Techtopia 2024 อีเวนต์ใหญ่ของ “กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” (KBTG) มาในคอนเซ็ปต์ A Blast From the Future มีเซสชั่นให้ความรู้เกี่ยวกับ AI และบูทแสดงผลงานการวิจัยของ KBTG มากมาย
พร้อมไฮไลต์พิเศษเชิญ “แอนดรูว์ อึง” (Andrew Ng) ผู้จัดการกองทุน AI Fund ที่ปลุกปั้นสร้างสตาร์ตอัพด้าน AI เขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Coursera และบอร์ดบริหาร Amazon มาบรรยายในหัวข้อ The Opportunities and Risks in AI พร้อมกับแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับการเติบโตของอุตสาหกรรม AI และแนวทางเพิ่มพูนขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย ร่วมกับ “เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานกลุ่ม KBTG
โอกาสของประเทศไทย
“แอนดรูว์” กล่าวว่า ด้วยระบบนิเวศการสนับสนุนด้าน AI และสตาร์ตอัพที่หลาย ๆ บริษัทและ KBTG ทำอยู่เอื้อต่อการปลดล็อกศักยภาพด้าน AI ของประเทศไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำงานร่วมกันให้มากขึ้น เพื่อผลักดันประเทศไปสู่จุดที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้งาน AI
“10 ปีก่อน จีนผลักดันการใช้ AI ในประเทศเยอะมาก มีการประยุกต์ใช้ทั้งในกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญและไม่เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร พนักงานขาย นักการตลาด และนักข่าว ทำให้ AI เติบโตในจีนอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของทุกคนจริง ๆ”
“เรืองโรจน์” เสริมว่า ปัจจุบัน KX Venture Capital (KXVC) บริษัทร่วมลงทุนในเครือ KBTG ที่ลงทุนในสตาร์ตอัพด้าน AI ยังมีเงินที่ไม่ได้ใช้เพื่อลงทุนอีกมาก ซึ่งนักลงทุนหรือ VC รายอื่น ๆ ก็สถานการณ์ไม่ต่างกัน
“ตอนนี้เรื่องเงินทุนไม่ใช่ปัญหา ถ้ามีของดีใคร ๆ ก็อยากเอาเงินมาลง แต่สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือจะปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างคนที่มีความสามารถในการใช้งาน AI และนำไปใช้ได้แบบ All-In ในองค์กรอย่างไร”
แนะต่อยอดจุดแข็งเดิม
“แอนดรูว์” กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีระบบการรักษาพยาบาลและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว จึงสามารถนำ 2 สิ่งนี้มาผนวกเป็นจุดแข็งและต่อยอดเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ โดยเชื่อว่า AI จะเข้ามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ทีมของผมทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพรายหนึ่งในอินเดีย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่สามารถให้บริการได้นอกเหนือจากการเข้ารักษาในระบบ เป็นการต่อยอดธุรกิจจากจุดแข็งในอุตสาหกรรมเดิม เพื่อสร้างโอกาสจากความคล่องตัวในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ”
“เรืองโรจน์” เสริมว่า ไทยเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับด้านการแพทย์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ที่ผ่านมามีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเดินทางมารับการรักษาที่ไทย มองว่า AI จะเข้ามาช่วยต่อยอดจุดแข็งและสร้างบริการใหม่ ๆ ได้มากขึ้น เช่น การมี Self Monitoring เช็กปัญหาสุขภาพด้วยตัวเองในเบื้องต้น ช่วยลดเวิร์กโหลดการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
“นอกจากเริ่มเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว AI ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อลดต้นทุนธุรกิจได้ เช่น Bearing AI หนึ่งในโปรเจ็กต์ของคุณแอนดรูว์ ที่ใช้ AI เข้ามาวิเคราะห์แผนการขนส่งทางเรือ ทำให้ประหยัดต้นทุนได้ 5 แสนเหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งคุณแอนดรูว์ยังมีโปรเจ็กต์ที่จะทำเรื่องการค้าข้ามพรมแดนด้วย”
AI = ผู้ช่วย SMEs
“เรืองโรจน์” กล่าวว่า ในมุมของ KBTG และธนาคารกสิกรไทย มีความมุ่งมั่นในการผลักดันให้กลุ่มเอสเอ็มอี (SMEs) ใช้ AI เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ เช่นเดียวกับยุคที่ธุรกิจมากมายเกิดขึ้นจากโซเชียลมีเดีย และสามารถสร้างกำไรได้จากการขายผ่านช่องทางออนไลน์
“AI เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ใคร ๆ ก็หนีไม่พ้น จริง ๆ เอสเอ็มอีหลายรายเริ่มนำ AI มาใช้บ้างแล้ว เช่น การออกแบบสิ่งต่าง ๆ หรือทำงานผ่าน โปรแกรมCanva เชื่อว่าเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือและพลังที่ช่วยให้คนตัวเล็กสามารถต่อสู้กับคนที่ตัวใหญ่กว่าได้”
Coding ทักษะแห่งอนาคต
“แอนดรูว์” มองว่า เทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันจะกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยที่สุดในยุคของเด็ก ๆ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นมา และทุกอย่างจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนยากที่จะตามทัน จึงมองว่าเด็ก ๆ ควรมีความรู้ในการใช้ AI และพื้นฐานด้านการเขียนโค้ด เพื่อที่พวกเขาจะได้มีสกิลในการพลิกแพลง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการลดเวลาทำงาน พร้อมทั้งเพิ่มคุณค่าให้กับอาชีพของตนเอง
“ในอดีตหลักสูตรของการเขียนโค้ดจะเกี่ยวข้องกับการสร้างเว็บไซต์และการพัฒนาเกมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมุ่งป้อนคนเข้าสู่สายงานด้านเทคโนโลยี แต่ความเป็นจริงคนที่เก่งด้านการเขียนโค้ด หรือ AI สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในสายอาชีพต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนตัวเองให้เป็น ‘Super’ ในด้านนั้น ๆ ได้”
ตัวอย่างการนำ AI มาใช้ในสายอาชีพต่าง ๆ เช่น นักลงทุนใช้ AI วิเคราะห์สถานภาพของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน นักการตลาดใช้ AI ในการทำความเข้าใจผู้บริโภค นักข่าวใช้ AI ในการวิเคราะห์บันทึกของตำรวจ ทำให้เกิดชิ้นงานเชิงสืบสวนที่มีความลุ่มลึกและอัดแน่นไปด้วยเนื้อหา เป็นต้น
“เราต้องเปลี่ยนไมนด์เซตว่าการเรียนเขียนโค้ดเป็นสิ่งที่ยาก และทำให้คนเปิดใจเข้ามาเรียนมากขึ้น ผมมองว่าเราต้องเข้าสู่ยุคที่คนต้องมีทักษะการเขียนโค้ดติดตัว ซึ่งปัจจุบันการเขียนโค้ดมีความซับซ้อนน้อยกว่าในอดีตมาก ทั้งยังมี Generative AI เป็นผู้ช่วยที่สามารถให้คำแนะนำได้อย่างดี”
ความร่วมมือ KXVC-AI Fund
“เรืองโรจน์” กล่าวว่า KXVC ประกาศความร่วมมือกับ AI Fund เพื่อสนับสนุนการเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจใหม่ ๆ โดยผสานจุดแข็งด้านความเข้าใจในเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ KBTG เข้ากับวิธีการทำงานและความเชี่ยวชาญของ AI Fund ในการเพิ่มทักษะของคน และพัฒนาสตาร์ตอัพด้าน AI ถือเป็นความร่วมมือแบบ Cobuild Venture ของ 2 หน่วยงานที่มีแพสชั่นและความตั้งใจตรงกัน
“ผลของความร่วมมือน่าจะเห็นเร็วสุดปีนี้ ในรูปแบบของคอร์สเรียนออนไลน์ ที่ช่วยเพิ่มทักษะด้าน AI ให้คนในประเทศ ตามมาด้วยบูตแคมป์ ที่ตั้งเป้าว่าจะสร้างคนเข้าสู่สายงานด้าน AI จากโครงการนี้ปีละ 6,000 คน ส่วนเรื่องการลงทุนต้องดูเรื่องความเข้ากันได้ของโมเดลในการให้ทุน และการทำงานร่วมกันก่อน แต่คาดว่าเงินก้อนแรกในการลงทุนน่าจะมาจากฝั่งของ KXVC”
“แอนดรูว์” เสริมว่า การเป็นพาร์ตเนอร์กับ KBTG ช่วยเติมเต็มความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานของสถาบันการเงิน เทคโนโลยีขั้นสูง และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ KBTG เป็นผู้พัฒนา จึงเชื่อว่าในอนาคตจะเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ มากขึ้น
“นอกจาก KBTG จะเป็นพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง และช่วยให้เราแสวงหาโอกาสใหม่ ด้านสตาร์ตอัพที่ตอบโจทย์ทั้งในไทยและตลาดโลกได้ เรายังมีความตั้งใจตรงกันที่จะยกระดับการศึกษาให้สอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น”
แม่ทัพ KBTG ทิ้งท้ายด้วยว่า KBTG และคุณแอนดรูว์ มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้ AI ในการปลดล็อกข้อจำกัดด้านศึกษา และสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนว่าความร่วมมือครั้งนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์แค่กับ KBTG หรือธนาคารกสิกรไทย แต่ยังทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติอีกด้วย