การผลักดันผู้ประกอบการรายเล็ก พ่อค้า แม่ค้า ระดับครัวเรือนให้เข้าสู่ระบบการค้าดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ จะคิดอาวุธให้เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ต้องสร้างส่วนแบ่งเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็น 30% ของ GDP
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จึงมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการฐานราก CONNEXION : Digital Content-Driven E-Commerce Workshop โดยมุ่งเน้นการสร้างเนื้อหาการตลาดออนไลน์บนอีคอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซ เช่น TikTok ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลในมิติการยกระดับให้เกิดการประกอบอาชีพใหม่ เช่น Digital Influencer และ Digital Content Creator อีดหนึ่งนโยบายสำคัญของกระทรวงดีอี ที่จะปั้นผู้ประกอบการครัวเรือนให้เข้าสู่สมรภูมิอีคอมเมิร์ซครบทั้ง 4 ภูมิภาค รวม กทม.
เช่นเดียวกับ SMEs ทั่วประเทศ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัลเป็นเรื่องยากลำบาก ตัวแทนผู้ประกอบการจากภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ได้สะท้อนถึง “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ถึงความท้าทายและอุปสรรคในการทำตลาดออนไลน์
เสียงจากผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อยส่วนใหญ่ เป็นผู้ค้าสินค้าอาหารสด แห้ง แปรรูป และหัตถกรรม ที่เปิดหน้าร้านและขายในตลาด แน่นอนว่า “เชียงใหม่” เป็นเมืองท่องเที่ยวที่หลายคนรู้จักอยู่แล้ว แต่ในรอบปีมีไฮซีซั่นแค่ 3-4 เดือนเท่านั้น พอหมดสงกรานต์ เศรษฐกิจก็กลับมาซบเซา ดังนั้นการเข้าสู่การทำตลาดออนไลน์ ซึ่งการสร้างคุณค่าและทำให้เป็นที่รู้จักจึงสำคัญมาก
การส่งเสริมทักษะออนไลน์ เช่น กิจกรรมที่ DEPA ทำนี้ จึงควรทำอย่างต่อเนื่องและติดตามการพัฒนาของผู้ค้าที่เข้าร่วมโครงการ
ต่อมาคือการส่งเสริมการเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้ผู้ค้ารายย่อย และสุดท้ายคือการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อผลักดันการผลิตและงบประมาณเสริมด้านการโฆษณาหรือทำตลาดออนไลน์
อีกปัญหาคือ องค์ความรู้ในการขายออนไลน์แต่ละเเพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน Shoppe Lazada อย่างหนึ่ง TikTok อย่างหนึ่ง โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ก็อีกแบบ การเรียนรู้ใช้เวลามากเกินไป มักทำให้ผู้ประกอบการหลงทาง หากจะสนับสนุนด้านความรู้ควรเป็นการส่งเสริมแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งให้ต่อเนื่อง
เสียงจากอินฟลูเอนเซอร์ในท้องถิ่น
“เชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียน ใครมาทำธุรกิจอะไรก็เจ๊งหมด” ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสาร และมีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ในเชียงใหม่รายหนึ่งกล่าวต่อ รมว.
สาเหตุเพราะคนที่มาทำธุรกิจพกไมนด์เซตมาจากกรุงเทพฯ ทำให้ไม่สามารถขายของให้คนในท้องถิ่นได้ รายได้จึงมาจากนักท่องเที่ยว และเมืองเชียงใหม่ก็มีช่วงท่องเที่ยวแค่ไม่กี่เดือน แต่ร้านค้าต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงงาน
คนทำคอนเทนต์ หรือเพจรีวิวต่าง ๆ จึงเป็นช่องทางแนะนำร้านค้า ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ในซอกซอยเสนอให้คนในเชียงใหม่เอง ทั้งนักท่องเที่ยวได้รู้จัก และเปิดตลาดได้
แต่คนทำคอนเทนต์เหล่านี้มักจะต้องทำฟรี เพราะเรตค่าจ้างรีวิวนั้นสูงมาก
ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถสนับสนุนด้านการทำตลาด หรือการใช้คอนเน็กชั่น เพื่อให้เข้าถึงสถานที่สำคัญได้ จะเป็นเรื่องดีต่อการโปรโมต ทำตลาดออนไลน์ให้กับเมือง
“เราเคยไปถ่ายวิดีโอรีวิวอุทยานแห่งชาติ เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวให้ฟรี ๆ ก็ต้องจ่ายเงินเองเพื่อเข้าถึงอุทยาน”
การช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน
รัฐมนตรี “ประเสริฐ” ตอบรับเสียงสะท้อนจากคนสองกลุ่มว่า เข้าใจดีถึงความต้องการที่อยากให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินธุรกิจ แต่การใช้เงินเพื่อสนับสนุนแบบปีต่อปี ไม่ทำให้ผู้ประกอบการโตแบบยั่งยืน
สิ่งที่เราสนับสนุนได้ในเรื่องแรก คือ การเปิดตลาดใหม่ ๆ กระทรวงดีอี และกระทรวงพาณิชย์ได้จับมือกันเปิดตลาดต่างประเทศให้กับสินค้าเกษตรและสินค้าของ SMEs ไทยจำนวนมาก เพื่อให้ส่งออกและพัฒนาต่อยอดได้
อีกเรื่องคือ มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี สำหรับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่กำลังเข้าสู่ออนไลน์ จำเป็นต้องเผชิญกับการเก็บข้อมูลเพื่อคำนวณภาษี คิดว่าสิ่งนี้รัฐบาลจะช่วยหารือและแบ่งเบาภาระได้ในทางอ้อม
ส่วนเรื่องการพัฒนาเมืองก็เข้าใจอย่างดีว่า การท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญของประเทศ เช่น ช่วงสงกรานต์ ก็เป็นไฮไลต์ของเชียงใหม่ รัฐบาลจึงอยากขยายเทศกาลให้ได้นานเป็นเดือน
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วของจะขายได้ ต้องสร้างคอนเทนต์ให้ได้ ยกระดับให้เกิดการประกอบอาชีพใหม่ เช่น Digital Influencer และ Digital Content Creator เป็นหนึ่งในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อยากให้ผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างยอดขาย รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ตลอดจนการเรียนรู้การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลสัญชาติไทยอย่างแพลตฟอร์ม eTailligence เพื่อช่วยกำหนดทิศทางการทำการตลาดได้เหมาะสม
ส่วนเรื่องของการสนับสนุนการใช้งานอินฟลูเอนเซอร์เพื่อช่วยขายสินค้านั้น กระทรวงดีอี และ DEPA ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่รวบรวมอินฟลูฯด้านต่าง ๆ ไว้ รวมถึงบัญชีผลิตภัณฑ์ดิจิทัลมีขึ้นทะเบียนอย่างมีมาตรฐาน และมี “คูปอง” ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการดิจิทัลในการพัฒนาการขายได้
“ที่สำคัญ วันนี้เทรนด์ของโลกมาทางไลฟ์คอมเมิร์ซ ผู้ประกอบการขายของเองได้ ต้องเปลี่ยนตัวเองไปเป็นอินฟลูฯ สร้างฐานแฟนในสินค้าของตน สินค้าของผู้ประกอบการหลายอย่างดี วันนี้เราจึงต้องฝึกฝนเทคนิคการถ่ายภาพสินค้า การสร้าง Storytelling การ Live ขายสินค้า การเปิดร้านค้าใน Social Commerce เช่น TikTok และ Facebook เพื่อผลักดันสินค้าและบริการท้องถิ่นสู่ตลาดโลก การใช้ข้อมูลวิเคราะห์ช่องทางขายสินค้าออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์ม eTailligence รวมถึงเป็นการสร้าง Micro Influencer หน้าใหม่ให้กับท้องถิ่น”
สร้างอีโคซิสเต็มดิจิทัลเพิ่ม
“ประเสริฐ” กล่าวด้วยว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในภาคเหนือ ทั้งเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลกที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และอยู่ในลำดับต้น ๆ ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์และใช้ชีวิตแบบอิสระ หรือ Digital Nomad ซึ่งคนเหล่านี้ทำงานที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทที่อยู่ไกลออกไปครึ่งโลก
จึงต้องทำอย่างไรถึงจะดึงคนเหล่านี้มาร่วมทำงานให้คนในชุมชนท้องถิ่น
“คิดว่าจะหารือเรื่องการให้สิทธิพลเมือง หรือ Citizenship แก่ดิจิทัลโนแมดเหล่านี้แลกกับเงื่อนไขการทำงานร่วมกับชุมชน และเสริมสร้างระบบนิเวศดิจิทัล”
ขณะเดียวกันชุมชนเทคโนโลยีดิจิทัลที่เชียงใหม่เองมีความโดดเด่น โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกันของกลุ่มนักพัฒนา Web3 และ Blockchain มาประยุกต์ใช้พัฒนาเมืองและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่อย่างเต็มรูปแบบ
“รัฐบาลมีแนวคิด Lanna Digital Hub ศูนย์กลางเทคโนโลยีภาคเหนือ และทราบว่า ชุมชนเทคโนโลยีที่เชียงใหม่เคยรวมตัวกันอยู่แล้ว และกำลังก่อร่างสร้างตัวใหม่ จึงได้ฝากการหนุนเสริมด้านกำลังคน คือ เปลี่ยนดิจิทัลโนแมดให้หันมาทำงานที่ช่วยเหลือชุมชนได้”
และต่อมาคือ เรื่องเงินทุน ซึ่ง “ประเสริฐ” กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลได้อนุมัติเงินเพิ่มให้กับกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจระดับต้นของ DEPA เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่ายังน้อยอยู่ และควรมีสักพันล้านบาท เพื่อช่วยสตาร์ตอัพให้ตั้งตัวได้