
“ไมโครซอฟท์” เผยผลสำรวจ Work Trend Index 2024 พบ 74% ของผู้บริหารในไทยไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะด้าน AI และกว่า 90% เลือกจ้างพนักงานประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะการใช้ AI แทน
วันที่ 19 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn เผยผลการศึกษาจากรายงาน Work Trend Index 2024 ที่รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คน ใน 31 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทย)
พร้อมด้วยแนวโน้มตลาดแรงงานและเทรนด์การจ้างงานผ่านทาง LinkedIn รวมถึงข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากการใช้งาน Microsoft 365 และการศึกษาวิจัยลูกค้าของบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500 เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา AI ได้มีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำงาน การบริหาร และการจ้างงานของผู้คนทั่วโลก
โดยรายงานฉบับดังกล่าวได้สรุปข้อมูลเชิงลึกใน 3 ประเด็นที่มีความสำคัญต่อผู้บริหารและพนักงานในไทย สะท้อนถึงผลกระทบของ AI ที่มีต่อการทำงานและตลาดแรงงานในปี 2567 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.พนักงานต้องการนำนวัตกรรม AI มาช่วยในการทำงาน โดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม
พนักงานคนไทยกว่า 92% นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงานแล้ว สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% โดยในกลุ่มผู้ใช้งาน AI ยังพบอีกว่า 81% เลือกนำเครื่องมือ AI ของตนเองมาใช้งาน จนเกิดเป็นกระแสที่เรียกว่า Bring Your Own AI (BYOAI) อาจทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการใช้งาน AI อย่างไม่เต็มที่ เนื่องจากขาดทิศทางและกลยุทธ์ในระดับองค์กร อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล
แนวโน้มการนำ AI มาใช้ในที่ทำงาน อาจเป็นผลมาจากภาระงานที่พนักงานแต่ละคนต้องแบกรับ โดย 68% ของพนักงานทั่วโลกระบุว่าต้องเจอกับปัญหาในการทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลา ซึ่ง AI ถือเป็นตัวช่วยประหยัดเวลา เสริมความคิดสร้างสรรค์ และทำให้มีเวลาจดจ่อกับเนื้องานในส่วนที่สำคัญที่สุดได้มากขึ้น
นอกจากนี้ 91% ของผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าบริษัทของตนจำเป็นต้องนำนวัตกรรม AI มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79% แต่ยังมีผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 64% ที่มีความกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำ AI มาใช้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 60% ซึ่งผู้บริหารจำนวนไม่น้อยยังพบกับอุปสรรคในการประเมินผลลัพธ์ที่ได้รับจากการใช้ AI ออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวเงิน
2.ผู้ใช้งาน AI ในระดับ Power Users มีเพิ่มมากขึ้น
พนักงานที่เป็น AI Power Users หรือผู้ใช้งาน AI ระดับสูง ที่มีการใช้ AI อย่างต่อเนื่อง จะนำเครื่องมือและบริการ AI ต่าง ๆ มาปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานในแต่ละวัน และสามารถลดเวลาที่ใช้ทำงานที่มีอยู่เดิมลงได้วันละ 30 นาที หรือเฉลี่ยออกมาเป็น 10 ชั่วโมงต่อเดือน
และในประเทศไทย 86% ของพนักงานกลุ่มนี้เลือกที่จะเริ่มและจบวันทำงานด้วย AI สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของ AI Power Users ทั่วโลกที่ 85% แต่ในทางกลับกัน ผู้ใช้ AI ระดับสูงในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ AI ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ ๆ เพียง 45% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลกที่ 68%
นอกจากนี้ โครงสร้างการสนับสนุนการใช้งาน AI ในองค์กรไทยมีความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากทั่วโลก โดยกลุ่ม AI Power Users ในไทย มีเพียง 28% เท่านั้นที่มีโอกาสได้ฟังเนื้อหาสาระหรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการทำงานจากแผนกหรือฝ่ายที่ตนเองทำงานอยู่ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40%
ขณะที่ด้านการเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ใช้งาน AI ระดับสูงในประเทศไทยเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42%
3.AI กลายเป็นมาตรฐานใหม่ด้านทักษะ ทำลายขีดจำกัดในสายอาชีพ
ผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66% และหากต้องเลือกระหว่างทักษะ AI กับประสบการณ์การทำงาน ผู้บริหารไทยกว่า 90% เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่า แต่ขาดทักษะในด้านนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71%
ในด้านแนวโน้มการจ้างงาน ผลสำรวจระบุว่าผู้บริหารทั่วโลกราว 55% มีความกังวลว่าจะเผชิญสภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในปีนี้ โดยเฉพาะในสาขาความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสาขาที่กังวลว่าจะขาดแคลนมากที่สุด
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน Generative AI เป็นเครื่องมือที่นำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในที่ทำงาน จะเห็นว่าพนักงานส่วนใหญ่นำ AI มาช่วยสะสางภาระงานในแต่ละวัน โดยที่ไม่ได้รอดูว่าองค์กรจะมีเครื่องมือ บริการ วิสัยทัศน์หรือแนวทางการใช้งานอย่างไร
“การนำ AI ในองค์กร เป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้องค์กรและพนักงานได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งาน AI ทั้งในเชิงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้นจากแนวทางและนโยบายด้านการใช้ AI ที่ชัดเจน”