
2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรม “ค้าส่ง-ค้าปลีก” ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมไปถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว สร้างความพร้อมในการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
แม้แต่บิ๊กคอร์ปอย่าง บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือ CP Axtra ที่มีทั้งธุรกิจค้าส่งอย่าง “แม็คโคร” (Makro) และธุรกิจค้าปลีกอย่าง “โลตัส” (Lotus’s) ก็ยังต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ
ล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อนำองค์ความรู้และการพัฒนานวัตกรรมในด้านต่าง ๆ มาใช้ในการสร้างมูลค่า เพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า ทำให้บุคลากรมีทักษะพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
เทคโนโลยี AI เขย่า “รีเทล”
“ฌอน หวอง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจค้าส่งแม็คโคร สายงานบริหารการเปลี่ยนแปลงและสำนักงาน บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า กล่าวว่า เทคโนโลยี AI เป็นการดิสรัปต์ครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะงานหลายอย่างยังมีการทำซ้ำค่อนข้างมาก ทำให้พนักงานต้องเสียเวลากับงานเหล่านั้นโดยไม่จำเป็น AI จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ขณะที่ “ดาต้า” หรือข้อมูลที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของ AI ช่วยให้ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงต้องเตรียมองค์กรให้พร้อมที่จะนำมาปรับใช้

“เราทราบดีว่า AI จะเข้ามามีบทบาทกับการทำธุรกิจของเรา สิ่งที่เราทำคือการโอบรับเทคโนโลยีเข้ามาในองค์กร และเตรียมความพร้อมให้พนักงานมีทักษะในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยให้การทำงานราบรื่นกว่าเดิม รวมถึงใช้ดาต้าจำนวนมหาศาลมาพัฒนาสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น”
ด้าน “ทวีพงศ์ สิริคุตตานนท์” ผู้จัดการด้าน Innovation Management บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า เสริมว่า สิ่งที่ธุรกิจรีเทลโดนดิสรัปต์มาก ๆ ในช่วงที่ผ่านมา คือพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังการระบาดของโควิด-19 เมื่อหลายคนใช้วิธีสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แทนการมาซื้อสินค้าที่หน้าร้าน ทำให้ซีพี แอ็กซ์ตร้า พัฒนาแอปพลิเคชั่น Makro Pro และ Lotus’s Smart App เพื่อเสริมประสบการณ์แบบ Omnichannel ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่มีการผสมผสานระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์
“แม้การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าแบบออนไลน์จะทำให้มีต้นทุนที่ต้องแบกรับมากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการจัดส่งสินค้า แต่เราก็มีวิธีการจัดการ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าในราคาเท่าเดิม และมีประสบการณ์ที่ดีในการซื้อสินค้ากับเราทุกช่องทาง”
ชู 3 จุดแข็ง ไม่หวั่นผู้ค้าต่างชาติ
“ฌอน” มองถึงการเข้ามาให้บริการในประเทศไทยของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหม่อย่าง “เทมู” (Temu) ด้วยว่า มีโอกาสส่งผลกระทบกับการทำธุรกิจของกลุ่มรีเทลในอนาคต เนื่องจาก Temu เป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้การสร้างประสบการณ์แบบ Omnichannel ยิ่งมีความสำคัญ
“เราเชื่อว่าสินค้าและรูปแบบการให้บริการของ Makro และ Lotus’s สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าในแต่ละช่วงลูกค้าจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างไร หรือจะมีปัจจัยภายนอกใด ๆ เข้ามาต้องคำนึงถึงการให้บริการลูกค้าเป็นอย่างแรก รวมถึงสร้างความแตกต่าง และปรับเปลี่ยนการให้บริการตามความต้องการของลูกค้าในช่วงนั้น ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าซื้อสินค้ากับเราต่อไป”
“ฌอน” เน้นย้ำถึง 3 จุดแข็งของซีพี แอ็กซ์ตร้า ที่มีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มหรือผู้ค้าต่างประเทศชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น 1.จำหน่ายสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือ มีแบรนด์การันตีคุณภาพของสินค้า 2.คุณภาพของการให้บริการ สามารถส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และ 3.แม้ว่าแพลตฟอร์มออนไลน์จะสามารถทำความเข้าใจลูกค้าได้จากดาต้าปริมาณมหาศาล แต่การมีหน้าร้านออฟไลน์ก็ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมในมิติอื่น ๆ และสามารถสร้างทัชพอยต์หรือปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้
“สิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการต้นทุนและแข่งขันเรื่องราคากับผู้ค้าต่างชาติได้ คือการใช้เทคโนโลยี หรือ AI เข้ามาช่วยในการตัดสินใจงานหลังบ้านต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถขยายการให้บริการ ทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า และลงทุนได้อย่างคุ้มค่าที่สุด”
จับมือ NIA ทรานส์ฟอร์มองค์กร
“ฌอน” กล่าวว่า ธุรกิจรีเทลต้องเผชิญกับความท้าทายและการดิสรัปต์จากปัจจัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง การทรานส์ฟอร์มองค์กรให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจและการร่วมมือกับ NIA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการพัฒนานวัตกรรม และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยมาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในประเทศไทยด้วย
“เราให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา ซีพี แอ็กซ์ตร้า มีการพัฒนาสินค้านวัตกรรมหลายอย่าง เพื่อสร้างความแตกต่าง และเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ เช่น ขนมปังเบอร์เกอร์ที่ผลิตจากเนื้อมันฝรั่ง เสื้อยูนิฟอร์มพนักงานจากการรีไซเคิลขวด PET และข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู ที่ใช้เทคโนโลยีการเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ และบรรจุภัณฑ์เมทัลไลซ์ ที่ช่วยให้เมล็ดข้าวสดใหม่ตลอดปี เป็นต้น”
“กริชผกา บุญเฟื่อง” ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า การส่งเสริมการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทย และการยกระดับทักษะของบุคลากรในประเทศเป็นหน้าที่ของ NIA อยู่แล้ว โดยที่ผ่านมามีความร่วมมือกับ Makro ในการนำสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาด แต่ความร่วมมือ ล่าสุดจะเริ่มจากการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร เพื่อฝึกอบรมพนักงานทุกระดับของซีพี แอ็กซ์ตร้า ให้มีทักษะในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ มีไมนด์เซตของการเป็นนวัตกร และกล้าที่จะเสนอไอเดียของตนเอง

โอกาสของผู้ประกอบการไทย
“นอกจากเรื่องคอร์สและการฝึกอบรม เรากำลังพูดคุยถึงความร่วมมือในการพัฒนา Accelerator Program หรือโปรแกรมสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ตอัพสาย Retail Technology เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในประเทนำไปสู่การพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมรีเทลต่อไป คาดว่าจะได้เห็นรายละเอียดของโครงการนี้มากขึ้น ช่วงเดือน ต.ค. 2567”
“กริชผกา” กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการจะนำสินค้านวัตกรรมของตนเองมาทำตลาด หรือขายผ่านช่องทางรีเทลเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ความร่วมมือดังกล่าวเป็นเหมือนช่องทาง Fast Track ที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้ามาเสนอขาย หรือทำตลาดกับกลุ่มรีเทลได้ง่ายขึ้น ซึ่งต้องดูต่อว่าสินค้าของผู้ประกอบการรายใดจะมีศักยภาพในการทำตลาดบ้าง
“ด้วยความที่ซีพี แอ็กซ์ตร้า มี Makro ที่เน้นขายส่ง ขายสินค้าปริมาณมาก และ Lotus’s ที่เน้นขายปลีก เราต้องดูว่าสินค้าเหมาะสมที่จะขายผ่านช่องทางใด ถ้าขายใน Makro ผู้ประกอบการต้องสเกลการผลิตเพื่อรองรับการขายทีละมาก ๆ ได้ หรือถ้าขายใน Lotus’s ก็ต้องดูว่าสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดหรือเปล่าซึ่งสิ่งเหล่านี้ NIA ทำงานกับซีพี แอ็กซ์ตร้าอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว”