เปิดรายงาน “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” ส่องไตรมาส 1 ใครได้ใครเสีย

ยังคงแข่งขันกันดุเดือดสำหรับการแข่งขันกันดึงและแย่งลูกค้าของค่ายมือถือทั้ง 3 แบรนด์ใหญ่ และแบรนด์รอง ๆ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้รวบรวมข้อมูลการรายงานจากบริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมาย จำกัด ผู้ทำหน้าที่เป็นเคลียริ่งเฮาส์ให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือสามารถใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP : Mobile Number Portability) หรือการ “ย้ายค่ายเบอร์เดิม”

มาดูกันว่า ในไตรมาส 1 ปี 2560 ค่ายมือถือรายใดจะช่วงชิงลูกค้าจากคู่แข่งได้มากกว่า และค่ายใดจะเพลี่ยงพล้ำ

ย้ายค่ายสำเร็จ 87.81%

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1 ปี 2560 มีจำนวนคำขอโอนย้ายเลขหมาย MNP ทั้งหมด 760,046 เลขหมาย แต่โอนย้ายได้สำเร็จ 667,375 เลขหมายหรือ 87.81%

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ที่ผ่านมา ทั้งจำนวนคำขอ MNP และจำนวนที่โอนย้ายสำเร็จลดลงต่อเนื่อง โดยในส่วนของจำนวนเลขหมายที่โอนย้ายสำเร็จลดถึง 77.41% เมื่อย้อนกลับไป ณ เดือน ต.ค. 2559 มีการโอนย้ายสำเร็จ 1,156,340 เลขหมาย เดือน พ.ย. 2559 มี 1,104,860 เลขหมาย และเดือน ธ.ค. 2559 มีผู้ใช้บริการ 692,299 เลขหมาย

และเมื่อเทียบกับขีดความสามารถของระบบเคลียริ่งเฮาส์แล้ว บริการ MNP ในไตรมาส 1 คิดเป็นเพียง 2.47% ของระบบทั้งหมดเท่านั้น

แต่เมื่อสำรวจทุกบริษัทพบว่ามีสัดส่วนการโอนย้ายสำเร็จสูงขึ้นกว่าไตรมาส 4 ปี 2559 โดยบริษัท เรียลมูฟ (ทรูมูฟ เอช) เป็นกลุ่มบริษัทที่มีอัตราความสำเร็จในการโอนย้ายสูงสุดที่ 99.23% ของจำนวนคำขอ โดยมีจำนวน 336,313 เลขหมาย ส่วนกลุ่มดีแทค ไตรเน็ต มีการโอนย้ายสำเร็จ 83.76% หรือ 284,067 เลขหมาย และกลุ่ม AWN ในเครือเอไอเอสมีการโอนย้ายสำเร็จ 68.86% หรือ 91,502 เลขหมาย

ย้ายไม่ผ่านปัญหาเดิม ๆ

จากการวิเคราะห์ปัญหาที่ทำโอนย้ายเลขหมายไม่สำเร็จในไตรมาส 1 ปีนี้ 43.77% คือติดหนี้ 26.27% คือชื่อผู้ขอโอนย้ายเลขหมายไม่ตรงกับที่ลงทะเบียนซิมการ์ด 19.18% PIN ผิดพลาด 5.57% เลขหมายอยู่ระหว่างระงับการใช้งาน โดยสัดส่วนดังกล่าวแตกต่างจากในปี 2559 ที่ 43.71% มาจากปัญหาชื่อผู้ขอ MNP ไม่ตรงกับที่ลงทะเบียนซิมการ์ด 14.52% ขาดเอกสาร 13.42% โดนระงับการให้บริการ 13.10% และติดสัญญาการให้บริการ 12.25% ติดหนี้

ย้ายข้ามค่ายสูงขึ้น 53%

หลังจากมีการเปิดให้บริการ 3G บนคลื่น 2100 MHz เมื่อเดือน พ.ค. 2556 มีการใช้บริการ MNP ที่เป็นการย้ายข้ามค่าย 5.42% ไตรมาส 4 ปี 2559 ย้ายข้ามค่าย 9.47% แต่ในไตรมาส 1 ปีนี้มีการย้ายข้ามค่ายถึง 53.96%

โดยกลุ่มบริษัทเอไอเอสมีการโอนย้ายทั้งหมด 104,953 เลขหมาย เป็นการย้ายข้ามไปกลุ่มทรู 50.41% หรือ 52,906 เลขหมาย ย้ายไปยังกลุ่มดีแทค 49.53% หรือ 51,984 เลขหมาย ย้ายไปทีโอที 63 เลขหมายกลุ่มทรูมูฟ เอช แบ่งการโอนย้ายเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเลขหมายของเรียลมูฟ มี MNP ทั้งหมด 94,317 เลขหมาย เป็นการย้ายภายในเครือข่ายกลุ่มทรู 0.11% หรือ 104 เลขหมาย อีก 50.68% หรือ 47,803 เลขหมาย ย้ายไปยังกลุ่มบริษัทเอไอเอส และอีก 49.12% หรือ 46,330 เลขหมาย ย้ายไปกลุ่มดีแทค

ส่วนที่ 2 เป็นของ TUC (ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น) มีจำนวน MNP 253,759 เลขหมาย เป็นการโอนย้ายภายในเครือข่ายกลุ่มทรู 97.25% หรือ 246,789 เลขหมาย อีก 2.75% หรือ 6,970 เลขหมายย้ายข้ามค่าย แบ่งเป็นย้ายไปกลุ่มเอไอเอส 3,018 เลขหมาย กลุ่มดีแทค 3,948 เลขหมาย ทีโอที 4 เลขหมาย


ฟากกลุ่มดีแทคมีการ MNP ทั้งหมด 212,557 เลขหมาย 63.57% หรือ 135,116 เลขหมาย เป็นการโอนย้ายภายในเครือข่ายเดียวกัน เนื่องจากในปี 2561 สัมปทานของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จะสิ้นสุดลง จึงมีการกระตุ้นให้ลูกค้าย้ายไปใช้บริการของบริษัทในเครืออย่างดีแทค ไตรเน็ต แทน อีก 18.89% หรือ 40,143 เลขหมายเป็นการย้ายไปกลุ่มเอไอเอส อีก 17.53% หรือ 37,255 เลขหมาย เป็นการย้ายไปกลุ่มทรู