
ย่างเข้าปีที่ 4-5 แล้ว ที่ “หัวเว่ย” ยักษ์เทคโนโลยีจีนได้ประกาศวิสัยทัศน์ 5.5G หรือ 5G-Advance เดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมพื้นที่ประเทศจีน และนำเสนอ Use Case ที่รองรับเน็ตเวิร์กที่ออกแบบสำหรับอุตสาหกรรม แต่ก็ยังเรียกว่าต้องทำงานอีกมากกับพาร์ตเนอร์และลูกค้าเพื่อนำไปปรับใช้จริง
WMC 2024 โชว์เคสนวัตกรรม
การผลักดันมาตรฐานของเน็ตเวิร์กไปสู่ 5G Advance ร้อยเรียงออกมาแสดงที่งาน World Mobile Congress 2024 Shanghai ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจความก้าวหน้าใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเซี่ยงไฮ้ มหานครแห่งแรกที่มีการปรับใช้โครงข่าย 5.5G และมีการโชว์เคสในงาน WMC 2024 ตั้งแต่โซลูชั่นตัวกระจายสัญญาณในบ้าน โซลูชั่นสมาร์ทซิตี้ ผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ ที่ออกแบบหน้าตาเหมือนมนุษย์และโต้ตอบได้เรียลไทม์ โครงข่ายที่จัดเก็บและประมวลผลคลาวด์ รวมถึงโซลูชั่น Private 5.5G ที่ใช้ในเมืองและโรงงานอุตสาหกรรมจำเพาะที่มีการนำไปใช้จริงเเล้ว
ทีมเทคนิคของหัวเว่ยบอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โซลูชั่น 5.5G สามารถใช้งานกับคลื่นความถี่ได้หลายแถบคลื่น ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้งานอะไรให้ออกแบบเพื่อสิ่งนั้น เช่น ในเขตอุตสาหกรรมที่ทำ Private 5G ก็ใช้แถบคลื่น 4.9 Ghz, 4.1 Ghz เป็นต้น โชคดีว่าที่จีนการใช้งานคลื่นความถี่เหล่านี้มีราคาต่ำ
ความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกันดีกับการปรับใช้โครงข่ายรุ่นใหม่ ที่วางบนโครงสร้างพื้นฐาน 5.5G เพราะเทคโนโลยี 5.5G หรือ 5G-A มีความสามารถใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในหลากหลายรูปแบบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็จะมีปฏิสัมพันธ์แบบอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์รูปแบบใหม่
เช่น จากเสียง HD ไปสู่วิดีโอ HD ไปสู่การโต้ตอบกับ AI แบบเรียลไทม์ การสตรีมสดจาก HD ไปสู่พาโนรามา ไปสู่ 3D
เครือข่ายอุตสาหกรรมจาก Northbound PLC ไปสู่ Southbound PLC ไปสู่การควบคุมการเคลื่อนไหว ทั้งหมดนี้ทำให้การเชื่อมต่อพื้นฐานทำได้ดีขึ้น รวมถึงอัตราอัพลิงก์และดาวน์ลิงก์และค่าความหน่วงตามที่กำหนด เพิ่มขีดความสามารถเครือข่ายขึ้นได้ถึง 10 เท่า
ความสามารถใหม่ของเครือข่าย 5G-A นำไปสู่การเชื่อมต่อและฟังก์ชั่นต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่น เครือข่าย 5G-A ผสานความสามารถในการสื่อสารและการตรวจจับเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การนำเครือข่ายที่ใช้เทคโนโลยี 5G-A ร่วมกับการสื่อสารและการตรวจจับ (HCS) มาใช้ ในเส้นทางข้ามทะเลที่ไกลราว 100 กม. จากโจวชานไปยังเซี่ยงไฮ้ ทำให้อาหารทะเลที่จับได้จากโจวชานทุกเช้า สามารถจัดส่งโดยโดรนไปยังเซี่ยงไฮ้ได้ภายในเที่ยงวัน เป็นผลมาจากระบบเครือข่ายที่ดี
เทคโนโลยี 5G-A สามารถใช้อุปกรณ์ IoT ที่ไม่มีแหล่งจ่ายไฟในตัว (Passive IoT) ซึ่งใช้แท็ก (Tag) และเซ็นเซอร์ที่ไม่มีแหล่งจ่ายไฟในตัวเช่นกัน ในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งการใช้อุปกรณ์ IoT ที่ไม่มีแหล่งจ่ายไฟในตัว มีความคุ้มค่า และง่ายต่อการปรับใช้ จะช่วยเพิ่มจำนวนการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ในภาคอุตสาหกรรมจาก 10,000 ล้าน เป็น 100,000 ล้านการเชื่อมต่อ และช่วยเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรือกุญแจ
แต่เหนือสิ่งอื่นใด “ยุคของเอไอ” น่าจะเป็นตัวเร่งสำคัญในการผลักดันโครงข่าย วางรากฐานใหม่ด้วย 5.5G
ก้าวสู่ยุค 5.5G และ AI
“นายเดวิด หวัง” กรรมการบริหารและประธานคณะกรรมการจัดการโครงสร้างพื้นฐานไอซีที หัวเว่ย กล่าวปาฐกถา ในงาน MWC Shanghai 2024 ในหัวข้อ “Advancing 5.5G and Shaping the Mobile AI Era.” แบ่งยุคของโทรคมนาคมเคลื่อนที่ 3 ยุค ซึ่งหัวเว่ย มีส่วนร่วมมาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคที่ 1 ของโมบายแบบเสียง หรือ 2G ยุคที่ 2 โมบายอินเทอร์เน็ต ที่รวมเอาบริการมากมายไว้ในโทรศัพท์ 3G-4G และเข้าสู่ยุคที่ 3 โมบายเอไอ (Mobile AI)ที่มี 5G และ 5.5G เข้ามามีบริบทสำคัญ ที่ผสานบริการเข้ากับอุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถ แว่นเอ็ดอาร์ หรือโมเดลเอไอต่าง ๆ
“เดวิด” กล่าวว่า ปี 2024 ถือเป็นปีแรกของการผลักดัน 5.5G ไปสู่คอมเมอร์เชียล และผสาน AI เข้ากับอุปกรณ์ที่หลากหลายยุค Mobile AI หรือเอไอบนมือถือสามารถเห็นได้ชัดแล้ว ซึ่งหัวเว่ยต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้เครือข่ายเร่งการพัฒนา 5.5G และเพิ่มมูลค่าสูงสุดในยุค AI บนมือถือ
“ใน 5 ปีที่ผ่านมา 5G เชิงพาณิชย์ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งและสร้างผลกระทบอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนต่ออุตสาหกรรมมือถือทั่วโลก และยังคงพัฒนาได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ปีนี้มีการใช้มาตรฐานสำหรับ 5G-Advanced- 3GPP-18 อย่างเป็นทางการ ผู้ให้บริการและคู่ค้ามากกว่า 60 ราย ได้ประกาศการปรับใช้ 5.5G เชิงพาณิชย์”
โดยยุค Mobile AI จะเห็นการเปลี่ยนแปลง 3 ประการ
ประการแรก การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนจากการสัมผัสเป็นแบบหลายรูปแบบ การใช้ภาษา ท่าทาง และอารมณ์จากมนุษย์โต้ตอบอย่างเป็นธรรมชาติ ส่งมอบประสบการณ์ตามความต้องการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
ประการที่สอง การสร้างเนื้อหา ในอนาคตข้อมูลที่เราค้นหาในอินเทอร์เน็ต จะสร้างขึ้นโดย AI การผลิตข้อมูลไม่ใช่ทำให้เสร็จทั้งหมดแต่ต้น แต่เป็นแค่การปรับแต่ง ทำให้มีบริการแบบเรียลไทม์ที่ครอบคลุมและปรับแต่งได้
ประการที่สาม อุปกรณ์เคลื่อนที่เปลี่ยนจากสมาร์ทโฟนไปเป็นผู้ช่วย AI และ AI ที่เป็นตัวเป็นตน อุปกรณ์สมาร์ทโฟนกลายเป็นจุดเชื่อมต่อ AI ที่ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น
เอไอกับปริมาณข้อมูลมหาศาล
การเติบโตของการใช้งานข้อมูล ความเร็วในการประมวลผล และประสิทธิภาพโดยรวมของปฏิสัมพันธ์กับเอไอและอุปกรณ์ในยุค Mobile AI
การปฏิสัมพันธ์แบบใช้รูปภาพ (graphical interaction) ทำให้ปริมาณการรับส่งข้อมูลบนมือถือเติบโตมาก ในยุคทองของเทคโนโลยี AI บนมือถือที่กำลังจะมาถึง ปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่เนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นจะกลายเป็นวิธีการหลักในการรับข้อมูล แทนที่การดึงข้อมูล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการโต้ตอบถึง 100 เท่า
นอกจากนี้ การสร้างเนื้อหาด้วย AI (AIGC) ทำให้การผลิตเนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึง 3D และวิดีโอเชิงมิติพื้นที่ง่ายกว่าที่เคย ทำให้ปริมาณเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 100 เท่า สืบเนื่องจากโมเดลเอไอขนาดเล็กจำนวนมากที่ติดตั้งในอุปกรณ์มือถือ ทำงานร่วมกับโมเดลพื้นฐานบนคลาวด์แบบเรียลไทม์
ในด้าน Internet of Vehicles (IoV) จะมีเครือข่ายกิกะบิตรองรับระบบช่วยขับขี่อัจฉริยะ เทคโนโลยีการสตรีมวิดีโอหลายหน้าจอ แอปพลิเคชั่น Extended Reality (XR) ข้อมูลการขับขี่ 100 GB จะอัพโหลดเพื่อฝึกสอนระบบการขับขี่อัจฉริยะทุกเดือน ช่วยเพิ่มความแม่นยำ
นอกจากนี้ ระบบการสื่อสารของยานยนต์ (Vehicle-to-Everything – V2X) ความเร็วระดับมิลลิวินาทีจะวางกลยุทธ์การขับขี่ที่เชื่อถือได้แบบเรียลไทม์และมีเสถียรภาพ
เทคโนโลยี Internet of Everything (IoE) จะมีข้อจำกัดน้อยลง เนื่องจากเครื่องจักรสามารถประมวลผลข้อมูลและเคลื่อนที่ได้เหมือนมนุษย์ การเชื่อมต่อเครือข่ายจะขยายจากมนุษย์ไปสู่มนุษย์ดิจิทัล สร้างผู้ช่วย AI และพนักงาน AI อัจฉริยะที่เชื่อมต่อกันถึง 1 หมื่นล้านคน
สำหรับคนทั่วไป ในอนาคตทุกคนจะมีผู้ช่วย AI ที่ทำงานบนสมาร์ทโฟน แว่นตา และอุปกรณ์ AI ระบบผู้ช่วยอัจฉริยะจะก้าวไปไกลกว่าเครื่องมือ และกลายเป็นเพื่อนร่วมทางที่ตอบสนองความต้องการในทุกสถานการณ์
ในภาคอุตสาหกรรม โรงงานอัจฉริยะทุกแห่งจะมีสมองเพื่อประมวลผล ซึ่งทำให้บูรณาการระบบพนักงาน AI เข้ากับกิจกรรมการผลิตได้อย่างไร้รอยต่อ
พนักงาน AI มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองและตอบสนองได้อย่างแม่นยำ ยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของกระบวนการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบำรุงรักษาไปจนถึงการตรวจสอบคุณภาพและการขนส่ง
จะมีผู้ช่วยและพนักงาน AI ที่เชื่อมต่อกันนับหมื่นล้านคน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว AI จะมีจำนวนมากกว่าการเชื่อมต่อของผู้คน และช่วยบุกเบิกยุคใหม่ของการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร
เร่งวางโครงข่าย
ในยุคแห่งเทคโนโลยี AI บนมือถือจะเปิดโอกาสธุรกิจใหม่จำนวนมหาศาล ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมจึงต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อคว้าประโยชน์สูงสุดจากยุคทองนี้
โดยโครงข่าย 5.5G จะเป็นเสาหลักสำคัญของยุคเทคโนโลยี AI บนมือถือ ซึ่งหัวเว่ยได้เร่งการพัฒนา ร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมและพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ใหม่ ๆ ซึ่งจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในสองมิติสำคัญต่อไปนี้
ประการแรก คือ “เครือข่ายสำหรับ AI” คือการวางรากฐานสำหรับยุค AI บนมือถือ โดยบริการหลากหลายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จะเพิ่มข้อกำหนดศักยภาพเครือข่ายที่สูงขึ้น เช่น แบนด์วิดท์อัพลิงก์และดาวน์ลิงก์ขนาดใหญ่ที่มีค่าความหน่วงต่ำ เพื่อตอบสนองความต้องการของเทคโนโลยี Internet of People (IoP) และ IoV เราต้องเร่งขับเคลื่อนวิวัฒนาการของย่านความถี่ทั้งหมดเพื่อรองรับประสบการณ์ 5.5G เพื่อปลดล็อกคุณค่าสูงสุดของแต่ละย่านความถี่
ประการที่สอง คือการผลักดัน “AI สำหรับเครือข่าย” ซึ่งหมายถึงการใช้ AI เพื่อเสริมศักยภาพเครือข่าย และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครือข่ายเพิ่มขึ้นในทุกมิติ
หากต้องการนำ AI มาใช้อย่างเต็มศักยภาพ การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการและการบำรุงรักษา (O&M) เครือข่ายมีความจำเป็น เช่น โมเดลรากฐานโทรคมนาคมของเราช่วยเร่งวิวัฒนาการของเครือข่ายไปสู่ L4 Autonomous Networks (ANs) และมีแอปพลิเคชั่นสองประเภท คือ copilots แบบ role-based และเอเจนต์เฉพาะสถานการณ์ โดย copilots ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในบทบาทต่าง ๆ ด้วยคำถามและคำตอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลระบบ O&M ในทางกลับกัน เอเจนต์มีความสามารถในการเข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้ใช้และประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้โดยอัตโนมัติ
ในยุคแห่งเทคโนโลยี AI บนมือถือ รากฐานเครือข่ายที่แข็งแกร่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นและโมเดลธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่
ในตลาดผู้บริโภค จะมีแอปพลิเคชั่นอัจฉริยะใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความต้องการด้านประสบการณ์ของผู้บริโภคจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ สิ่งนี้จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยผู้ให้บริการเครือข่ายจะเปลี่ยนการสร้างรายได้จากการรับส่งข้อมูลไปสู่การสร้างรายได้จากประสบการณ์หลากหลายมิติ
ผู้บริหาร “หัวเว่ย” ย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า ในภาคอุตสาหกรรม บริการอัจฉริยะจะยังคงได้รับความนิยม และสร้างโอกาสในการทำรายได้ให้กับผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อขยายขอบเขตจากบริการเชื่อมต่อไปสู่บริการประสบการณ์ที่ผสานการเชื่อมต่อแบบอัจฉริยะ