“Sea” ยิ่งเดือดยิ่งเติบโต ลุย “เกม-เพย์เมนต์-อีคอมเมิร์ซ”

ก้าวมาไกลมาจากการรวมกลุ่มของผู้หลงใหลเกม สู่สตาร์ตอัพสิงคโปร์ระดับยูนิคอร์น ภายใต้ชื่อ “การีนา” ที่มีทั้งบริการเกม เพย์เมนต์และอีคอมเมิร์ซ และเพิ่งรีแบรนด์เป็น “Sea” พร้อมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับแม่ทัพใหญ่ในไทย “มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ถึงทิศทางท่ามกลางสมรภูมิที่ดุเดือดในทุกธุรกิจ

Q : IPO สร้างความเปลี่ยนแปลง

เหมือนจุดเริ่มต้นของการเดินทางรอบใหญ่อีกรอบ บรรลุสิ่งที่วางแพลนไว้ ในส่วนบริษัทแม่อาจจะเปลี่ยน แต่ในไทยเป้าหมายยังเหมือนเดิม อย่างการนำเกมระดับโลกเข้ามา การเป็นผู้พัฒนาเกมเองก็ปล่อยเกม Free Fire เกมมือถือแนว Battle Royale ที่พัฒนาเองตั้งแต่ต้นจนจบออกมาเป็นเกมแรก

Q : ตลาดเกมไทยตอนนี้

สพธอ.ประเมินว่าอยู่ที่หมื่นล้านบาท โต 20% ตั้งแต่ปี 2558-2560 และยังโตเรื่อย ๆ ด้วยกระแสที่สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียประกาศให้อีสปอร์ตเป็นกีฬาในเอเชี่ยนเกมส์ ทำให้หลายธุรกิจอยากมีส่วนในธุรกิจเกมด้วย แม้แต่มหาวิทยาลัยก็เริ่มมีบทบาท ซึ่งทางบริษัทก็ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรอีสปอร์ต เพราะเราเชี่ยวชาญอยู่ในตลาดไทยมาตั้งแต่ปี 2555 ไม่ใช่แค่ในไทยที่ตื่นตัว แต่ในอาเซียนมีคนสนใจอีสปอร์ตเพิ่มขึ้น 36% ทั่วโลกโต 19%

Q : เทรนด์ทำแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง

ยังไม่มีแผน ตอนนี้เรามีการีน่าไลฟ์ เป็นช่องสตรีมเกมหลักของบริษัทอยู่แล้ว ก็มีนักพากย์ในสังกัดเยอะ เวลาแข่งเกมก็จะมีไลฟ์บนเฟซบุ๊ก ยูทูบก็มีช่องทางการีน่าไลฟ์ของเราด้วย

Q : อนาคตธุรกิจเพย์เมนต์

กระแสดีมาก ประเทศเราเข้าใกล้แคชเลสโซไซตี้มากยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะแค่คนเมืองแล้ว น็อนแบงก์ก็แข่งขันพอสมควร บริการแอร์เพย์ของเราก็ต้องรักษาฐานลูกค้าให้ได้ ซึ่งก็ไม่เคยมองธนาคารเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าเรามีเซอร์วิสและบริการที่เข้าไปเสริมให้ ทำให้เป็น one-stop service เช่น ธุรกรรมทางแบงก์หลายอย่าง เราทำไม่ได้ อย่าง ฝาก ถอน แต่แอร์เพย์ทำธุรกรรมที่เป็นรายย่อย เป็นไพรเวตและยืดหยุ่นได้มากกว่า จึงสามารถจะรวบรวมผลิตภัณฑ์การบริการรายย่อยให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มให้หลากหลายได้

Q : ลูกค้าในมือแอร์เพย์

แอร์เพย์เกิดมาเพื่อให้เติมเงินเกมง่ายขึ้น เดิมฐานลูกค้าเป็นเกมเมอร์ แต่ตอนนี้มีตั้งแต่ 15-40 ปี มีทั้งกลุ่มแบงก์และน็อนแบงก์ ส่วนใหญ่เป็นแบงก์ด้วยซ้ำเน้นผูกบัญชี ซึ่งเราขยายไปกลุ่มไลฟ์สไตล์โปรดักต์ เช่น ซื้อตั๋วหนัง กับอีกฐานคือ ช้อปปี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Sea

Q : ตลาดแข่งดุน่าจะเหลือไม่กี่ราย 

ตอนนี้ก็เหลือไม่กี่รายแล้ว คนที่ยังอยู่ได้คือ รักษาคุณภาพบริการ ทำแอปให้ใช้สะดวกปลอดภัย เพิ่มบริการที่จะใช้ด้วยได้ให้มากขึ้น มองกลุ่มของอาหารที่จะดึงเข้ามาเพิ่ม ส่วนเซอร์วิสใหม่ ๆ ก็มองเรื่องปล่อยกู้ แต่ต้องดูความพร้อมของตลาดว่าถ้าลงไปแล้วจะแข่งขันได้ไหม เพราะแบงก์ก็ยังเป็นเจ้าใหญ่อยู่

Q : อีคอมเมิร์ซแข่งหนักขึ้นไปอีก

แข่งหนัก แต่เป็นการกระตุ้นให้พัฒนาและทำให้เติบโต ผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ บริการช้อปปี้ก็แข่งมาตลอด ในไทยน่าจะแข่งหนักกันอย่างน้อย 2-3 ปี แล้วมูลค่าอีคอมเมิร์ซยังไม่ถึง 5% ของตลาดค้าปลีกทั้งประเทศ จึงยังมีโอกาสโตได้อีกมหาศาล

Q : ประเทศอื่นแข่งหนักกว่าไหม

แต่ละประเทศก็จะแตกต่างกัน อย่างช้อปปี้ในไต้หวัน เราเป็นเบอร์ 1 ครองตลาดไป 80% แล้วระบบเพย์เมนต์กับโลจิสติกส์ของไต้หวันค่อนข้างแอดวานซ์กว่าอาเซียนกระจายเซอร์วิสได้มากและเร็ว 2 ปีก็ชนะตลาดได้ อย่างในเวียดนามก็ประสบความสำเร็จ เราเป็นที่หนึ่งได้ก็เพราะรุกหนัก และสร้างอีโคซิสเต็ม

Q : อีกนานแค่ไหนช้อปปี้จะคืนทุน

ก็อยากให้เกิดขึ้นเร็ว พยายามทำให้ดีที่สุด เราเปิดมาเกือบ 3 ปีแล้ว ตอนนี้กระแสดีและโตเร็วมาก ด้วยความพร้อมทั้งคนใช้งานที่มีความเข้าใจมากขึ้น การจ่ายเงินรับชำระเงินออนไลน์สะดวกมากขึ้น โลจิสติกส์ขนส่งดีขึ้น ซึ่งช้อปปี้ออกแบบมาตอบโจทย์ทั้งผู้ชื้อและผู้ขาย ทำให้เกิดอีโคซิสเต็มของอีคอมเมิร์ซขึ้นมา โดยพยายามจะรักษาโพซิชั่นของช้อปปี้ ล่าสุดเราประสบความสำเร็จในเรื่องแฟชั่น สินค้าแม่และเด็ก ตอนนี้เน้นพัฒนากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มขยับไปที่กลุ่มผู้ชายมากขึ้น อย่างพาร์ตเนอร์กับเสี่ยวมี่

Q : จะขยายไปทำโลจิสติกส์เอง

ยังไม่ได้คิด เพราะโลจิสติกส์เป็นเหมือนการเปิดอีกประตูหนึ่งเลย จะมีความยุ่งในอีกแบบนึง เราเวิร์กกับโลจิสติกส์หลายเจ้า หาพันธมิตรมากกว่า

Q : เป้าหมาย 3 ธุรกิจ


ธุรกิจเกมก็จะมีเกมใหม่ ๆ จะพัฒนาเองด้วยเพื่อให้เจาะจงและตรงใจเกมเมอร์มากขึ้น ช้อปปี้ จะเน้นการเติบโตของฐานผู้ซื้อและผู้ขาย เพิ่มเซอร์วิสให้ฟูลฟิลเมนต์เพื่อให้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อสะดวกสบายมากที่สุด มองว่าในอนาคตอาจจะสร้างแพลตฟอร์มเพิ่มเติมในตัวของช้อปปี้เอง เพิ่มตอบโจทย์ความต้องการไม่ว่าจะมาจากฝั่งของผู้ซื้อและผู้ขาย ส่วนแอร์เพย์จะเพิ่มให้เป็น one stop service solution มีการใส่โปรดักต์ต่าง ๆ ที่สามารถจะเพิ่มเข้าไปได้