
1 ปีก่อน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA วางพันธกิจองค์กรเป็น “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” (Focal Conductor) ในการเชื่อมโยงความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation Based Enterprises หรือ IBEs) 10,000 ราย ภายในปี 2570 ใน 5 อุตสาหกรรม คือ 1.กลุ่มเกษตร อาหาร และสมุนไพรมูลค่าสูง 2.กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ 3.กลุ่มพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม 4.กลุ่มการท่องเที่ยว และ 5.กลุ่มซอฟต์พาวเวอร์
ภายใต้การนำทัพของผู้อำนวยการคนใหม่ “ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง” ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการกว่า 1,047 คน จาก 500 องค์กร ผ่านหลักสูตร SME to IBE ใน NIA Academy ที่ทำร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน และยกระดับโครงการนิลมังกรด้วยการต่อยอดเป็น “นิลมังกร 10x” เน้นสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมคุณภาพสูงให้เข้าสู่ตลาดทุน ตั้งเป้ายอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทใน 3 ปี

NIA ยังส่งเสริมปัจจัยด้านการตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ InnoMall ที่ทำร่วมกับช้อปปี้ (Shopee) และสุขสวัสดิ์คอนเวิร์ทติ้ง เซ็นเตอร์ รวมถึงจัดกิจกรรมอย่างสตาร์ตอัพลีคที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสตาร์ตอัพ ทั้งให้คำปรึกษาเครือข่ายนักลงทุนและสมาร์ทวีซ่า เป็นต้น
ปีที่ผ่านมา NIA ให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการรายภูมิภาค 319 โครงการ เป็นวงเงินกว่า 566.88 ล้านบาท แบ่งเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล 150 โครงการ ภาคกลาง 23 โครงการ ภาคเหนือ 57 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 47 โครงการ และภาคใต้ 42 โครงการ
“จากนี้ NIA จะยังทำงานในโครงการต่าง ๆ ต่อเนื่อง เพื่อสร้างผู้ประกอบฐานนวัตกรรมที่มีรายได้ 1,000 ล้านบาทต่อปี อย่างน้อย 1,000 ราย ภายในปี 2570”
“ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส” รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA เสริมว่า ในปี 2566 ได้ปรับเปลี่ยนกลไกการให้ทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยโฟกัสที่การขยายผลทางธุรกิจและการเข้าสู่ตลาด ผ่าน 7 กลไกหลัก คือ

1.กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด สำหรับการทดสอบตลาด การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ให้สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์ 2.กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า สำหรับทดสอบความเป็นไปได้ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรม 3.กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม 4.กลไกการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 5.กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม เพื่อทดสอบนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 6.กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง และ 7.กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate Cofunding)
“กลไกที่ได้รับความนิยมคือกลไกที่ 1 และ 2 ซึ่งเราใช้เพื่อผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่ช่วง Growth Stage เพื่อลองตลาดและปรับสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น”
ภายใต้กลไกที่ 7 NIA ได้ร่วมลงทุนกับแหล่งเงินทุน (Listed Investor) เช่น อินโนสเปซ, บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล และกรุงศรี ฟินโนเวต ในสตาร์ตอัพทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ NaYoo, Nasket, DIA, ZEEN, MUI Robotics, BiST และ AdGreen มูลค่า 141.43 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างมูลค่าธุรกิจกว่า 1,750 ล้านบาท
“ในอดีต NIA เน้นให้ทุนแบบให้เปล่า วัดผลการเติบโตตาม KPIs แต่ตอนนี้ปรับกลไกการให้ทุนที่ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในการลงทุนได้ เช่น NaYoo แพลตฟอร์มสำหรับหาบ้านเช่าที่ NIA ลงขันกับ VC ฝั่งละ 5 ล้านบาท เมื่อธุรกิจเติบโตก็จะคืนเงินให้ NIA พร้อมดอกเบี้ย 3% ส่วนต่างที่เกิดขึ้นจะนำมาลงทุนในธุรกิจรุ่นน้องต่อไป”
ในส่วนของแผนการทำงานต่อจากนี้ “ดร.กริชผกา” กล่าวว่า NIA จะเพิ่มแนวคิด “Global” หรือการพาผู้ประกอบการไปสู่ตลาดต่างประเทศ เป็นแกนหลักในการทำงานผ่านการสร้างความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ พร้อมทั้งผลักดันการผ่านร่าง พ.ร.บ.สตาร์ตอัพ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการให้ทุนในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงจะมีการแก้รายละเอียดใน พ.ร.ฎ.การจัดตั้งสำนักงาน เพื่อให้ NIA ให้ทุนแบบ VC ได้ เพิ่มโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้รับการสนับสนุนใน Growth Stage ซึ่งจะเห็นความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า
“โมเดลของการตั้ง VC ที่มองไว้มี 2 แบบ คือ 1.Holding Company และ 2.P/E Trust หรือการลงขันของนิติบุคคลหลาย ๆ ราย มี Fund Manager บริหารแบบมืออาชีพ เป็นโมเดลที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศ เช่น Temasek ในสิงคโปร์ เชื่อว่าด้วยคอนเน็กชั่นและพาร์ตเนอร์ที่เรามี สามารถทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้”
ผู้อำนวยการ NIA ทิ้งท้ายด้วยว่า ในระยะของการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่อีก 3 ปี มีเป้าหมายที่จะทำให้ไทยมี “สตาร์ตอัพยูนิคอร์น” อีก 2 ราย เพิ่มจากที่มีอยู่แล้ว 3 ราย คือ LINE MAN Wongnai, Ascend Money และ Flash Express