
มาตรการคัดกรองเลขหมายครั้งใหญ่เดินมาครึ่งทางแล้ว หลังให้ผู้ถือครองซิมการ์ดเกิน 6-100 เบอร์ยืนยันตนเพิ่งครบกำหนด จะมีเลขหมายที่โดนระงับ 2.1 ล้านเบอร์ ก่อนนี้ผู้ครองซิม 101 เบอร์ขึ้นไป ถูกระงับซิมไปแล้ว 1 ล้านเบอร์ ระหว่างนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำลังคัดแยกซิม 79-80 ล้านซิมที่ผูกโยงกับบัญชีธนาคารเพื่อใช้โมบายแบงกิ้ง 113 ล้านบัญชี คาดว่าจะอัพเดตข้อมูลเสร็จภายใน ก.ย. 2567
ด้านการคุมเข้มเสาสัญญาณ และสายโทรศัพท์ตามแนวชายแดนก็คืบไม่แพ้กัน โดย กสทช. ร่วมกับ สตช. กวาดล้างจับกุมผู้ลักลอบติดตั้งเสาส่งสัญญาณเถื่อน โดยดำเนินคดีตามกฎหมาย 29 ราย ตรวจสอบสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเสาสัญญาณของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย ตรวจสอบทิศทางการกระจายสัญญาณบริเวณชายแดน ใน 5 จังหวัด 7 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก, อ.แม่สาย อ.เชียงของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และ อ.เมือง จ.ระนอง
พบว่ามีสถานีวิทยุคมนาคมที่ให้บริการโทรคมนาคมเข้าข่าย และดำเนินการระงับสัญญาณ 465 จุด, ปรับทิศทางสายอากาศ 470 จุด และรื้อถอนสายอากาศ 179 จุด ทั้งยังกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานแบบจำลองการกระจายสัญญาณต่อสำนักงาน กสทช. อย่างสม่ำเสมอด้วย
กระนั้น บรรดามิจฉาชีพก็เริ่มปรับตัวหันไปใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ
สนธิกำลังไล่ล่าอาชญากร
ดังจะเห็นการจับกุมล่าสุดพบว่ามีการนำเข้าอุปกรณ์วิทยุโทรคมนาคมเถื่อน โดยเฉพาะอุปกรณ์รับส่งอินเทอร์เน็ตดาวเทียมวงโคจรต่ำ Starlink ซึ่งเปิดให้บริการในประเทศเพื่อนบ้านแล้วหลายประเทศ
บริการของ Starlink ลดข้อจำกัดด้านโครงข่ายภาคพื้นดิน ทั้งในแง่คลื่นความถี่ และสายไฟเบอร์ขอแค่ “ฟ้าเปิด” ก็ใช้สัญญาณโทรคมนาคมได้
จากรายงานของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระบุว่า ในเดือน มิ.ย. 2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงดีอี ได้ทำการตรวจยึดอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink 73 เครื่อง (จันทบุรี 30 เครื่อง, กรุงเทพฯ 28 เครื่อง, ตาก 15 เครื่อง)
จากการตรวจสอบพบว่าเส้นทางขนส่งอุปกรณ์ดังกล่าวไปยังปลายทางรวมกันในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเตรียมส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดจับกุม MR.AR CHE TE สัญชาติพม่า อายุ 29 ปี พร้อมเข้าตรวจค้นสถานที่ 4 จุด ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ยึดของกลางเป็นซิมการ์ด ดีแทค กว่า 10,000 ชิ้น ซิมการ์ด ทรูมูฟ กว่า 9,500 ชิ้น ซิมการ์ด เอไอเอส กว่า 500 ชิ้น ซิมการ์ดต่างประเทศ (อังกฤษ, อเมริกา) กว่า 11,000 ชิ้น และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink 2 ชุด และสายเชื่อม Starlink 15 เส้น
หันซบเทคโนโลยีใหม่
“พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร” กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย กล่าวในงานอบรม “รู้เท่า รู้ทัน รู้ป้องกันภัยไซเบอร์” ว่า ย้อนไป 10 ปี แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะตั้งฐานอยู่ในไทย และหลอกลวงต่างชาติ จน 3-4 ปีมานี้ ย้ายไปตั้งตามชายแดนไทย และโทร.เข้ามาหลอกลวงคนในประเทศ เพราะเทคโนโลยีในไทยเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงโควิด
“ชายแดนไทยติดเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ยาวหลายพันกิโลเมตร พม่า 2 พันกว่ากิโลเมตร กัมพูชาเป็นแผ่นดินเชื่อมกันอีกเฉียดพันกิโลเมตร ยากต่อการติดตาม เพราะห่างไทยไม่กี่กิโลอาศัยสัญญาณโทรคมนาคมจากฝั่งไทยก็ใช้เบอร์โทร.ไทย และอินเทอร์เน็ตไทยหลอกลวงคนได้ คนไทยจะไม่รู้เลยว่าเป็นเบอร์ที่โทร.จากต่างประเทศ เราจึงพยายามกวดขันการกระจายสัญญาณบริเวณชายแดน อาจไม่ได้ 100% เพราะหากย้ายเสามากไปจะกระทบคุณภาพสัญญาณ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้สัญญาณล้นเกินไป”
นั่นทำให้บรรดามิจฉาชีพหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่อย่างดาวเทียมวงโคจรต่ำ
“Starlink ให้บริการได้รอบประเทศไทย ตอนนี้พบตามแหล่งกาสิโนชายแดน”
กสทช. ณัฐธรกล่าวว่า ดาวเทียมวงโคจรต่ำเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่อาชญากรกำลังปรับตัวใช้ นอกจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปแล้วยังเกิดจากการกวดขันเสาสัญญาณชายแดนอย่างหนัก มีการตรวจจับร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบ่อยครั้ง
“เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และเขายังปรับตัวด้วยเทคโนโลยีใหม่ได้ ยิ่งสะท้อนว่าอาชญากรรมไซเบอร์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์คงจะอยู่ในสังคมเราตลอดไป”
ด้าน พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ด้วยความที่ตัวรับส่งสัญญาณ Starlink เป็นอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ดังนั้นการป้องกันในขั้นแรกคือสกัดไม่ให้นำเข้ามา แต่หากนำเข้ามาได้และมีการเปิดใช้งาน ก็ต้องหารือกับ กสทช.อีกทีว่าใช้ได้ในทางเทคนิคหรือไม่
“ส่วนตัวมองว่า อุปกรณ์ Starlink มีการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรคมนาคม 2 ทาง จึงน่าจะอาศัยรถโมบายเคลื่อนที่ของ กสทช.ตรวจจับได้ แต่รถก็มีรัศมีแคบ ดังนั้นความเป็นไปได้ในการกำกับดูแลจะต้องหารือกันอีกที”