ทรูวิชั่นส์ แจ้งความดำเนินคดีเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ “พรีเมียร์ลีก” พร้อมขยายผลจับกุมบัญชีม้ารับโอนเงินสมาชิก หลังสร้างความเสียหายมากกว่า 1 พันล้านบาทต่อเดือน
วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ทรูวิชั่นส์” (TrueVisions) หาทางแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในช่องทางออนไลน์ โดยร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึง กสทช. และภาคเอกชน จนสามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำผิดหลายรายมาดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมเดินหน้าปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ไปแล้วหลายเว็บ
ล่าสุด บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ได้มอบหมายให้ “นายอดิศักดิ์ ภู่นิเทศ” ทนายความและผู้แทนรับมอบอำนาจจากทรูวิชั่นส์ เข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ 3 ราย ซึ่งเรียกเก็บค่าสมาชิกโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมมอบหลักฐานสำคัญเพื่อให้เจ้าหน้าที่ขยายผลการสืบสวน
นายอดิศักดิ์กล่าวว่า ในประเทศไทย ทรูวิชั่นส์ ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษ เพื่อให้แฟนบอลสมาชิกทรูได้รับชมคอนเทนท์ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ดึงสัญญาณถ่ายทอดรายการต่าง ๆ จากทรูไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก โดยเฉพาะรายการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาฟุตบอล
ซึ่งพฤติการณ์ของผู้กระทำผิดจะเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาแล้วให้ประชาชนเข้าไปสมัครสมาชิกรายเดือน ราคาถูก เดือนละ 300 บาท ก่อนที่ผู้กระทำผิดจะใช้อุปกรณ์ดึงสัญญาณการถ่ายทอดรายการต่าง ๆ จากทรูวิชั่นส์ไปเผยแพร่ต่อ ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สร้างความเสียหายให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์มหาศาล
เฉพาะ 3 เว็บไซต์ที่แจ้งความดำเนินคดี พบมีสมาชิกกว่า 7 แสนราย สร้างความเสียหายให้กับทรูวิชั่นส์ เดือนละหลักพันล้านบาท โดยพนักงานสอบสวนจะขยายผลไปถึงบัญชีม้าที่รับโอนเงินจากสมาชิกด้วย
ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์ ยกระดับการต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ ซึ่งกำลังสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมบันเทิงและกีฬาของไทยอย่างต่อเนื่อง และขอแจ้งเตือนประชาชนถึงอันตรายของการใช้บริการเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวและการติดมัลแวร์อันตราย
ที่สำคัญ ผู้ให้ความร่วมมือกับเว็บไซต์เหล่านี้ เช่น การให้ใช้บัญชีธนาคารเพื่อรับเงินแทน อาจมีความผิดในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และปรับไม่เกิน 300,000 บาท ตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566
อย่างไรก็ตาม ทรูวิชั่นส์ ยืนยันว่าจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำผิดทุกราย เพื่อปกป้องสิทธิของผู้สร้างสรรค์ผลงาน และคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภคที่ซื้อบริการอย่างถูกต้อง