
การหลอกลวงจากมิจฉาชีพออนไลน์ยังเป็นภัยที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้คนไทย
นอกจากมาตรการปราบปรามจากภาครัฐ หลายคนเลือกป้องกันตนเองด้วยการโหลดแอปพลิเคชั่นระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักอย่าง Whoscall ที่ให้บริการโดย Gogolook บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) จากไต้หวัน ที่ก่อตั้งในปี 2555
ผู้ที่ดาวน์โหลดแอป Whoscall จะได้รับการแจ้งว่า สายไม่รู้จักที่โทร.เข้ามาเป็นเบอร์ใคร โดยระบบจะแสดงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่เชื่อมกับสมุดโทรศัพท์สาธารณะ พาร์ตเนอร์ และการแจ้งข้อมูลของผู้ใช้งาน ซึ่งปัจจุบัน Whoscall มีฐานข้อมูลมากกว่า 2.6 พันล้านหมายเลข ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“แมนวู จู” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท Gogolook จำกัดกล่าวว่า ปัจจุบัน Whoscall มีทีมทำงานในเอเชีย และบราซิล รวมเป็น 7 ประเทศ สำหรับในไทยให้บริการมาประมาณ 10 ปี แต่เริ่มทำแคมเปญการตลาดสร้างการรับรู้เมื่อ 2-3 ปีก่อน ซึ่งไทยเป็นตลาดที่สำคัญพอ ๆ กับไต้หวัน ประเทศแม่ ด้วยพฤติกรรมของประชากรที่ตื่นตัวเรื่องนี้ เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายการโจมตีของมิจฉาชีพ
รายงานของ Whoscall ระบุว่า ในปี 2566 คนไทยเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ 217,047 ราย/วัน มีการรับสายจากมิจฉาชีพ ถึง 20.8 ล้านครั้ง เพิ่ม 22% จากปี 2565 และโดนลวงจาก SMS กว่า 58.3 ล้านข้อความ เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน ความเสียหายสะสมกว่า 53,875 ล้านบาท
“ปัจจุบัน Whoscall มียอดดาวน์โหลดกว่า 100 ล้านครั้ง และในปี 2566 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้เติบโตจากปีก่อน 30% สะท้อนว่า ผู้คนตื่นตัวป้องกันภัยจากมิจฉาชีพมากขึ้น”
“แมนวู” กล่าวต่อว่า รายได้ของ Whoscall มาจาก 2 ส่วน ได้แก่ ค่าโฆษณา และการสมัครแพ็กเกจพรีเมี่ยมที่มีอยู่ราว 5% ของผู้ใช้ทั้งหมด ซึ่งรายได้ส่วนแรกมีสัดส่วนมากกว่า โดยในปี 2566 รายได้ Whoscall จากทุกภูมิภาคเติบโตจากปีก่อน 80% สูงสุดเป็นประวัติการณ์
“ในธุรกิจแอปเกี่ยวกับการต่อต้านฉ้อโกง เราเป็นผู้นำตลาดยังไม่เห็นคู่แข่งในเอเชีย จุดแข็งคือความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้พัฒนาระบบป้องกันการหลอกลวงและสายก่อกวน”
สำหรับแพ็กเกจพรีเมี่ยม แบ่งเป็นแพ็กเกจรายเดือน 59 บาท และรายปี 599 บาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 50 บาท) มีฟีเจอร์ที่ใช้ได้เพิ่มเติมจากการใช้งานแบบฟรี เช่น อัพเดตเบอร์ในฐานข้อมูลโดยอัตโนมัติ บล็อกเบอร์ที่เข้าข่ายว่าเป็นสแปม และกรอง SMS ที่เข้าข่ายว่าเป็นมิจฉาชีพด้วย AI เป็นต้น
ด้าน “ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook จำกัด กล่าวว่า หลัง Whoscall เข้ามาทำตลาดและสร้างการรับรู้ในไทยผ่านการทำคอนเทนต์เข้ากับคนไทย เช่น ปี 2566 มีการทำเพลง “ตัดสาย” ร่วมกับ โจอี้ ภูวศิษฐ์ สร้างการเข้าถึงคนทุกกลุ่มด้วยกลยุทธ์ KOLs Marketing
ขณะเดียวกันยังใช้กลยุทธ์ Partnership Marketing ให้ลูกค้าของเหล่าพาร์ตเนอร์เข้าถึงการใช้งาน Whoscall มากขึ้น ล่าสุดจับมือกับแบรนด์ และหน่วยงานต่าง ๆ ในแคมเปญ “จับมือเพื่อนรัก ตัดสายมิจร้าย” เช่น ทรู, ทรูมันนี่, บาร์บีคิวพลาซ่า และบัตร Max Card เป็นต้น
แคมเปญดังกล่าวมีการให้ความรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ สร้างการรับรู้ และภูมิคุ้มกันไม่ให้ถูกหลอกลวง ทั้งมอบโค้ด Whoscall พรีเมี่ยมฟรี 3 ล้านโค้ดมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทให้พาร์ตเนอร์
“การป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ เราทำคนเดียวไม่ได้ จึงจับมือกับพาร์ตเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายในการลดความเสียหายจากมิจฉาชีพที่นับวันมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ใช้ AI ปลอมตัวตน หรือนำข้อมูลส่วนตัวมาสร้างความน่าเชื่อถือ”
โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2567 จะช่วยคนไทยลดความสูญเสียทางทรัพย์สินจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพไม่น้อยกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท