
ความไม่ลงรอยของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้ง 7 คน ที่เขม็งเกลียวขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา จนแทบจัดประชุมไม่ได้ ดูว่าจะเริ่มเบาบางลงแล้วในช่วงครึ่งปีนี้ แต่ภารกิจร้อนหลายเรื่องยังล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ ที่ต้องเร่งให้ทันการหมดอายุของคลื่นความถี่โทรคมนาคม ของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ภายใน ส.ค. 2568 และการกำกับดูแลการควบรวมทรู-ดีแทค รวมถึงภาระที่น่าจะหนักอกอย่างการจัดสรรสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมด้วยวิธีการประมูล ซึ่งเหลืออยู่ 2 แพ็กเกจ 3 วงโคจร ได้แก่ ตำแหน่ง 50.5-51 และ 142 องศาตะวันออก ซึ่งหากไม่มีใครประมูลแล้วมีประเทศอื่นอ้างสิทธิ ก็จำต้องคืนสิทธิเข้าใช้วงโคจรเหล่านี้ให้คนอื่น
ล่าสุดเมื่อ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา กสทช.ได้เปิดให้เอกชนยื่นเอกสารแจ้งความจำนงในการเข้าประมูลแต่ไม่มีใครสนใจ แม้จะลดราคาลงแล้ว 100-300 ล้านบาท จึงได้หารือว่าจะปรับวิธีการประมูลใหม่ ด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น วิธีคัดเลือกโดยเปรียบเทียบคุณสมบัติ (Beauty Contest หรือ Comparative Review)
ไม่ว่าอย่างไร กสทช.ตกอยู่ในความเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ ตาม ม.60 ที่ระบุว่า กสทช.ต้องรักษาสิทธิวงโคจรไว้ ในฐานะ “สมบัติชาติ” รวมถึงวิธีการจัดสรรต้องให้มีการ “ประมูล” เท่านั้น
ตีความ กม. เลือกผู้ถือสิทธิดาวเทียม
ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เปิดเผยว่า สิทธิเข้าใช้วงโคจรที่เหลืออยู่นับว่าหนักใจ เพราะไม่มีใครสนใจ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องประมูลจัดสรรให้ได้ ซึ่ง กสทช.กำลังหารือว่าจะทำเงื่อนไขอย่างไร คาดว่าจะเป็นการทำ Beauty Contest แต่การคัดเลือกเช่นนี้ก็มีหลายรูปแบบ
“จะคัดเลือกให้ไปเลยก็ไม่ได้ จะแก้กฎหมายก่อนโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นได้ยาก ตามกฎหมายเราต้องให้มีการประมูล ต้องดูว่าการทำ Beauty Contest นับเป็นการประมูลไหม อาจต้องให้กฤษฎีกาช่วยตีความกฎหมายอีกที ทั้ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และรัฐธรรมนูญ ที่ว่าให้สิทธิวงโคจรดาวเทียมเป็นสมบัติชาติ”
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.สมภพ ภูวิกรัยพงษ์ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม นำทีม กสทช.ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช.มีมติผลักดันเกณฑ์ใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น คือผสมผสานระหว่างแนวทางจัดสรรสิทธิโดยตรงแบบเปิดกว้าง (Open Direct Award) ซึ่ง กสทช.จะไม่กำหนดเกณฑ์ แต่ให้เอกชนที่สนใจยื่นเสนอเงื่อนไขเข้ามา และแบบเปรียบเทียบคุณสมบัติและข้อเสนอจากผู้ร่วมคัดเลือก (Beauty Contest) โดยมุ่งเน้นการรักษาสิทธิวงโคจรและเน้นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ
โดย กสทช.จะพิจารณาเปรียบเทียบว่าข้อเสนอของผู้ประกอบการรายใดให้ความมั่นใจว่าจะรักษาสิทธิวงโคจรทั้ง 3 ตำแหน่งได้ และมีข้อเสนอที่ดีที่สุด
โดยมีมติให้สำนักงาน กสทช. จัดทำร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิด้วยวิธีการดังกล่าวเสนอที่ประชุม กสทช. ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ก่อนที่จะนำไปรับฟังความคิดเห็นและประกาศใช้ต่อไป อีกทั้งระหว่างนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์เพิ่มเติม กรณีแนวทางเลือกที่ กสทช.จะเป็นผู้ดำเนินการรักษาสิทธิเอง
ประมูล 6 คลื่นความถี่ทันปี 2568 ?
อีกภารกิจคือการนำคลื่นความถี่ออกมาจัดสรรประมูล โดยก่อนหน้านี้ รศ.ดร.สมภพระบุว่า ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ กสทช.จะออกแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ หรือ Spectrum Roadmap ให้ชัดเจน เพื่อให้เอกชนพิจารณาและวางแผนธุรกิจ โดยเตรียมคลื่นที่จะนำออกมาประมูล 2 กลุ่ม 1.คลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดการอนุญาต 2.คลื่นความถี่ที่ว่างและรอการจัดสรร ประกอบด้วย 6 ย่านความถี่ ดังนี้ 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 2600 MHz ภายในปี 2568
เพื่อให้ทันช่วงเวลาที่คลื่นความถี่ที่ NT ใช้อยู่ คือ 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz จะหมดอายุในปีหน้า
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานด้วยว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการบรรจุวาระพิจารณาการจัดสรรคลื่นความถี่ แต่ยังไม่มีรายงานความคืบหน้า เช่นเดียวกับยังไม่มีการนำ Spectrum Roadmap ออกมาเปิดเผยจึงไม่ทันไตรมาส 2/2567 ตามที่กำหนดไว้
สิทธิถือครองคลื่นของ True หลังควบรวม Dtac
ประธาน กสทช.เปิดเผยด้วยว่า มีข้อซักถามจากบริษัทที่ทำการควบรวมกิจการ ถึงกรณีการถือครองคลื่นความถี่ว่า กรณีที่บริษัทลูกของทรู หรือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ซึ่งเป็นผู้ถือครองใบอนุญาตคลื่นความถี่ ได้ควบรวม บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ซึ่งถือใบอนุญาตคลื่นความถี่ของกลุ่มเทเลนอร์ เข้ามาตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2566 จากกรณีเช่นนี้ นับว่าคลื่นความถี่ของ DTN เป็นสิทธิของ TUC หรือไม่
“ประเด็นคือการรวมคลื่น เขาสงสัยว่ากรณีนี้เป็นการสืบสิทธิ หรือโอนสิทธิ สืบสิทธิคือการที่เขาซื้อบริษัทแล้วทรัพย์สินต้องโอนไปด้วย เหมือนการซื้อที่ดินที่มีบ้านอยู่ บ้านก็ต้องไปด้วย เป็นทรัพย์สินที่พ่วงไปด้วย คือเขารวมไปแล้วแต่ยังสงสัยว่าคลื่นเป็นของเขาด้วยหรือไม่ ทาง กสทช.กำลังให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา”
ก่อนหน้านี้ AIS ซื้อคลื่น 700 MHz จาก NT ก็ต้องมาขอการโอนสิทธิ จ่ายค่าโอน การโอนสิทธิขึ้นกับการพิจารณาอนุญาตของ กสทช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังการควบรวม True-Dtac เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 นั้น กสทช.ระบุว่า ทั้ง TUC และ DTN ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ ซึ่งคลื่นความถี่ไม่สามารถรวมกันได้ ตามที่มาตรการเฉพาะดีลควบรวมที่ออกโดย เนื่องจาก “ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนแก่กันมิได้”
ขณะที่ข้อสงสัยข้างต้นคือ คลื่นของ DTN นับเป็นการ “สืบสิทธิ” หรือ “โอนสิทธิ”
มาตรการหลังควบรวมระบุด้วยว่า การถือครองคลื่นความถี่ จะต้องยึดตามกฎหมายว่าการใช้คลื่นความถี่ตาม มาตรา 41 วรรคสี่ มาตรา 44/1 และมาตรา 44/3 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ระบุถึงเรื่องการโอนสิทธิไว้ด้วย
“มาตรา 44/3 ใบอนญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิ เฉพาะตัวจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. และเสียค่าธรรมเนียมการโอน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราค่าธรรมเนียมในการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ให้เป็นไปตามที่ กสทช. ประกาศกําหนด เมื่อ กสทช.อนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ที่ใช้คลื่นความถี่นั้นของผู้โอน สิ้นสุดลงและให้ กสทช.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม แล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้รับโอนตามลักษณะ ประเภท และขอบเขตของใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ของผู้โอนดังกล่าว”