 ก.ย. 2561 ด้าน “ดีแทค” ติดสปีดโอนย้ายลูกค้า เร่งขยายโครงข่าย 2300 MHz ตั้งเป้าเปิดบริการไตรมาส 4 ปีนี้

 

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำลังทำแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระหว่างแคท กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ในวันที่ 15 ก.ย. 2561 ทั้งเร่งเจรจาระงับข้อพิพาทกับดีแทค ซึ่งในหลักการเบื้องต้นได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว

เร่งทำสัญญาเช่าโครงข่าย

“หลัก ๆ คือ ดีแทคจะโอนโครงข่ายสัมปทานคืนกลับมาให้แคททั้งหมดราว 8,000 เสา แล้วทำสัญญาเช่าจากแคทเพื่อนำกลับไปให้บริการ ซึ่งในส่วนของค่าเช่าและระยะเวลาเช่า รวมถึงสาระสำคัญของสัญญา เจรจาได้ข้อยุติแล้ว จากนี้จะเป็นขั้นตอนที่แต่ละบริษัทจะนำรายละเอียดเสนอให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติ โดยแคทจะนำเข้าบอร์ดประมาณเดือน มิ.ย.นี้ หากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องตรงกันก็ทำสัญญาเช่าได้ ไม่ต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นโครงข่ายที่ทุกโอเปอเรเตอร์จะเข้ามาเช่าใช้ได้ ไม่เฉพาะดีแทค แตกต่างจากการสงวนสิทธิ์ให้ดีแทคเช่าเพียงรายเดียวที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งถ้าทำสัญญาเช่าในส่วนนี้ได้จะมีส่วนสำคัญในการระงับข้อพิพาทที่มีระหว่างกันมูลค่าหลายพันล้านบาทได้”

แต่ในส่วนข้อตกลงอื่น ๆ ที่เป็นการระงับข้อพิพาทโดยตรง จะต้องเสนอให้คณะกรรมการกำกับดูแลสัมปทานตามมาตรา 43 พ.ร.บ.ร่วมทุน เป็นผู้พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในราวเดือน ก.ค.นี้ โดยทั้งหมดแคทพยายามจะให้ได้ข้อสรุปก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุด

“แคท” ได้ไม่ต่ำ 1.8 แสนล้าน

เมื่อย้อนดูการทำสัญญาสัมปทาน”ดีแทค” ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการเมื่อ 16 ก.ย. 2534 พบว่าเงื่อนไขในสัญญากำหนดให้ “ดีแทค” ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้แคทเป็นรายปี โดยปีที่ 1-4 ร้อยละ 12 ของรายได้จากการให้บริการตามสัญญาก่อนหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ปีที่ 5 ร้อยละ 25 ปีที่ 6-15 ร้อยละ 20 ปีที่ 16-20 ร้อยละ 25 ปีที่ 21-27 ร้อยละ 30 แต่มีการันตีขั้นต่ำที่แคทต้องได้ตลอดอายุสัมปทาน คือ ไม่น้อยกว่า 17,051.84 ล้านบาท

แหล่งข่าวภายใน “แคท” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำลังรวบรวมยอดรายได้ทั้งหมดจากสัมปทานดีแทค ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 1.8 แสนล้านบาท แต่ก็มีข้อพิพาทจากสัมปทานไม่น้อย ซึ่งเดิมคาดว่าการตั้งบริษัทร่วมทุนกับดีแทคจะช่วยให้ได้ข้อยุติ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความมาว่า ขัดกับกฎหมายทำไม่ได้ การลงนามในสัญญาเช่าโครงข่ายร่วมกันจึงเป็นอีกทางออก

ข้อพิพาทกว่า 4 หมื่นล้าน

ข้อพิพาทที่สำคัญคือ การเรียกชำระผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมจากภาษีสรรพสามิต ที่ “แคท” เรียกจากรายได้ในปี 12-16 รวมเป็นเงิน 16,887 ล้านบาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดเมื่อ 28 พ.ค. 2555 ให้ดีแทคชนะ และเมื่อแคทยื่นฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตฯต่อศาลปกครองกลาง แต่เมื่อ 29 ม.ค. 2559 ศาลปกครองกลางพิพากษาไม่เพิกถอนคำชี้ขาด

ล่าสุดเมื่อ 29 ก.ย. 2560 แคทได้แจ้งให้ดีแทคชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินค่าภาษีสรรพสามิตที่ดีแทคหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้ เป็นเงิน 2,756 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

และยังมีกรณีที่แคทยื่นข้อพิพาทจากเรียกผลประโยชน์เพิ่มจากรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่ายที่ดีแทคได้รับจากบริษัทอื่นในปีสัมปทานที่ 11-ปีที่ 20 ซึ่งแคททยอยยื่นเป็นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2558 รวมมูลค่า 18,829 ล้านบาท

ส่วนข้อพิพาทที่เกี่ยวกับเสาโทรคมนาคม แคทยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อ 19 ก.พ. 2551 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2558 ให้ส่งมอบเสาให้ รวมทั้งหมด 5,710 ต้น และเรียกค่าเสียหายทดแทนหากไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์กว่า 2,700 ล้านบาท

ปี”55 หมดยุคเฟื่องฟูสัมปทาน

ย้อนดูรายงานการเงินของดีแทค พบว่าในปี 2547 มีลูกค้าทั้งหมด 7.78 ล้านราย จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ “แคท” ราว 6,400 ล้านบาท และขยับเป็น 12.22 ล้านรายในปี 2549 จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ “แคท” ราว 8,200 ล้านบาท ก่อนไปถึง 26.31 ล้านเลขหมาย ในปี 2555 ซึ่ง “กสทช.” จัดประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ “ใบอนุญาต” หมดยุคเฟื่องฟูของ “สัญญาสัมปทาน” และตั้งแต่ปี 2556 ดีแทคก็เริ่มย้ายลูกค้าออกจากระบบสัมปทาน

ให้สมาร์ทโฟนแลกอยู่ต่อ 1 ปี

โดยนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวก่อนนี้ว่า เตรียมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้า และพยายามอย่างเต็มที่ในการโอนย้ายลูกค้าที่ยังคงค้างในระบบด้วยข้อเสนอทางการตลาดเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เริ่มมีลูกค้าที่ยังอยู่ในระบบสัมปทาน ได้รับการติดต่อจากคอลเซ็นเตอร์ ยื่นข้อเสนอให้สมาร์ทโฟนเครื่องใหม่แลกกับเปลี่ยนซิมย้ายมาอยู่กับบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต แต่ต้องทำสัญญาใช้บริการเป็นเวลา 1 ปี

2300 MHz ความหวังใหม่

และเมื่อเร็วๆ นี้ “ดีแทค” ได้ลงนามเป็นพันธมิตรธุรกิจไร้สายบนคลื่น 2300 MHz กับ บมจ.ทีโอที จนถึงปี 2568

แหล่งข่าวระดับสูงภายใน บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนี้ดีแทคจะลงทุนสร้างโครงข่ายบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง ทั้งแบบ fixed wireless broadband และ mobile broadband ให้ทีโอที ก่อนจะซื้อความจุ 60% กลับมาให้บริการลูกค้า โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ และทีโอทีจะได้รายได้ขั้นต่ำจากการโรมมิ่งกับดีแทค ปีละ 4.5 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมรายได้ที่ทีโอทีจะสามารถหาเพิ่มเติมได้จากการนำความจุโครงข่ายอีก 40% ที่เหลือเอง