
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จัก “คอลิน หวง” มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในจีน ผู้ก่อตั้ง Pinduoduo บริษัทแม่ “Temu” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่กำลังบุกไทย
วันที่ 9 สิงหาคม 2567 การเข้ามาให้บริการในไทยอย่างเงียบ ๆ ของ “เทมู” (Temu) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีน กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ที่มีการพูดถึงในวงกว้าง และทำให้เกิดการตั้งคำถามในหลากหลายประเด็น
ตั้งแต่ “ความกล้า” ในการบุกตลาดอาเซียน ที่มีเจ้าตลาดเดิมครองบัลลังก์มาอย่างยาวนาน ไปจนถึงการตามหา “ตัวตน” ของผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม และบริษัทแม่อย่าง “Pinduoduo” ที่ชิงส่วนแบ่งจากอาลีบาบา (Alibaba) และ JD.com ด้วยโมเดลสุดโหด ดีลสินค้าตรงจากโรงงาน และขายในราคาถูก ทำให้ฐานผู้ใช้ของ Pinduoduo เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด “ตัวตน” ของผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มเริ่มเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น เมื่อสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า “คอลิน หวง” (Colin Huang) ผู้ก่อตั้ง Pinduoduo กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจีน โดยมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 4.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.7 ล้านล้านบาท) แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง “จง ซานซาน” (Zhong Shanshan) ผู้ก่อตั้งบริษัทน้ำดื่ม Nongfu Spring ที่ครองอันดับหนึ่งมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564
โดยหนึ่งในแรงหนุนสำคัญที่ทำให้ “คอลิน” ก้าวสู่การเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในจีน ด้วยอายุเพียง 44 ปี มาจากพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของชาวจีนที่เปลี่ยนไป หลังจากเกิดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวมานาน ผู้คนก็ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และเลือกซื้อสินค้าราคาถูกที่ให้ความคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่ง Pinduoduo ได้กลายเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าของใครหลาย ๆ คน
ในอดีตคอลินเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์และ Product Manager ของ “กูเกิล” (Google) โดยเริ่มเข้าทำงานในปี 2547 หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) และเป็นหนึ่งในทีม “Google China” ผู้บุกเบิกการขยายตลาดของ Google ไปที่จีน ในปี 2549 ก่อนจะลาออกจากบริษัทในปี 2550
จากนั้นเขาได้เริ่มทำธุรกิจของตนเอง โดยพัฒนาเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ชื่อว่า “Oukou” สำหรับจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ก่อนจะขายกิจการในปี 2553 และเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในชื่อ “Leqi” ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาแบรนด์ต่างชาติในการทำตลาดและขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน เช่น Tmall และ JD.com
ต่อมาคอลินได้ก่อตั้งสตูดิโอเกมที่ชื่อว่า “Xunmeng” พัฒนาเกมแนว RPG หรือเกมที่เล่นตามบทบาทสมมติ แต่เส้นทางธุรกิจของเขากลับสะดุดในปี 2556 เมื่อต้องเข้ารับการรักษาอาการติดเชื้อที่หู ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 33 ปี
และเมื่อการรักษาผ่านไปด้วยดี เขากลับเข้าสู่เส้นทางธุรกิจอีกครั้งในปี 2558 ด้วยการเปิดตัว “Pinduoduo” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มาท้าชนกับอาลีบาบา และ JD.com โดยดึงประสบการณ์ที่ได้จากการทำเกมมาสร้างแคมเปญและจุดเด่นในการใช้งาน เช่น แจกโค้ดส่วนลดผ่านการเล่นเกม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของวงการอีคอมเมิร์ซในขณะนั้น
ทั้งนี้ Pinduoduo ยังสามารถระดมทุนจากกลุ่มนักลงทุนที่นำโดย “Banyan” ได้ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (280 ล้านบาท) ในปี 2558 และปีถัดมาสามารถระดมทุนได้อีกราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.5 พันล้านบาท) จนกระทั่งปี 2561 คอลินสามารถนำ Pinduoduo จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างต่อเนื่องของ Pinduoduo ได้ทำให้คอลินเดบิวต์อยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีชาวจีน โดยในเดือน ก.พ. 2564 เขามีมูลค่าทรัพย์สินสูงถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.46 ล้านล้านบาท) แม้ว่าความมั่งคั่งของเขาจะลดลงไปบ้างในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก เพราะตลาดทุนค่อนข้างชะลอตัว แต่ตอนนี้ตำแหน่งมหาเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งที่สุดในจีนก็ได้อยู่ในมือของเขาแล้ว