พลิกปท.ต่อยอดไทยแลนด์4.0 “TDRI”แนะรัฐปรับใหญ่-เพิ่มทักษะ”คน”

ทีดีอาร์ไอ - เวทีสัมมนาสาธารณะประจำปีของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปี 2561 นี้มาในหัวข้อ "ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี" ทันสมัยเข้ากระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่น
“ทีดีอาร์ไอ” ย้ำ “ไทยแลนด์ 4.0” ถูกทางแต่ยังดีไม่พอ แนะต่อยอดด้วยเศรษฐกิจ 3C “ประณีต-สร้างสรรค์-ใส่ใจ” แนะแรงงาน reinvent สู้ AI เติมทักษะใหม่ ภาครัฐต้องปรับทัศนคติ เลิกเป็น nanny state ฟากรัฐบาลเร่งรื้อปรับกฎใหม่ให้เอื้อยุคดิจิทัล

 

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และออโตเมชั่นพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเขย่าทั้งธุรกิจและการใช้ชีวิตผู้คนทั่วโลก รัฐบาลหลายประเทศเริ่มวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนา 2 เทคโนโลยีนี้ เพื่อหวังก้าวเป็นมหาอำนาจด้าน AI (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) โดยเฉพาะจีนลงทุนวิจัยกว่าแสนล้านบาทต่อปี แต่ประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ด้านนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล

“อุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ขนส่ง คมนาคม พลังงาน เทคโนโลยี ได้รับผลกระทบแรงมาก งานประเภททำซ้ำ อย่างเสมียน คนขับรถ จะแทนที่โดยคอมพิวเตอร์ได้ง่าย งานที่ทดแทนยาก คือ งานที่มีความละเอียดของประสาทสัมผัสและมือ มีความคิดสร้างสรรค์ระดับสูง การศึกษาที่จำเป็นต้องใช้สมองทั้ง 2 ซีก ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรม คณิตศาสตร์ และศิลปะ”

ไทยแลนด์ 4.0 ยังดีไม่พอ

แม้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาถูกทางแล้ว แต่ยังดีไม่พอ ไม่พอที่จะก้าวเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ใน 20 ปีข้างหน้า จะมีงาน 1.5 ล้านตำแหน่งหายไป ทางรอดคือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโมเดลการพัฒนาประเทศ การเรียนรู้ การจ้างงาน ระบบสวัสดิการสังคม กฎระเบียบและทัศนคติภาครัฐ โดยมุ่งสร้างเศรษฐกิจแห่งอนาคตต่อ ยอดไทยแลนด์ 4.0 ด้วยยุทธศาสตร์การใช้ “AI” จริงจัง เสริมด้วยการสร้างงานจากเศรษฐกิจ 3C คือ เศรษฐกิจประณีต (craft economy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) และเศรษฐกิจใส่ใจ (care economy) สร้างงานสู้ AI ทำให้เศรษฐกิจโตได้ร้อยละ 4.3 ต่อปี ก้าวสู่ประเทศรายได้สูงได้ใน 20 ปี

ธุรกิจอนาคตอยู่ที่จีน

นายธนา เธียรอัจฉริยะ chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เสริมว่า ธนาคารเจอกระแสบริษัทเทคโนโลยีกลายเป็นคู่แข่ง รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ทุกคนใจร้อนต้องการเดี๋ยวนี้ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมรวดเร็วมาก การโตปีละ 10% เหมือนเดิมไม่เพียงพอทำให้แบงก์อยู่ในสถานะลำบาก ทั้งการแข่งขันและทัศนคติผู้บริโภคที่มองว่าแบงก์ “งก ช้า ห่วย” ซึ่งเกิดกับธุรกิจดั้งเดิมที่ปรับตัวช้ากว่าเทคโนโลยี เปิดทางให้ธุรกิจใหม่แทรกเข้าสู่ผู้บริโภค

“ไทยมีธุรกิจใหม่แต่น้อยไป สตาร์ตอัพไทย 5-6 ปีหลัง มี 700-800 บริษัท แต่จีนวันละ 12,000 บริษัท”

แนะ reinvent สู้ AI

นายณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัย TDRI กล่าวว่า กลยุทธ์ในการอยู่ร่วมกับ AI คือ มองภาพรวม ร่วมก่อการ ชาญฉลาดใช้ และใฝ่หาช่องว่าง โดยการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแตกต่างด้วยสัมผัสมนุษย์ทำงานที่ต้องใช้ทักษะทางสังคม อาทิ ถ้าเป็นนักกฎหมายต้องเป็นผู้จัดการโครงการเข้าไปพัฒนา AI ด้านกฎหมาย ประมวลองค์ความรู้เพื่อให้ AI ใช้งานได้ นำ AI มาใช้เขียนคำฟ้องที่มีโอกาสชนะคดีสูง การเป็นนักกฎหมายเฉพาะด้าน อาทิ ด้านกีฬา และเป็นนักกฎหมายที่ใส่ใจเข้าใจลูกความขณะที่คนรุ่นใหม่ปัจจุบันกว่าจะเกษียณอาจเปลี่ยนอาชีพถึง 5 ครั้ง จึงต้องขวนขวายเติมทักษะที่ขาดเสมอ ทักษะด้านดิจิทัล ที่สำคัญ คือ AI, big data และ cloud ต้อง reinvent ตนเอง สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดี มีการสร้างแพลตฟอร์ม my skill future ใส่ประวัติการทำงานแล้วจะวิเคราะห์ให้ว่า อาชีพอะไรที่สอดคล้องและยังขาดทักษะใด มีหลักสูตรฝึกอบรมที่รัฐบาลรับรองกว่า 24,000 หลักสูตร อุดหนุนค่าใช้จ่ายแตกต่างกันแต่ละกลุ่ม ถ้ามีรายได้น้อยอุดหนุน 95% อายุ 40 ปีขึ้นไป อุดหนุน 90% มีแจกคูปองกระตุ้นให้ไปอบรม และจ่ายค่าเสียเวลาให้นายจ้างกรณีลูกจ้างต้องไปอบรมเพิ่มเติม

ส่งเสริมเรียนรู้ตลอดชีวิต

นายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัย TDRI เสริมว่า ระบบการศึกษาต้องเตรียมคนให้พร้อม ต้องมอบทักษะแห่งอนาคตให้คนรุ่นใหม่ สร้างทัศนคติอุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ การทำงานเป็นทีม ไม่ใช่การจำเหมือนก่อน เทคโนโลยีทำให้ความรู้เปลี่ยนรวดเร็ว การเรียนเขียนโปรแกรม cod-ing ช่วยทำให้เกิดกระบวนการคิดเป็นขั้นตอนเป็นระบบ คาดการณ์ และแก้ปัญหาเป็น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ยาก ๆ

“ผลสอบ PISA ของเด็กไทย 50% ไม่สามารถอ่านจับใจความได้ 47% ไม่สามารถใช้ความรู้วิทย์แก้ปัญหาได้ 36% สอบตกทุกวิชา ต้องเปลี่ยนการศึกษาไทยให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภาคการศึกษาต้องปรับหลักสูตรให้เข้ากับทักษะแห่งอนาคต ให้ทุกช่วงอายุมีโอกาสเข้ามาเรียนใหม่ เอกชนต้องให้ทักษะ ช่วยในการเปลี่ยนผ่าน สนับสนุนความรู้และทรัพยากร รัฐต้องลงทุนช่วยคนด้อยโอกาสเปลี่ยนผ่าน”

รัฐต้องปรับทัศนคติ

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิจัย TDRI กล่าวว่า ภาครัฐคือหัวใจสำคัญ เพราะเทคโนโลยีเข้ามากระทบกับทั้งธุรกิจดั้งเดิม ความปลอดภัยของคน และทรัพย์สิน ละเมิดความเป็นส่วนตัวก่อให้เกิดอาชญากรรมได้ มีทั้งมุมมืดและมุมสว่าง ดังนั้นภาครัฐต้องปรับทัศนคติ การกำกับดูแลแบบปลอดภัย ไปสู่การกำกับแบบเปิดกว้างตราบใดที่ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่า อันตราย เข้าใจเทคโนโลยี เข้าใจการใช้ประโยชน์ เข้าใจผลกระทบรู้ว่ากำกับดูแลแต่ละส่วนเกิดผลกระทบอย่างไร

“เลิกแนวคิดแบบ รัฐคุณพ่อรู้ดี (nanny state) ทุกการออกกฎกติกาต้องมีหลักฐานและเปิดกว้างให้มีส่วนร่วม รัฐไม่ได้รู้ทุกอย่าง การผลักดันต้องมีเอกภาพ ไม่ใช่รัฐบาลไป 4.0 แต่กรมสรรพากรเก็บภาษีทุกอย่าง”

ไม่รับเสี่ยงก็ไม่มีโอกาส

การกำกับการระดมทุนด้วยเหรียญดิจิทัล (ICO) ของประเทศต่าง ๆ มีทั้งที่ปล่อยให้นักลงทุนดูแลตนเอง เช่นสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น ขณะที่แคนาดาเปิดเป็นพื้นที่ sandbox ในสหรัฐอเมริกาให้ผู้ออก ICO ดูแลตนเอง ส่วนจีนและเกาหลีใต้ ห้ามระดมทุนแบบ ICO

ขณะที่ไทย มองไปที่ปัญหาแล้วหาทางควบคุม สถานการณ์ปัจจุบันมีการออกพระราชกำหนดการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลระบุให้ออกได้เฉพาะบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามคำเสนอแนะของ ก.ล.ต. เป็นลักษณะพิเศษของประเทศไทย ทุกอย่างไม่จบที่องค์กรกำกับดูแล แต่ไปจบที่รัฐมนตรี หรือฝ่ายการเมือง ทั้งกำหนดให้กำไรจากโทเคนดิจิทัล หัก ณ ที่จ่าย อัตรา 15%

ห่วงการปฏิบัติของภาครัฐ

นายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt University กล่าวว่า แนวทางกำกับดูแลของภาครัฐที่กังวลมาก นอกจากความล้าสมัยของกฎหมายอยู่ที่การปฏิบัติ โดยเฉพาะระบบราชการ ที่เน้นการกำหนด KPI ที่จำนวนผูกไว้กับงบประมาณ และมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน บางครั้งได้ตัวเลขที่ดูดี แต่ไม่สะท้อนความเป็นจริง อาทิ สตาร์ตอัพวีซ่าที่ใช้เอกชนมาเป็นผู้รับรองการอนุมัติวีซ่า

รัฐเร่งรื้อกติกาใหม่

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มี 3 เรื่องที่สำคัญกับรัฐบาล คือ กฎหมายต้องเปลี่ยน ทุกอย่างคือเรื่องใหม่ กฎหมายไทยอายุมากเกินไปจึงไม่แปลกใจว่าทำไมการทำสตาร์ตอัพในไทยจึงติดขัด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายสำหรับธุรกรรมในอนาคต อาทิ พ.ร.บ.ที่เอื้อต่อการทำ sandbox พ.ร.บ.รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ทำ big data open data ในการแชร์ข้อมูล ใช้ข้อมูลร่วมกัน รัฐต้องเอื้อให้มีข้อมูลเพียงพอ รวมถึงมีสตาร์ตอัพแคมป์วีซ่า มี VC เซ็นรับรอง 1 ราย ก็ทำงานได้ 6 เดือน แทนวีซ่านักท่องเที่ยว

“ปัญหาสำคัญคือ คนกำกับดูแลตามกฎหมาย ถ้าไม่เข้าใจหรือไม่กล้าจะเกิดปัญหา ดังนั้นต้องทำให้คนกำกับดูแลกฎหมายเข้าใจและยอมรับ อยากให้ไทยทันโลก”

และงานที่จะเร่งทำใน 8 เดือนจากนี้ คือ สะสางกฎเกณฑ์ ยกเลิกการออกใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น อย่างกฎหมายท้องถิ่นที่กระทบกับประชาชนมีถึง 7 แสนฉบับ ตั้งเป้าลดให้เหลือพันฉบับ


“รัฐบาลอยู่แบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่เคยซุกซ่อนอยู่จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนจับตามอง รัฐบาลจะพัฒนาแอปหมาเฝ้าบ้านคอยฟ้องรัฐบาลให้ตรวจสอบโครงการ และเรื่องต่าง ๆ ได้โดยตรง”