เหมือนว่าปัญหาขาดแคลนทาเลนต์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Talent Shortage) จะไม่ได้เกิดกับวงการ AI ที่กำลังไฮป์อย่างหนักเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) ที่นับวันจะยิ่งเติบโตและเข้ามามีบทบาทกับการนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การประเมินคาร์บอนเครดิต การทำเกษตรแม่นยำ การแจ้งเตือนภัยพิบัติ เป็นต้น
สอดคล้องกับข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Precedence Research ระบุว่า มูลค่าตลาดเทคโนโลยีอวกาศในปี 2566 อยู่ที่ 4.43 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีโอกาสโตถึง 9.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2576 ซึ่งเอเชีย-แปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด 18% เป็นรองเพียงอเมริกาเหนือ และยุโรป และคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ถึง 2576 เฉลี่ยปีละ 9.05%
“เอกชัย ภัคดุรงค์” หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านกลยุทธ์องค์กร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนบุคลากรในสายงานวิศวกรดาวเทียมเป็นสิ่งที่ไทยคมกำลังเผชิญเช่นกัน ด้วยความที่เนื้องานมีรายละเอียดเฉพาะ และมีความซับซ้อนมาก ทำให้ในแต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรเข้าสู่สายงานได้น้อย
ปัจจุบันไทยคมมีพนักงานกว่า 300 คนมากกว่า 60% เป็นวิศวกร และครึ่งหนึ่งเป็นวิศวกรที่ต้องทำงานกับดาวเทียมโดยเฉพาะ ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็นหลายสาย เช่น กลุ่ม Aerospace ออกแบบ และพัฒนาดาวเทียม กลุ่มที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ และกลุ่มที่ทำงานในสถานีภาคพื้นดิน เป็นต้น
“เอกชัย” กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่คนที่จะเข้ามาเป็นวิศวกรดาวเทียมต้องสำเร็จการศึกษาจากสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า หรือด้านโทรคมนาคม และถ้าจะข้ามสายมาก็ต้องมีพื้นฐานความรู้เรื่องการเขียนโค้ด เพราะเป็นทักษะสำคัญที่ใช้ในการทำงานและอยู่เบื้องหลัง การทำงานของดาวเทียมทั้งหมด
“ไทยคมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการพัฒนาหลักสูตรให้เข้ากับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง เช่น พูดคุยกับคณาจารย์ของ ISE (International School of Engineering) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีหลักสูตร Aerospace และ Nano Engineering เพื่ออัพเดตภาพรวมของอุตสาหกรรม และนำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 เป็นต้นมา ไทยคมให้ความสำคัญกับการทรานส์ฟอร์มองค์กรอย่างชัดเจน จากผู้ให้บริการดาวเทียม (Satellite Operator) เป็น Space Tech Company ซึ่งเรื่องของ “คน” เป็นความท้าทายสำคัญของไทยคมเช่นกัน
“ตอนนี้เราอยากให้เด็กรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปี เข้ามาในองค์กรเยอะ ๆ เพื่อร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเด็ก ๆ เป็นกลุ่มที่มีทั้งไอเดียและความว่องไวในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้งานเกิดประสิทธิภาพ แต่การจะตามหาคนที่มีครบทั้ง Soft Skills ความรู้ในสายงาน หรือความสามารถในการใช้ AI ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย”
“เอกชัย” ยังเปรียบเทียบการทำงานของวิศวกรดาวเทียมในอดีต และปัจจุบันให้ฟังว่า ประมาณ 30 ปีก่อน เทคโนโลยีดาวเทียมเป็นเรื่องใหม่มากในประเทศไทย ทำให้การทำงานในยุคนั้นเริ่มจากการเรียนรู้กับบริษัทต่างชาติ ข้อมูลที่ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจก็มีน้อย จึงต้องลองผิดลองถูกในการออกแบบดาวเทียมมาเรื่อย ๆ กว่าจะได้ผลงานขึ้นมา หรือถ้าจะเขียนโค้ดหรือคำนวณอะไรบางอย่างก็ต้องเขียนสูตรใน Excel ตั้งแต่ต้น แต่เด็ก ๆ ในยุคนี้มีเครื่องมือที่ช่วยทุ่นแรงเยอะมาก
“น้อง ๆ ในทีมหลายคนนำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้วางแผนในการทำงาน ทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้นมาก ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่มองว่าเป็นเรื่องดี และทำให้เราเริ่มมองไปถึงการนำ AI มาใช้ในองค์กร นอกเหนือจากการนำมาใช้เพื่อพัฒนาบริการให้กับลูกค้าด้วย”