
หากพิจารณาสถิติอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดมากที่สุด ในแง่จำนวนเคสไม่ใช่การหลอกดูดเงิน หรือการแฮกมือถือ แต่พบว่ามาจากการช็อปปิ้งออนไลน์ กรณีได้สินค้าไม่ตรงปก ครองแชมป์มากกว่า 2 แสนคดี แม้ความเสียหายอาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับการหลอกลงทุน แต่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการค้าขายออนไลน์เป็นอย่างมาก
ส่องเทคนิคมิจฉาชีพ
มิจฉาชีพใช้เทคนิคหลอกลวงหลากหลายแบบ เช่น ผู้บริโภคสั่งหูฟังแบรนด์ดังราคาถูกกับร้านค้าออนไลน์ ซึ่งมิจฉาชีพเปิดไว้ และใช้รูปปลอม เมื่อจัดส่งสินค้าไปให้กลับเป็นอีกแบรนด์ที่ถูกกว่า เมื่อร้องเรียนก็ไม่คืนเงิน แล้วบอกว่าให้ไปแจ้งความฟ้องร้องเอง สร้างความยากลำบากให้ผู้บริโภคทั้งยังติดตาม “ร้านผี” เหล่านี้ได้ยาก
กรณีที่ 2 ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าแล้วเกิดปัญหาต่าง ๆ แต่ไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ หรือติดต่อได้แต่ไม่ได้รับการแก้ไข และในกรณีที่ 3 สวมรอยสั่งสินค้า เรียกเก็บเงินปลายทาง (CoD) ทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้สั่งซื้อ แต่มีพัสดุจัดส่งไปยังที่บ้าน โดยเรียกเก็บเงิน ณ ที่จัดส่ง
กรณีส่งสินค้าไปที่บ้าน มิจฉาชีพมักมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของเหยื่อ และอาศัยบริษัทขนส่งต่าง ๆ จัดส่งสินค้าที่เหยื่อไม่ได้สั่ง แล้วเรียกเก็บเงินปลายทาง เช่น ส่งก้อนอิฐ ทิสชู สมุนไพร หรือของราคาถูก เพื่อไปเก็บเงินราคาแพง แล้วจ่าหน้ากล่องเป็นที่อยู่มั่ว ๆ ไม่สามารถติดต่อได้ หากเหยื่อเป็นคนที่ซื้อของออนไลน์หลายชิ้นก็อาจสับสนและนึกว่าเป็นสินค้าที่สั่ง
ปัญหาเหล่านี้มีกระบวนการทางกฎหมายเอาผิดติดตามเคส แต่ด้วยมูลค่าความเสียหายต่อเคสไม่สูงมาก ทำให้หลายคนไม่อยากเสียเวลา แต่โดยภาพรวมมิจฉาชีพได้เงินมหาศาลจากการหลอกลวง โดยอาศัยระบบขนส่งโลจิสติกส์และระบบธุรกรรมที่ดี
ปมปัญหา CoD
นักช็อปหลายคนเลือกที่จะใช้วิธีการซื้อสินค้าโดยการจ่ายเงินปลายทาง ซึ่งเป็นบริการที่ผู้จัดส่งพัสดุจะเรียกเก็บเงินค่าสินค้าแทนผู้ส่งพัสดุ แล้วส่งให้ผู้ส่งสินค้า หรือร้านค้าโดยส่วนมากผู้ให้บริการขนส่งต่าง ๆ จะเก็บเงินไว้กับตัวก่อนแล้วค่อยตรวจสอบและส่งให้ผู้ค้าภายหลังภายหลัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้บริโภคตรวจสอบว่าไม่ใช่ของที่ตนสั่ง แล้วติดต่อกลับไปเพื่อเรียกเงินคืน ก็มักจะติดต่อร้านค้าไม่ได้ และเมื่อติดต่อกับทางบริษัทขนส่ง ก็พบว่าได้นำเงินที่เก็บปลายทางนั้นคืนให้ผู้ส่งไปแล้ว
แก้ระเบียบชะลอการจ่าย
“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปัญหานี้มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงได้ประสานให้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พิจารณาแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อ “ชะลอ” กระบวนการ CoD ให้ช้าลง เพื่อให้ผู้บริโภคและบริษัทขนส่งได้มีเวลาตรวจสอบธุรกรรม
ล่าสุดคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาภายใต้ สคบ.มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา “เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. …” ซึ่งจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา กรกฎาคม 2567 นี้
ด้าน “จิราพร สินธุไพร” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า การแก้ไขระเบียบนี้เป็นไปตามมาตรการส่งดี Dee-Delivery ที่จะกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้า ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งสินค้าและผู้ประกอบธุรกิจ ชื่อสกุลผู้รับเงิน พร้อมหมายเลขติดตามพัสดุ พร้อมกำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าถือเงินค่าสินค้าเป็นระยะเวลา 5 วันก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ขาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืน ทั้งยังให้สิทธิผู้บริโภคเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ หากพบว่ามีปัญหาก็สามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้