“ไปรษณีย์ไทย” พลิกโฉมสู้แข่งดุ ดึงระบบอัตโนมัติเสริมแกร่ง

แม้ “ไปรษณีย์ไทย” จะยังประกาศว่ามีมาร์เก็ตแชร์เป็นเบอร์ 1 ในตลาดโลจิสติกส์ แต่โอกาสโดนเบียดตกแชมป์มีอยู่ตลอด ท่ามกลางสมรภูมิที่ดุเดือด

 

“สมร เทิดธรรมพิบูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ด้วยการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซที่ส่งผลให้ปริมาณงานที่เข้ามาในระบบมีเพิ่มมากขึ้น คาดว่าปีนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซจะโตกว่า 20% การพัฒนาระบบรองรับการเพิ่มขึ้นของปริมาณงานและเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพรองรับการแข่งขันที่รุนแรงจึงจำเป็นบริษัทจึงนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาตั้งแต่ระบบหน้าบ้านอย่างเคาน์เตอร์รับฝากจนถึงการคัดแยกและนำจ่ายไปยังปลายทาง

โดยติดตั้งระบบเคาน์เตอร์อัจฉริยะ(New CA Post) รองรับการฝากส่งและติดตามสถานะเรียลไทม์ไปแล้ว 255 ที่ทำการไปรษณีย์ ตั้งเป้าให้ครบทั่วประเทศในสิ้นปีนี้ ทั้งร่วมมือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ติดตั้งตู้รับฝากอัตโนมัติแล้วที่สนามบินสุวรรณภูมิ จึงเตรียมติดตั้งเพิ่มที่สนามบินกระบี่ อุบลราชธานี ขอนแก่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี แม่สอด และพัฒนาโมเดลธุรกิจร่วมกันเพื่อขยายจุดให้บริการทั้งในปั๊มน้ำมัน ปตท. บางจาก shell รวมถึงห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี

ที่สำคัญคือการตั้งศูนย์ไปรษณีย์สำหรับอีคอมเมิร์ซ ณ พื้นที่ในศูนย์หลักสี่ เพื่อแยกงานจัดส่งของอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่มีการทำ MOU ร่วมกัน คาดว่าจะติดตั้งระบบเสร็จ ก.ย.นี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น อีกส่วนที่สำคัญคือระบบคัดแยก ล่าสุดติดตั้งเครื่องคัดแยกพัสดุและเครื่องคัดแยกจดหมายอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณจำนวนมากให้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ที่ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา 1 ใน 19 ศูนย์ และเป็นศูนย์ที่มีปริมาณงานต่อวันมากที่สุดเกือบ 700,000 ชิ้น

สำหรับเครื่องคัดแยกที่ได้นำมาติดตั้งจะเป็นเครื่องคัดแยกพัสดุแบบ cross belt sorter ซึ่งสามารถคัดแยกพัสดุได้ด้วยความเร็ว 9,000 ชิ้นต่อชั่วโมง แยกได้ 77 ปลายทาง และเครื่องคัดแยกจดหมายแบบ mixed mall sorter2 เครื่อง คัดแยกจดหมายได้ 8,000 ชิ้นต่อชั่วโมง แยกได้ 90 ปลายทาง

โดยได้เตรียมงบประมาณไว้ 4,400 ล้านบาทสำหรับการติดตั้งให้ครบทั้ง 19 ศูนย์ไปรษณีย์ทั่วประเทศภายในปี 2562

ในส่วนของการขนส่งได้เริ่มให้บริษัทลูก “ไปรษณีย์ดิสตริบิวชั่น” ช่วยขนส่ง 5 เส้นทาง ด้วยรถขนส่ง 110 คัน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วขึ้นอีก

ส่วนการนำจ่ายได้เพิ่มรถยนต์รองรับปริมาณงานพัสดุที่เป็นกล่องต่าง ๆ ทั้งพัฒนาฐานข้อมูลครัวเรือน 17 ล้านครัวเรือนเพื่อให้การนำจ่ายมีคุณภาพขึ้นช่วยป้องกันการส่งผิดปลายทางได้มากขึ้น


และมีรายได้ปี 2560 ราว 27,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน และมีกำไร 4,220 ล้านบาท เพิ่ม 18% ขณะที่ปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวม 30,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% โดยรายได้ของบริษัทกว่า 47% ยังมาจากธุรกิจโลจิสติกส์