คำสั่ง คสช. เปิดทาง “กรมประชาสัมพันธ์” หารายได้โฆษณา “วิทยุ-ทีวี”

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อ 23 พ.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศ คำสั่ง คสช. ที่ 9/2561  เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  ซึ่งนอกจากจะเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัล ด้วยการพักชำระเงินค่าประมูลเป็นเวลา 3 ปีแล้ว (อ่าน : คสช.ให้อำนาจ “กสทช.” พักหนี้เงินประมูลช่องดิจิทัลให้ “เด็กดี”ยังเปิดทางให้กรมประชาสัมพันธ์ หารายได้จากโฆษณาได้

เดิมตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้การประกอบกิจการของกรมประชาสัมพันธ์ ถือเป็นบริการสาธารณะจะหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้ เว้นแต่เป็นการโฆษณาหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับงานหรือกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ได้เป็นการแสวงหากำไร หรือภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งไม่ได้เป็นโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์

โดยนายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า คำสั่ง คสช. ที่9/2561   ข้อ 10 ระบุให้การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ ตามวัตถุประสงค์โดยต้องไม่เป็นการมุ่งต่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจ

โดยหลังจากนี้จะใช้เวลา 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่งในการยกร่างหลักเกณฑ์กรอบในการโฆษณาของกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ ซึ่งหลักๆ แล้วจะยึดตามคำสั่ง คสช. คือ ให้ กสทช. คำนึงถึงผู้บริโภค ต้นทุนในการผลิตรายการ และความเป็นธรรมในการแข่งขันที่จะมีผลกระทบต่อผู้รับใบอนุญาตประเภทอื่นด้วย โดยให้มีระยะเวลาสูงสุดในการโฆษณาได้ตามที่ กสทช. กำหนด

“เท่าที่เคยมีการชี้แจงในการหารือร่วมกับรัฐบาลและ คสช. กรมประชาสัมพันธ์ได้งบประมาณสำหรับการผลิตรายการและออกอากาศทีวีและวิทยุปีละไม่กี่ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอในการดำเนินการ จึงได้มีประกาศที่จะเปิดให้กรมประชาสัมพันธ์ หารายได้จากการโฆษณาได้ตามเท่าที่จำเป็น เพื่อมาชดเชยงบประมาณในส่วนนี้”